เสน่ห์ของห้องเชียร์ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลานาน จนรู้สึกว่าเรื่องการรับน้องและห้องเชียร์เป็นเรื่องสุดแสนจะธรรมดาไปแล้ว

ส่วนหนึ่งคงเพราะว่าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวของมันเองมาโดยตลอด แม้ว่าอาจจะเห็นแย้งกันได้ว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของสาระสำคัญหรือไม่ จนอาจเป็นไปได้ว่าบางครั้งเมื่อมีคำถามที่ว่าห้องเชียร์แบบที่มีการกล่าวถึงกัน (คือทั้งการว้ากน้อง การรับน้องที่มีเรื่องของการใช้แรงกดดัน และระบบอาวุโสเชิงบังคับ) ว่ามันยังมีสิ่งนี้อยู่ได้อย่างไร เราเองแทนที่จะตอบว่ามันมีอยู่ได้อย่างไร เราอาจจะพยายามเปลี่ยนประเด็นแล้วไปตอบว่า สมัยก่อนมันยิ่งกว่านี้อีก เท่าที่เห็นแบบนี้ก็ดีถมไป

อาการของคนอยู่นานบางทีมันก็คือเรื่องที่ว่า ผมคงจะชินชาไปกับเรื่องที่เกิดขึ้น และแทนที่จะออกมาโวยวายเรื่องนี้ ผมควรจะก้มหน้าก้มตาสอนหนังสือ ทำวิจัย และตีพิมพ์ผลงานวิชาการให้คุ้มกับที่มหาวิทยาลัยเขาคาดหวังในตัวผมมากกว่ามานั่งวิจารณ์เรื่องการรับน้อง เพราะการวิจารณ์เรื่องรับน้องคงไม่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยได้แต้มอะไรในระบบประกันคุณภาพ

เว้นแต่จะมีใครที่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะผลักดันกันไปเลยว่าการยกเลิกระบบรับน้องเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษา หรือที่เรียกว่าการสร้างบรรยากาศเสรีภาพให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาความรู้ของทั้งประเทศและสังคมโลก (แต่คำถามก็คือว่า ในการบริหารสถาบันอุดมศึกษาของบ้านเรานั้น ประเด็นเรื่องเสรีภาพและเสรีภาพทางวิชาการมันเป็นเรื่องสำคัญไหม และมันเกี่ยวกับห้องเชียร์และการรับน้องไหม?)

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่ง พักหลังผมก็ค่อนข้างระมัดระวังในเรื่องการวิจารณ์ประเด็นเรื่องการรับน้องมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเคยดำรงตำแหน่งบริหารและก็พบปะผู้บริหารจากหลายคณะ ที่อาจจะมีความเห็นในเรื่องนี้ต่างกัน แต่ในฐานะที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน บางครั้ง ผมก็รู้สึกไปเองว่า มันอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านของเขา ผมมีสิทธิที่จะก้าวล่วงไปในเรื่องราวของบ้านเขาแค่ไหน

เพราะในบ้านผมเองสมัยที่ผมบริหาร ผมก็ไม่สามารถยืนยันว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าห้องเชียร์และการรับน้องแบบที่เรียกว่าการ ?ว้ากน้อง? มีมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าผมก็คงไม่สามารถไปตรวจสอบได้ และในอีกด้านหนึ่ง ในฐานะผู้บริหาร สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนั้นก็มีอยู่สองประการ คือ ตรวจสอบโครงการที่ทางสโมสรนิสิตเสนอมาว่าจะไม่มีการว้ากน้อง เดินเข้าไปเยี่ยมห้องเชียร์บ้าง และบอกกับนิสิตที่เข้าใหม่ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมสิ่งเหล่านี้ และกิจกรรมเหล่านี้ไม่เกี่่ยวข้องกับการเรียนการสอนของทางคณะแต่อย่างใด

พูดแบบภาษาบริหารหน่อยๆ ก็คือ เราไม่มีนโยบายในเรื่องนี้… ส่วนการปฏิบัติจะยังคงมีหรือไม่ก็ไม่อาจตรวจสอบได้ทั้งหมดละครับ

