คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เราจะคิดถึงใครสักคนหนึ่งในเวลาใด…

อยู่ดีๆ ก็เหมือนจะมีกระแสหวนรำลึกถึงการบริหารประเทศโดย “พรรคไทยรักไทย” และอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า “ทักษิณ ชินวัตร”

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการปลุกกระแสของอดีตสมาชิกพรรคเก่า และแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรใหม่ ที่ชิงพื้นที่ในสังคมของแอพพลิเคชั่น Clubhouse มาได้ และที่ฮือฮาคือ การเข้าร่วมแชร์ประสบการณ์ของเจ้าตัวอดีตนายกฯเอง ด้วยชื่อบัญชีนามแฝง Tony Woodsome

หากก็มีส่วนหนึ่งซึ่งเป็น “กระแสธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ อันเป็นเหมือนควันหลง หรือผลพวงจากการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ในตอนนี้ต้องพักไว้ชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้การรวมตัวทางกายภาพนั้นไม่อาจกระทำได้

พวกเขาได้ใช้เวลานี้ในการรื้อฟื้นค้นคืนประวัติศาสตร์ ว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับการสั่งสอนมาจากระบบการศึกษาโดยรัฐ หรือบอกเล่าโดยพ่อแม่ผู้ใหญ่นั้น มีแง่มุมจริงเท็จอย่างไรที่พวกเขายังไม่ได้รับรู้

Advertisement

รวมถึงเรื่องการย้อนไปตั้งคำถามถึง “ผู้ร้าย” ทางการเมืองตลอดกาลของฝ่ายอำนาจรัฐตลอดช่วงเวลาเกือบยี่สิบปี อย่างอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ด้วย

ทำให้พวกเขาได้พบกับหลายสิ่งหลายอย่าง ที่แม้แต่คนที่เกิดมาทันยุคสมัยดังกล่าว หรือแม้แต่คนรักทักษิณหรือแฟนๆ ไทยรักไทยก็ลืมๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ เช่นการที่มีคนไปพบว่า ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยเคยแจกหนังสือนิทานและของเล่นเสริมพัฒนาการให้เด็กแรกเกิด ข้างในมีลายมือของอดีตนายกฯ ทักษิณ เขียนข้อความแสดงความยินดีกับครอบครัวที่ได้สมาชิกใหม่ ซึ่งเป็น “ของรับขวัญ” สำหรับทุกครอบครัวที่ไปแจ้งเกิดสมาชิกใหม่ อันเป็นนโยบายท้ายๆ ของรัฐบาลทักษิณ 2 ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2548

แต่สิ่งที่ทำให้คนรุ่นน้ารู้สึกจุก คือเด็กคนหนึ่งออกความเห็นในโพสต์นั้นว่า “ประเทศเราเคยดีได้แบบนี้ด้วยเหรอ”

Advertisement

เช่นเดียวกับที่มีคนไปพบหนังสือ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ฉบับแปลภาษาไทยในตำนาน ที่มีคำนิยมของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วก็มาตื่นเต้นกันว่า เราเคยมีอดีตนายกฯ ที่แนะนำให้เยาวชนอ่านนิยาย แฮร์รี่ พอตเตอร์ เนี่ยนะ

พวกนี้เป็นเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหลือเกิน ถ้าเทียบกับโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การปฏิรูประบบราชการ หรือโครงการหวยบนดิน ซึ่งนำเงินไปส่งเด็กเรียนดีจากแต่ละอำเภอในทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทยไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรี

