ขยับ ขับเคลื่อน หวังดี ‘ประสงค์ร้าย’ ในทาง การเมือง

ประหนึ่งว่าชัยชนะจากการผ่าน “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 16 ล้านจะเป็น “จุดแข็ง” อย่างยิ่งของคสช.และของรัฐบาล

เห็นได้จากความพยายามในการ “ขยายผล”

รูปธรรมแรกสุด คือ การประกาศจัดตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน กับ นพ.มโน เลาหวณิช

หากไม่มั่นใจก็คงไม่ “ออกตัว” แรงระดับนี้

Advertisement

เพราะพลันที่ประกาศในอีกด้านหนึ่งก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธ “โอกาส” อันจะได้จากการได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ในจำนวน 250 ส.ว.

รูปธรรมต่อมา คือ การขับเคลื่อนในเรื่อง “กฎหมายลูก”

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเนื้อหาในเรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเนื้อหาในเรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

Advertisement

นั่นเห็นได้จากการชูผลดีจาก “ประชามติ โมเดล”

เห็นได้จากการเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาจัดการเลือกตั้ง เห็นได้จากการเรียกร้องให้ คสช.เข้ามากำกับและรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกับ กกต.ในระหว่างการเลือกตั้ง

เหมือนกับจะเสริม “จุดเด่น” ให้กลายเป็น “จุดแข็ง”

 

กระนั้น ข้อท้วงติงอันมาจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางส่วน ข้อท้วงติงอันมาจากพรรคการเมืองและนักการเมืองบางส่วน

ก็ไม่ควรมองข้าม ก็ไม่ควรละเลย

ข้อท้วงติง 1 คือ การดึงเอากระทรวงมหาดไทย การดึงเอา คสช.เข้ามาร่วมกำกับและจัดการการเลือกตั้งอาจจะขัดกับ “รัฐธรรมนูญ”

เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่าน “ประชามติ”

เพราะว่าบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างแน่ชัดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รับผิดชอบใน “การเลือกตั้ง”

ไม่ใช่ “มหาดไทย” ไม่ใช่ “คสช.”

ยิ่งกว่านั้น “การให้ คสช.เข้ามาเกี่ยวข้องจัดการเลือกตั้งอาจถูกมองเรื่องความไม่เป็นกลาง” เป็นข้อท้วงติงจากนายนิกร จำนง

“ถ้าผู้ถือรัฏฐาธิปัตย์กดทับการเลือกตั้งไว้จะมีปัญหาเรื่องเปลี่ยนผ่านอำนาจ ทำแบบนี้ต่างชาติจะส่งคนมาสังเกตการณ์แน่ ภาพลักษณ์ของประเทศจะเป็นอย่างไร มีแต่เสียกับเสีย”

ที่เสียยิ่งกว่านั้นก็คือ “นัยประหวัด”

เท่ากับเป็นนัยประหวัดอันสะท้อนและยืนยันว่า ปริมาณ 16 ล้านกว่าเสียงอันได้มาจาก “ประชามติ” ได้มาอย่างไร

ตรงนี้คือสิ่งที่เกิดสภาพ “เข็มขัดสั้น” โดยอัตโนมัติ

 

ยิ่งกระหึ่มแห่งเสียงเรียกร้องให้ คสช.เข้ามามีบทบาท “ร่วม” ในการบริหารจัดการ “การเลือกตั้ง” มากเพียงใด ยิ่งทำให้มุมที่ถูกมองข้ามจาก “ประชามติ” ถูกเน้นย้ำ

เน้นย้ำในเรื่องการใช้อำนาจตาม “มาตรา 44”

เมื่อไม่สามารถใช้มาตราใดมาตราหนึ่งใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ได้ ก็ใช้อำนาจตามคำสั่งและประกาศ คสช.

เกิดการสกัดขัดขวางฝ่ายที่แสดงความเห็น “ต่าง”

เกิดการป้องปรามฝ่ายที่แสดงความเห็น “ต่าง” กระทั่งไม่สามารถขยับ ขับเคลื่อนได้ ตรึงแน่นอยู่ในที่ตั้ง

กรณีที่เชียงใหม่เด่นชัด กรณีที่บ้านโป่งเด่นชัด

ยิ่งหากมีการขยายผล “ประชามติ โมเดล” เข้าไปมากเพียงใด ยิ่งทำให้ “ประชามติ โมเดล” ต้องอยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์มากเพียงนั้น

ในที่สุด จำนวนกว่า 16 ล้านเสียงก็จะมี “มลทิน”

เป็นมลทินให้แปดเปื้อนไปยังการตระเตรียมกระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการรีเซตพรรคการเมืองใหม่

ไฝฝ้าและราคาก็จะมีกับ “แผนการ” สืบทอดอำนาจ

 

จากนี้จึงเห็นได้ว่าที่คิดว่า “ประสงค์ดี” อาจกลับกลายและแปรเปลี่ยนเป็นความ “ประสงค์ร้าย” ได้

ไม้ขีดไฟอาจมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลอาจนำไปก่อไฟเพื่อหุงต้มประกอบอาหาร แต่ก็อาจก่อโทษอย่างมหาศาลหากนำไปทำให้เกิดการลุกไหม้อย่างไม่จำเป็น

ไม่จำเป็นเพราะมีฐานมาจาก “สอพลอ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image