สุรชาติ บำรุงสุข : วิกฤตโควิด-วิกฤตศรัทธา!

หนึ่งในปัญหาสำคัญทางการเมืองที่วิชารัฐศาสตร์พยายามที่จะศึกษาคือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการล้มลงของรัฐบาลหรือระบอบการปกครองเดิม และคำตอบเฉพาะหน้าประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอเพื่อชี้ให้เห็นถึงการสิ้นสุดของรัฐบาล โดยเฉพาะในกรณีของรัฐบาลเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมมักจะเป็นเรื่องของการพ่ายแพ้ต่อการชุมนุมของประชาชนจำนวนมากบนถนน

แต่ถ้าพิจารณามากกว่าจะมองจากปัจจัยเฉพาะหน้าแล้ว เราจะเห็นได้ว่า จุดสิ้นสุดที่แท้จริงของรัฐบาลมาจากการหมดประสิทธิภาพในการบริหารรัฐที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตแบบใดแบบหนึ่ง เพราะการหมดประสิทธิภาพเช่นนี้คือ การส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปอีกแล้ว และในมุมของประชาชนก็เห็นร่วมกันว่า การปล่อยให้รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพดำรงอยู่ได้ ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศเท่านั้น แต่ยังไม่ช่วยในการแก้ปัญหาชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย

สภาวะเช่นนี้เป็นคำตอบในตัวเองว่า การบริหารวิกฤตคือ ตัวชี้วัดของการแสวงหารัฐบาลใหม่ เพราะถ้ารัฐบาลมีประสิทธิภาพจริงแล้ว สังคมจะเป็น “ผู้คุ้มครอง” รัฐบาลดังกล่าวเอง แต่ถ้ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพจริงแล้ว สังคมก็จะเป็น “ผู้โค่นล้ม” รัฐบาลนั้นเองเช่นกัน

การเริ่มต้นด้วยสมมติฐานเช่นนี้ ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของประชาชนบนถนนเป็นปลายทางของอาการของโรค หากแต่อาการต้นทางที่แท้จริงของโรคคือ ประสิทธิภาพของรัฐบาลในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต เพราะคงต้องยอมรับในวิชาการบริหารภาครัฐว่า ปัจจัยสำคัญที่น่ากลัวที่สุดในการเป็นตัวทดสอบความสามารถของรัฐก็คือ ขีดความสามารถใน “การบริหารจัดการวิกฤต” (crisis management) เนื่องจากการบริหารรัฐในยามปกติไม่มีความเสี่ยงและความท้าทาย จึงทำให้ประสิทธิภาพของรัฐบาลไม่ได้ถูกทดสอบอย่างจริงจัง

Advertisement

ในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต รัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัจจัยสองประการคือ “ความผันผวนแปรปรวนและความคาดไม่ถึง” ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น หากกล่าวในวิชาความมั่นคง ปัจจัยสองประการนี้ถือเป็นคือ “ภัยคุกคาม” และอาจนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลได้ไม่ยาก

ในวิกฤตที่เกิดนั้น จะเห็นได้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นอย่าง “รวดเร็วและคาดไม่ถึง” ในขณะเดียวกันกรอบเวลาที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปแก้ปัญหาก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช่การมีเวลามากที่ทอดยาวออกไป และเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถพาตัวเองไปได้เรื่อยๆ ดังนั้น สภาวะวิกฤตจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องหา “ความเปลี่ยนแปลง” ทางการเมืองเสมอ

ข้อสรุปของทฤษฎีในวิชารัฐศาสตร์ชี้ให้เห็นเสมอว่า “วิกฤตคือกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่ระบอบเก่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป” ซึ่งผลที่จะตามมาจากสภาวะเช่นนี้คือ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง วิกฤตเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของระบอบการปกครองเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง และเสียงเรียกร้องเช่นนี้จะดังมากขึ้น อีกทั้งวิกฤตยังทำลายเสียงสนับสนุนรัฐบาลลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาหรับสปริงเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

Advertisement

แม้ผู้นำรัฐเผด็จการในหลายกรณีเชื่อมั่นว่า พวกเขาสามารถ “สยบ” การเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการปราบปรามประชาชน แต่ผลที่เกิดจากการปราบปรามก็คือการทำให้วิกฤตเก่าถูกทับซ้อนด้วยวิกฤตใหม่ ภาวะเช่นนี้เป็นผลจากการที่ผู้นำรัฐเผด็จการมักจะยืนอยู่กับชุดความคิดที่เชื่อว่า การปราบปรามเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาวิกฤต กล่าวคือ แก้วิกฤตด้วยการ “ปิดวาล์ว” ของระบบการเมือง

ในขณะเดียวกันผู้นำในสภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึง การขาด “ระบบความคิด” ในการมองสถานการณ์วิกฤต หรือที่เรียกว่า ไม่มี “crisis mindset” ในการคิดถึงตัวแบบของสถานการณ์ที่เลวร้ายในระดับต่างๆ ที่รัฐต้องเผชิญในอนาคต หรืออาจเป็นเพราะผู้นำยึดติดกับชุดความคิดแบบ “โลกสวย” ที่เกิดจากปัญหาพื้นฐาน 3 ประการ คือ ไม่เข้าใจสถานการณ์ว่าเป็นวิกฤต … ไม่เห็นถึงสถานการณ์วิกฤตที่จะเกิดในอนาคต … ไม่เข้าใจถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตนั้น ซึ่งผลที่ตามมาคือ การเกิด “วิกฤตศรัทธา” ต่อรัฐบาล

ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า “มหาวิกฤต” กำลังเกิดขึ้นกับรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่วันนี้เผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่จากเชื้อไวรัสโควิด-19 และตามมาด้วยวิกฤตใหญ่ในการบริหารจัดการวัคซีน จนวันนี้ปัญหาวัคซีนกลายเป็นการทดสอบประสิทธิภาพรัฐบาลครั้งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญการระบาดจากระลอกแรกในปี 2563 และตามมาด้วยการระบาดระลอกสองและสามในต้นปี 2564 ซึ่งการระบาดแต่ละระลอกล้วนสะท้อนถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารจัดการวิกฤตอย่างยิ่ง และที่สำคัญในสภาวะเช่นนี้ ยังเห็นถึงความล่าช้าในการฉีดวัคซีน ความขาดแคลนวัคซีน การไม่ทางเลือกในวัคซีน การสื่อสารของรัฐบาลที่สร้างความสับสนเรื่องการฉีดวัคซีน ตลอดรวมถึงการไม่คิดตระเตรียมวัคซีน เช่น การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในโครงการขององค์การอนามัยโลก และการมีท่าทีที่ไม่ตอบรับข้อเสนอของภาคเอกชนเท่าที่ควร จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก … วิกฤตโควิดกำลังพารัฐบาลไปสู่วิกฤตศรัทธาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

วิกฤตโควิด-19 จึงเป็นเสมือนกับการจับรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้าห้องสอบ ในความรู้สึกของประชาชนหลายคนในฐานะ “ผู้ตรวจข้อสอบ” วิชาบริหารจัดการวิกฤต ล้วนให้คะแนนไม่ต่างกันว่า รัฐบาล “สอบตก” และหลายคนให้ตกแบบ “รีไทร์” ออกไปเลย

น่าสนใจว่า … แล้วในสถานการณ์จริงที่วิกฤตทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลชุดนี้จะ “สอบผ่าน” วิกฤตโควิดไปได้อย่างไรหรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image