ถึงผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

เมื่อเดือนมีนาคม 2515 วารสารเศรษฐศาสตร์สารฉบับชาวบ้าน ได้ตีพิมพ์จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสมัยที่เป็นสมาชิกเสรีไทย ใช้ชื่อว่านายเข้ม เย็นยิ่ง ส่วนนายทำนุ เกียรติก้อง หมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจรนั่นเอง ขณะที่เขียน อาจารย์ป๋วยอยู่ที่อังกฤษ ส่วนจอมพลถนอม เพิ่งทำรัฐประหารต่อรัฐบาลตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จากจดหมายฉบับนั้นจนถึงปัจจุบัน เวลาได้ผ่านไป 49 ปี และหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีข้อความในจดหมายที่กินใจและเป็นปัจจุบันอยู่มิใช่น้อย สาระสำคัญของจดหมายคือการมี “กติกาหมู่บ้าน” เพื่อการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองโดยสันติวิธี และเพื่อประโยชน์แก่เยาวชนของเรา จึงขอคัดข้อความบางตอนมานำเสนอ ณ ที่นี้

“สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใคร ๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ชาวบ้านไทยเจริญ จะสามารถยึดกติกาหมู่บ้าน เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่าและทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตาม อำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้ โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่ง พี่ทำนุได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ-ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม-และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุด มาจากธรรมของประชาชน ในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่ …

บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้าน และเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุ กับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง …

พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ ๆไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่าย ๆคือ ไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุก็ทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผมขอยืนยันว่า ผมเองก็เคยเป็นหัวหน้างานมาแล้ว จะทำถูกทำผิดหาคนแย้งหาคนโต้เถียงได้ยาก เพราะเขารู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีทั้งนั้น ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลง ๆ …

Advertisement

อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมาก คือ พี่ทำนุก็หกสิบเศษ ผมก็ใกล้จะหกสิบเข้าไปทุกที ต่างก็จะลาโลกกันไปในไม่ช้า ผมก็มีความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับพี่ทะนุ ที่จะทิ้งโลกและหมู่บ้านไทยเจริญไว้ให้ลูกหลาน เป็นโลกและหมู่บ้านที่น่าอยู่ มีความสงบสุขเป็นไทยสมชื่อ และเจริญสมหวัง ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย …”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารจำนวนหนึ่งก็ทำรัฐประหารอีกครั้ง คือกลับสู่สิ่งที่อาจารย์ป๋วยเรียกว่าเป็นการปกครองตามอำเภอใจ เหตุผลประการหนึ่งที่คณะรัฐประหารอ้างคือ เพื่อควาสงบเรียบร้อยและให้เกิดการปรองดอง ไหนๆ ผมก็อยู่ในเรื่องจดหมายเปิดผนึก จึงขอยกข้อความในจดหมายเปิดผนึกอีกฉบับมาอ้าง ฉบับนี้ลงวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1975 (หลังจดหมายของนายเข้ม 3 ปี) เขียนถึงนายกุสตาฟ ฮุสาก เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวาเกีย เขียนโดยนายวาตชลัฟ ฮาเวล ซึ่งเป็นกวี นักเขียนบทละคร และนักกิจกรรมทางการเมืองผู้ต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ เขาเคยถูกจองจำในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดี หลังจากการล่มสลายของระบอบโซเวียต เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเชโกสโลวัก (ค.ศ. 1989-1992) และประธานาธิบดีแห่งสาธารณเช็ก (1993-2003) ขอยกข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นความปรองดองมานำเสนอในที่นี้

“หากความปรองดองถูกวัดจากตัวเลขสถิติในหลากหลายรูปแบบเท่านั้น เช่นในรูปคำแถลงการณ์ของรัฐบาล หรือรายงานของตำรวจในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้นแล้ว เราคงแทบไม่รู้สึกเคลือบแคลงใจเลยว่า สังคมเราบรรลุผลสำเร็จ ทุกฝ่ายปรองดองกันจริง