Advertisement

แต่คำถามก็คือว่า ผมนั้นสามารถติดตามตรวจสอบระบบรับน้องได้ทั้งหมดไหม และทำไมผมยังปล่อยให้มีกิจกรรมที่เปลี่ยนชื่อจากการรับน้องและห้องเชียร์จากการว้ากน้องไปสู่พี่วินัยได้ ทำไมผมไม่สั่งห้ามเลย และทำไมยังปล่อยให้มีกิจกรรมรับน้องซึ่งใช้งบประมาณของนิสิตเองได้ อันนี้ผมเองก็คิดว่าคำตอบของผมก็คือ ผมพยายามยืนยันให้พวกเขามีเสรีภาพในการเลือกเต็มที่แล้ว และงบประมาณส่วนนั้นก็เป็นงบประมาณที่พวกเขามีตัวแทนมาตัดสินใจที่จะจัดเอง ผมก็ทำได้เท่านั้นแหละครับ ในขณะที่บางยุคสมัยเขามีการโหวตกันเลยว่าจะเอาหรือไม่เอากิจกรรมว้ากน้อง หรือในบางสมัยประธานเชียร์ก็ประกาศเลยว่าเขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาบนฐานนโยบายว่าจะไม่มีการว้ากโดยเด็ดขาด

ขณะที่ผมก็มีโอกาสได้เห็นตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีคณะบางแห่งที่คณบดีประกาศสั่งงดกิจกรรมรับน้องห้องเชียร์อย่างเด็ดขาดไปเลย ทราบว่าเพราะมีการผิดเงื่อนไขบางประการในการจัดกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม ผมมีประเด็นอยากนำเสนอว่า ทำไมห้องเชียร์ที่รวมถึงระบบว้ากน้องและระบบรุ่นพี่รุ่นน้องแบบกดดันถึงมีเสน่ห์อย่างมากมายในมหาวิทยาลัยไทยอย่างน้อยสามประการ นอกเหนือจากเหตุผลจากฝ่ายที่สนับสนุนห้องเชียร์แบบว้ากน้องที่ท่านสามารถอ่านได้ตามหน้าเพจเฟซบุ๊กทั่วไปทั้งในแบบที่สนับสนุนทุกเรื่อง ไปจนถึงหากมุมที่มีประโยชน์โดยไม่ยกเลิกทั้งหมด รวมไปจนถึงแนวทางการวิจารณ์ว่าการรับน้อง การมีห้องเชียร์ และการว้ากน้องนั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของการใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ

หนึ่ง ห้องเชียร์ที่มีการว้ากน้องหรือระบบกดดันในรูปแบบต่างๆ นั้น (รวมทั้งระบบอาวุโสในการใช้ชีวิตมหาวิทยาลัย) เป็นระบบที่เมื่อพิจารณาในแบบการเลือกอย่างมีเหตุผลแล้ว มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากนัก กล่าวคือ มันเป็นระบบที่ลงทุนหนึ่งหน่วย และได้ผลตอบแทนอย่างต่ำสามหน่วย หรือมากกว่านั้น

กล่าวคือ การยอมเป็นรุ่นน้องหนึ่งปีนั้น ทำให้ได้ไปเป็นรุ่นพี่อีกสามปี และเมื่อจบออกไปแล้วก็ยังได้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในเครือข่ายอีกตลอดชีวิต ยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยนั้นเกี่ยวโยงกับการออกไปอยู่ในสาขาอาชีพเดียวกัน การพัฒนาความผนึกแน่นของเครือข่ายศิษย์เก่านั้นจะมีผลสำคัญในการกำหนดอนาคตในการทำงานร่วมไปด้วย

ย้ำอีกครั้งว่า เมื่อยอมเป็นรุ่นน้อง ต่อไปเขาจะได้เป็นรุ่นพี่ และการเป็นรุ่นพี่ก็จะได้มาซึ่งการเคารพจากรุ่นน้อง รวมทั้งการมาถ่ายรูปและยินดีในงานรับปริญญา เป็นต้น ขณะเดียวกันรุ่นน้องก็จะได้ความรักเอาใจใส่ และการดูแลจากรุ่นพี่เช่นเดียวกัน เช่นการเลี้ยงสายรหัส และการเลี้ยงน้องในรูปแบบต่างๆ

ระบบนี้ในมุมมองของผู้ที่เข้าร่วมจึงเป็นระบบที่สร้างประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายที่อยากจะเข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นระบบที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าน่าเอาตัวเข้าไปผนึกรวมเข้าไปในเครือข่ายยิ่ง

