‘วัคซีน’ฉีด-ไม่ฉีด

เป็นดราม่าทั้งในไทยและหลายประเทศเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด

มีทั้งอารมณ์ล้วนๆ โดยไร้ข้อมูลพื้นฐาน หรืออาจมีข้อมูลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้อ้างอิงจากแหล่งไหน แค่เห็นมีคนโพสต์ หรือแชร์มาก็เชื่อ ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นเฟคนิวส์

โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่แฟลตฟอร์มต่างๆ จะมีเอไอ คอยจัดสรรข้อมูลป้อนให้ แรกๆ จะมีข้อมูลทั้งสองด้าน แต่หลายคนมักต้องการฟังข้อมูลที่ตัวเองอยากรับรู้

ระบบไอเอ จึงจัดข้อมูลให้ “เลือกเสพ” ตามที่ต้องการ นานๆ ไป จึงกลายเป็นฟังจากข้อมูลด้านเดียว ปิดกั้นข้อมูลด้านอื่นๆ

Advertisement

ที่เห็นก็มีตั้งแต่ก่นด่าว่าทำไมรัฐบาลไม่ทุ่มเงินซื้อวัคซีน มาตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขก็ชี้แจงมาตลอดว่ามีการติดต่อเจรจาซื้อยี่ห้อต่างๆ มานานแล้ว แต่ตกลงบางเงื่อนไขไม่ได้ เช่น บางยี่ห้อเจรจาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จะส่งให้ปลายปีนี้ ไม่ใช่ซื้อแล้วได้เลยเหมือนสินค้าทั่วไป

ทั้งนี้ วัคซีนที่ผลิตและฉีดในขณะนี้ เป็นไปในวาระฉุกเฉินซึ่งปกติแล้วการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา 5-10 ปี แต่ด้วยเชื้อโควิดระบาดอย่างรวดเร็วแพร่กระจายไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลก จึงให้ผลิตและใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยลดขั้นตอนบางส่วน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยระดับหนึ่ง จึงมีวัคซีนออกมาภายใน 1 ปีถือว่าเร็วกว่าปกติ

อีกทั้งในขณะนี้วัคซีนเป็นตลาดของผู้ขาย ที่จะกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อีกทั้งบางประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีน ก็เคยสั่งห้ามส่งออกวัคซีน เพื่อเก็บไว้ในใช้ประเทศ หรือกลุ่มประเทศของตนก่อน

Advertisement

ดังนั้น ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อวัคซีนได้ง่ายๆ และรวดเร็ว

แต่พอมีวัคซีนเข้ามา ก็มีดราม่าอีก ทำไมซื้อยี่ห้อนี้ ไม่ซื้อยี่ห้อนั้น โดยยกข้อมูลต่างๆ มีทั้งจริงบ้าง เท็จบ้าง มาโจมตี

อย่างที่บอกว่าการผลิตวัคซีนเป็นไปในภาวะฉุกเฉิน แต่ละยี่ห้อมีวิธีการผลิตที่ต่างกัน อีกทั้งการทดลองในคนของแต่ละเจ้า ก็ใช้กลุ่มคนในชาตินั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ ไม่เหมือนกัน จึงอาจมีอาการข้างเคียงบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ถ้าเกิดผลข้างเคียงมากคงไม่สามารถออกมาใช้ได้

แต่กระนั้น ก็มีไม่น้อยที่ปฏิเสธจะฉีดวัคซีนทั้งที่ หมอหลายท่านก็ออกมายืนยันทางการแพทย์ว่า การฉีดวัคซีนเป็นประโยชน์ ช่วยลดความร้ายแรงของอาการและลดการเสียชีวิตจากเชื้อโควิด

อย่าง 3 คณบดีแพทยศาสตร์ ทั้ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมาร่วมกันแถลงยืนยัน

“ศ.นพ.ประสิทธิ์” บอกถึงวัตถุประสงค์การแถลงข่าวครั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมไทย ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จะได้เข้าใจและรู้จริง เพื่อใช้พิจารณาตัดสินใจร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

ขณะที่ ศ.นพ.ปิยะมิตร เสริมว่า มีผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศประมาณ 400 ราย (ณ วันที่ 11 พฤษภาคม) ตามสถิติแล้วจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 4 ฉะนั้น จะมีอีก 80-100 ราย ที่จะทยอยเสียชีวิต เป็นตัวเลขที่ต้องพึงตระหนักว่าการระบาดครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ มากถึง 10-15 เท่า

ยังมีคุณหมอชื่อดังหลายท่าน ก็ออกมายืนยัน และชี้แจง 16 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีน เปิดอ่านได้ที่ https://www.matichon.co.th/covid19/news_2720937

เป็นข้อมูลให้รับรู้เพื่อใช้พิจารณาว่าจะฉีดไม่ฉีดวัคซีน แต่อยากจะย้ำที่คุณหมอปิยะมิตรบอกว่าเชื้อโควิดที่ระบาดรอบใหม่นี้รุนแรงกว่าเดิม 10-15 เท่า

จากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ และเสียชีวิตรายวันที่ยังสูงอยู่นี้ พอจะยืนยันความร้ายกาจของโควิดรอบนี้ หากจะบอกว่า “ติดง่าย ตายเร็ว” ก็คงไม่ผิดนัก

ไม่เพียงแค่ “ตายเร็ว” แต่ยัง “ตายอย่างโดดเดี่ยว” อีกด้วย เพราะจะไม่มีญาติมาดูใจครั้งสุดท้าย ก่อนจะเสียชีวิตและญาติก็ไม่ได้เห็นหน้า เพราะต้องเก็บศพในถุงซิปกั้นน้ำอย่างน้อย 2 ชั้น ห้ามเปิดถุงเก็บศพ ไม่มีพิธีรดน้ำศพ และต้องเผา หรือฝังทันที

อีกทั้งยังจำกัดจำนวนญาติมิตร ที่จะร่วมพิธี และต้องอยู่ห่างๆ จะเห็นหน้าก็แต่ภาพถ่ายที่มาประดับไว้ในพิธีเท่านั้น

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนจะมีวัคซีนล็อตใหญ่เข้ามา ก็เลือกเอาแล้วกันจะฉีด หรือไม่ฉีดวัคซีน

วุฒิ สรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image