Advertisement

แต่หากคำว่าปรองดองสำหรับเราหมายถึงอะไรที่นอกเหนือจากนี้ หรือหากเรานิยามมันว่าเป็นสภาพจิตใจของสังคมล่ะ? … สมมุติว่าเราสอบถามว่า เราได้ทำอะไรไปเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมและจิตวิญญาณของสังคม เพื่อเสริมสร้างมิติแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงของชีวิต เพื่อยกระดับมนุษย์สู่ศักดิ์ศรีขั้นที่สูงขึ้น และเพื่อแสดงความทรงสิทธิ์และเสรีแท้จริงแล้วบ้าง? … ดังนี้แล้ว เราจะยังสามารถมองว่าสังคมของเรา “ปรองดอง” เป็นปึกแผ่นได้จริงอยู่หรือไม่

ผมกล้าตอบเลยว่าไม่ กล้ายืนยันว่า แม้ฐานข้อเท็จจริงภายนอกชวนให้เชื่อว่าสังคมของเราปรองดอง แต่แท้จริงแล้ว สังคมของเราลึก ๆ ยังนับว่าห่างไกลจากการเป็นสังคมที่ปรองดอง ในทางตรงกันข้าม สังคมเรากำลังถลำลึกลงไปสู่วิกฤต ที่นับว่าอันตรายกว่าช่วงใด ๆ ในประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิด และที่เราจดจำกันได้เสียด้วยซ้ำ …

คำถามพื้นฐานที่เราต้องถามก็คือ เหตุใดผู้คนถึงปฏิบัติตนอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่? สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่ปราศจากอคติใด ๆ ผมคิดว่าคำตอบชัดเจนในตัว และคำตอบนั้นคือ เพราะประชาชนถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว”

ถ้าไปดูเฟสบุ๊กของวัชรสิทธา (Vajrasiddha) จะพบว่ามีการเชิญชวนให้เข้าร่วมการภาวนาเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ ซึ่งเป็นการภาวนาออนไลน์ ช่วง 20.00-21.12 น. แม้การซักถามอภิปรายตอนท้ายของการภาวนาจะทำให้เลยเวลาไปบ้าง แต่ผมเข้าใจว่า การภาวนาที่กำหนดเวลาไว้ 1 ชั่วโมง 12 นาที ก็มีนัยสำคัญ ผู้นำการภาวนามีอยู่หลายคน ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการภาวนาที่หลากหลาย แต่ก็มีความเหมือนกันอยู่บ้าง เช่น ตระหนักรู้ร่างกาย การผ่อนคลาย ความอ่อนโยน การแผ่เมตตาไปยังผู้ถูกกดขี่ และผู้กดขี่ (รวมทั้งตัวเราเองด้วย!) ในการพูดคุยในช่วงเวลาประมาณยี่สิบนาทีสุดท้าย มักมีหัวข้อว่า นึกถึงผู้กดขี่แล้วรู้สึกโกรธ แล้วจะเอาชนะความโกรธอย่างไร บางคนบอกว่ารู้สึกโกรธเป็นเรื่องธรรมดา ดีกว่าไม่รู้สึกไม่รู้สา ถ้าโกรธแล้วไม่ปรุงแต่ง โกรธก็รู้ว่าโกรธ กลับมาที่ร่างกายเรา โกรธมันอยู่ไม่นานก็ไปเอง ในเรื่องนี้ ขอยกคำกลอนท่านพุทธทาสในปฏิทินปี 2564 มาสอนใจ ดังนี้

