สี่เว็บไซต์ใหม่ โดย ปราปต์ บุนปาน

อุตสาหกรรมสื่อไทยโดยรวมยังอยู่ในระยะ “เปลี่ยนผ่านขนานใหญ่”

แต่ถ้าจะสรุปกันง่ายๆ ว่านี่คือ จุดสิ้นสุดของ “สื่อเก่า” และจุดเริ่มต้นของ “สื่อใหม่”

หรือนี่คือจุดหันเหหักมุมชนิดกลับหลังหันของธุรกิจโฆษณา

รายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ก็บ่งชี้ว่า การฟันธงเช่นนั้น อธิบายกระบวนการและความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้ไม่ดีนัก

Advertisement

ตรงกันข้าม นี่อาจเป็นความผันผวนปรวนแปรในระหว่างที่บทบาทของ “สื่อเก่า” ยังไม่ยุติลงอย่างสมบูรณ์หรือยังไม่หดเล็กลงจนถึงขีดสุด ส่วน “สื่อใหม่” ก็ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นอย่างโชติช่วงชัชวาล

กระทั่งนำไปสู่ “ความเป็นไปได้” “ทางเลือก” “ทางรอด” ที่ค่อนข้างหลากหลาย

ที่อยู่ในความสนใจของใครหลายคน ก็ได้แก่ “สื่อออนไลน์” ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่จำนวนผู้บริโภคและเม็ดเงินโฆษณา

Advertisement

ทว่า ความท้าทายที่คนทำธุรกิจสื่อออนไลน์กำลังเผชิญและต้องหาวิธีรับมือในอนาคต ก็คือ การพยายามหลีกหนีให้พ้นจาก “กับดัก” เรื่อง “Passive Audience” และ “Passive Income”

“Passive Audience” คือกลุ่มผู้ชม/ผู้อ่าน ที่มุ่งรับข่าวสาร สาระ ความบันเทิง จากหน้าจอประเภทต่างๆ ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่กึ่งส่วนตัวกึ่งสาธารณะ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (นอกจากค่าสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต-คอมพิวเตอร์ และค่าสัญญาณอินเตอร์เน็ต)

คนกลุ่มนี้อาจเป็นฐานสำคัญของการมียอดคลิก-ยอดไลค์ หลักแสนวิว-แสนไลค์ขึ้นไป

พวกเขาอาจพร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมทางออนไลน์เล็กๆ น้อยๆ

แต่พวกเขาอาจไม่ใช่ผู้บริโภคที่พร้อมจะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆ อย่างเต็มกำลัง หากสื่อออนไลน์พยายามจะแปรพลังในโซเชียลมีเดียไปสู่การทำธุรกิจ “ออฟไลน์”

ส่วน “Passive Income” สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสื่อออนไลน์ คือ รายได้โฆษณาที่มิได้เกิดจาก “การขายตรง” ไปยังลูกค้าเจ้าของผลิตภัณฑ์ แต่เป็นรายได้โฆษณาทางอ้อม ที่ได้รับผ่านระบบจัดการโฆษณาของบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ซึ่งจะแปรผันตามจำนวนผู้คลิกเข้าชมเว็บไซต์

ด้วยเหตุนี้ แม้ยอดคลิกจะเยอะ คนจะเห็นโฆษณาแยะ ทว่า ระบบจัดการโฆษณาที่มี “ตัวกลาง”ก็ส่งผลให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทต่างๆ มิได้รับรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเสียทีเดียว

การมี “Passive Income” และ “Passive Audience” จำนวนมาก อาจสร้างผลลัพธ์ที่น่าตื่นตะลึงในระยะแรก

แต่ในระยะยาว ถ้าผู้ผลิตสื่อต้องการมองเห็นอัตราการเจริญเติบโตทางรายได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสองประการข้างต้นก็อาจกลายสภาพเป็น “กับดัก” ในการดำเนินธุรกิจเข้าสักวัน

ในแง่ของการเป็นผู้ผลิตเนื้อหา การพยายามสร้างกลุ่ม “Active Audience” เพื่อนำไปสู่การมี “Active Income” จากการจำหน่ายสินค้าตรงไปยังผู้บริโภคที่มีกำลังจับจ่าย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งน่าทดลองทำ

โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสื่อระดับกลาง-เล็ก ที่อาจริเริ่มงานประเภทนี้ได้คล่องตัวมากกว่า

เราจึงเริ่มเห็นการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และการจัดงานอีเวนต์เฉพาะกลุ่ม ซึ่งงอกเงยมาจากการผลิตเนื้อหาจนมีผู้ติดตามมากระดับหนึ่งในโลกออนไลน์

ซึ่งสุดท้าย ก็จะมีทั้งสิ่งที่ “ขายได้” (หรือขายได้ดีอย่างน่าทึ่ง) และสิ่งที่ “ขายไม่ได้” (หรือขายไม่ดีอย่างที่คิด)

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทมติชนเพิ่งเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ของนิตยสารในเครือจำนวนสี่เล่ม ได้แก่ มติชนสุดสัปดาห์ (www.matichonweekly.com), ศิลปวัฒนธรรม (www.silpa-mag.com), เทคโนโลยีชาวบ้าน (www.technologychaoban.com) และเส้นทางเศรษฐี (www.sentangsedtee.com)

ด้วยความเป็นสื่อเฉพาะด้านที่มีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม (อาจจะยกเว้นมติชนสุดสัปดาห์ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย) คงส่งผลให้ “สาร” ที่นิตยสารเหล่านี้ผลิตขึ้น สามารถสื่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับผู้อ่าน ที่สามารถจะให้คำแนะนำและสื่อสารกลับมายังผู้ผลิตเนื้อหาได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ปฏิสัมพันธ์ทำนองนี้อาจก่อให้เกิด “ความเป็นไปได้” “ทางเลือก” “ทางรอด” ใหม่ๆ

ขณะที่ทุกคนยังมองไม่เห็น “สูตรสำเร็จ” อันแน่นอนตายตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image