สอง รุ่นพี่ที่แท้จริงของน้องๆ คือคณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พวกนี้คือคนที่อยู่เบื้องหลังพี่เชียร์ทั้งหลาย เพราะระบบห้องเชียร์นั้นคือเรื่องของการปกครองเยี่ยงอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมนั้นจะส่งคนที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งอาจจะเลือกเอง หรือให้บรรดาผู้ใต้ปกครองนั้นเลือกขึ้นมา แต่ในขั้นตอนสุดท้ายก็จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ปกครองตัวจริงอยู่ดี

การปล่อยให้มีการปกครองกันเองในหมู่นิสิตนั้น ทางหนึ่งอาจจะอ้างถึงเงื่อนไขของการให้อิสระแก่นักศึกษาเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คือการสร้างระบบที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการดูแลนักศึกษาแต่อย่างใด พวกเขาจึงสามารถที่จะไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่นเตรียมสอน ทำวิจัย และตีพิมพ์ (หรือไม่ทำอะไรแบบนั้นเลยก็อาจเป็นไปได้)

ประเด็นเรื่องการปกครองนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเรามักจะเชื่อกันว่านิสิตนั้นโตแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปปกครองอะไรกันมาก จะต้องไปนั่งเฝ้านักศึกษาหลังห้องเรียนก็ดูจะกระไรอยู่ หรือจะให้ตรวจเล็บ ตรวจผม หรือยืนพูดหน้าเสาธงกันหรืออย่างไร

แต่ถ้ามองดูอีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องการปกครองดูแลนักศึกษาคงไม่ใช่เรื่องที่จะอ้างว่านักศึกษานั้นมีอิสระในการเลือกเรียนแต่ละวิชาที่ต่างกัน หรือเพราะพวกเขามีวุฒิภาวะมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อก้าวออกมาจากโรงเรียนมัธยมแต่เพียงเท่านั้น แต่อาจจะต้องลองพิจารณาด้วยว่า การปล่อยให้เกิดระบบเยี่ยงระบบอาณานิคมนี้ ได้ช่วยทำให้ผู้บริหารและคณาจารย์นั้นไม่ต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องมากมายของนักศึกษา เพราะนักศึกษานั้นใช้ทรัพยากรและเวลาในการทำกิจกรรมรับน้องมากกว่าการใช้ระบบตัวแทนของนักศึกษาในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่เพิ่มสวัสดิการให้กับนักศึกษาเอง

ประการสุดท้าย เรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ไม่อยากจะขอเฉพาะเจาะจงไปยังเรื่องราวคณะใดคณะหนึ่ง หรือมหาวิทยาลัยใดเป็นพิเศษ แต่อยากให้ลองพิจารณาประเด็นที่มีการพูดต่อๆ กันมาว่ามีบางกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในการรับน้อง แต่เรื่องราวมีลักษณะที่น่าสนใจในแง่ของการอธิบายว่า คนส่วนมากไม่มีปัญหากับเรื่องนี้

ที่สำคัญมีลักษณะของคำอธิบายว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากการรับน้องนั้นเป็นพวกที่ไม่พร้อมเอง อาทิ ร่างกายไม่พร้อม มากกว่าที่จะเป็นปัญหาของระบบ

เรื่องราวเหล่านี้อาจจะเป็นที่คุ้นชินของพวกเรามานานแล้ว แต่ในห้วงเวลาปัจจุบันที่เราได้ยินถึงประเด็นการซ้อมทรมานในพื้นที่หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วย ซึ่งเรื่องราวนั้นยังอยู่ในการดำเนินคดี เพราะมีการตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุไหม หรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพราะผู้ที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บนั้นทนไม่ได้เอง หรือไม่พร้อมเป็นการส่วนตัว ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามยิ่งว่าเหตุใด ลักษณะคู่ขนานของโลกสองใบนี้จึงเกิดขึ้นได้ และเหตุใดสังคมจึงรับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ในลักษณะที่รับได้ โดยมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดในแบบข้อยกเว้น มากกว่าสาระสำคัญที่ควรจะระมัดระวังและยกเลิกไปเสียเลย

ผมไม่อยากจะจบงานเขียนสัปดาห์นี้ว่าเรื่องราวของโลกสองโลกนั้นเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน หรือมีความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด แต่อยากจะบอกว่าระบบรับน้องที่เป็นอยู่นี้สืบทอดยาวนานมาจนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

หากแต่เป็นระบบที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและมีความยั่งยืนอยู่ไม่ใช่เล่น

แต่ที่สำคัญกว่านั้น เสน่ห์ของมันอยู่ที่การสร้างระบบสมประโยชน์ของกันและกันให้ดำเนินอยู่ต่อไปได้นั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image