ฟังให้ดีคนขี้โกรธ

ถ้ายังโกรธ ก็ยังโฉด มีเชิงชั่ว

เพราะยึด “ตัว” จึงมีโกรธ โหดมาให้

ไม่มี “ตัว” ที่รัก-หวัง แต่อย่างใด

จะโกรธใคร ได้อย่างไร ให้คิดดู …
อันความโกรธ หวานดี ที่โคนต้น

แต่พิษล้น ขมเหลือ เมื่อสุดเหวี่ยง

เอ็นดูฉัน ก็ฟังหนอ ขอเผดียง

อย่าไปเสี่ยง ค้าความโกรธ: โทษมันแรง

อย่างไรก็ตาม ด้านดีของความโกรธ (ที่ไม่สุดเหวี่ยง) ก็มี ถ้าเราสามารถเห็นอีกด้านหนึ่ง คือด้านของความรักที่เรามีต่อผู้ถูกกดขี่ เราโกรธเพราะเห็นความไม่เป็นธรรม ถ้ามีความรักไปพร้อมกัน เราอาจมีกำลังใจมากขึ้นในการต่อสู้เคียงข้างผู้ถูกกดขี่ มาถึงตรงนี้ ผู้เข้าร่วมภาวนาบางคนจะกล่าวถึงความกลัว ที่ดูเหมือนจะอยู่ลึกกว่าความโกรธ และเป็นเสมือนยาชาสำหรับผู้ถูกกดขี่ การภาวนาจะเพิ่มความตื่นรู้ได้สักเพียงใด จะเพิ่มความกล้าที่จะเผชิญความยากลำบากได้สักเพียงใด ความรักจะเอาชนะความกลัวได้ไหม เราเห็นเพื่อนมนุษย์อยู่ในความทุกข์ ถูกคุมขังเพราะมีความเห็นที่ผู้มีอำนาจห้ามแสดงออก เราอยากร่วมเคลื่อนไหวกับพวกเขา แต่เราก็กลัวว่าจะถูกผู้มีอำนาจรังแก กลัวถูกกลั่นแกล้ง กลัวไม่ได้เลื่อนขั้น กลัวตกงาน ฯลฯ คล้ายกับที่ชาวเชโกสโลวักสมัยของกุสตาฟ ฮุสาก กลัว ในสมัยนี้ จะมีคนที่มีความกล้าอย่างอาจารย์ป๋วย อย่างวาตชลัฟ ฮาเวล สักกี่คน แต่อย่างน้อยเราก็มีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน กับเพื่อน ๆ ของเขา ที่กล้าท้าทายทหารที่ได้อำนาจจากการรัฐประหาร แต่บางคนในวงภาวนาคิดว่า ผู้กดขี่ก็กลัวเหมือนกัน คิดอย่างนี้จะช่วยให้เห็นความเป็นมนุษย์ของทุกคนไหม

ในระหว่างการภาวนาเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ มีคำถามว่า เมื่อเราภาวนาและแผ่เมตตาให้เพนกวิน ฯลฯ และให้ผู้ที่รังแกเขาแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างเล่า คำตอบอาจมากับสายลม (is blowing in the wind) แต่การภาวนามิใช่เพียงเพื่อให้เราเอาตัวรอดจากความทุกข์ส่วนบุคคลของเรา แต่เพื่อให้เรารักษาพลังในการต่อสู้เพื่อสังคมด้วย การภาวนาอาจช่วยเตือนสติไปถึงผู้ที่ยังยึด “ตัว” อยู่หรือไม่ ยังไม่ทราบ มิสู้เขียนเป็นข้อความหรือจดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีอำนาจ เพียงแต่จะเขียนอย่างไรจึงจะใส่ความเมตตา-กรุณาให้มากพอที่จะสะเทือนใจเขาได้

เราควรเขียนจดหมายในสไตล์ของเราถึง “ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” สักฉบับ แม้เราจะไม่มีน้ำหนักเหมือนอาจารย์ป๋วย แม้ผู้ใหญ่บ้านจะเปลี่ยนชื่อไปเป็น “ผู้ใหญ่เริงศึก เดือนงาม” แล้วก็ตาม

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image