ยุคสมัยอันสาบสูญที่กลายเป็นตำนานให้คนที่ยังรักและชื่นชมในตัวอดีตนายกฯผู้นี้ระลึกหา และทำให้คนที่เกิดไม่ทันต้องจินตนาการไปถึง คือช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ.2544 จนถึงปี พ.ศ.2549 ซึ่งนอกจากที่เราจะมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งของประชาชนบริหารประเทศติดต่อกันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยยุคหลังแล้ว ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงของการเบ่งบานเต็มที่ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ไปจนถึงปีสุดท้ายก่อนจะถูกฉีกลงการทำรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองดังกล่าว มาจากการผลักดันของนักวิชาการและประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่รู้สึกว่าประเทศควรมีทางออกให้พ้นจาก “วงจรอุบาทว์ทางการเมือง” ที่รัฐบาลไร้เสถียรภาพส่งผลให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์และการทุจริตคอร์รัปชั่นจนเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารล้มร่างรัฐธรรมนูญแล้วมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อจะนำไปสู่ภาวะล้มเหลวและรัฐประหารวนซ้ำอีกไม่จบสิ้น

หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 คือการสร้างระบบการเมืองโดยผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองที่มั่นคง ให้อำนาจผู้นำรัฐบาลที่เข้มแข็งในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องหวั่นเกรงกับการต่อรองทางการเมือง พร้อมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ทำให้ประชาชนเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ในฐานะ “เจ้าของประเทศ” ที่แท้จริง โดยนอกจากการรับรองสิทธิเสรีภาพไว้อย่างละเอียดลออมากมายยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดแล้ว ยังสร้างกลไกขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร มีศาลในระบบกฎหมายมหาชนที่ทำให้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสามารถโต้แย้งใช้สิทธิของตนได้อย่างเป็นรูปธรรมมีกระบวนการที่ชัดเจน

ที่เรียกว่าเป็นช่วง “เบ่งบานเต็มที่” ของรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นก็เพราะเป็นการที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้มีการใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบ องค์กรและสถาบันทางรัฐธรรมนูญต่างๆ ได้รับการก่อตั้งและปฏิบัติหน้าที่กันโดยสมบูรณ์ มีวุฒิสภาชุดแรกที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (และนี่ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ทำให้เด็กยุคใหม่นี้ “ว้าว” ว่าสมาชิกรัฐสภา 100% มาจากการเลือกตั้งของปวงชนชาวไทย) มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก และคณะรัฐมนตรีคณะแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ รัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญที่สุดและเป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์และวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยไปอย่างสิ้นเชิงตลอดกาล คือการสร้าง “การเมืองเชิงนโยบาย” ได้สำเร็จ ทำให้ประชาชนได้เห็นว่า “เรา” สามารถเลือกให้ “ประเทศ” เป็นไปในแนวทางที่ต้องการได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ด้วยการเลือกและสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายอย่างที่เราต้องการหรือที่เราชอบ

การเมืองก่อนหน้านี้ แม้จะมีนโยบายของพรรคการเมือง แต่ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้ให้น้ำหนัก หรือราคาอะไรนอกจากเป็นนิยายนิทานประกอบการฟังผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้ง เพราะนโยบายส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดนั้นทำไม่ได้จริง เหตุเพราะด้วยกลไกการเมืองในระบบเดิมนั้นยากที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้ครองเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด รัฐบาลที่ตั้งขึ้นได้หลังการเลือกตั้งก็จะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก และก็เป็นข้ออ้างของพรรคการเมือง สามารถแก้ตัวกับประชาชนได้ด้วยว่า ที่ประกาศนโยบายไว้ตอนหาเสียงแต่ทำไม่ได้ ก็เพราะเป็นรัฐบาลผสม พรรคร่วมอื่นเขาไม่เอาด้วยก็ทำไม่ได้

เราเคยชินกับการเมืองแบบนั้นหลายปี การเลือก “ผู้แทนราษฎร” ของเรานั้นเป็นเพียงการเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบโดยไม่ได้คาดหวังจริงจังว่าถ้าเขาเป็นรัฐบาลแล้วเขาจะเข้าไปทำอะไรได้ อย่างไรประเทศก็ขับเคลื่อนไปตามกลไกที่เห็นและที่เป็นมาตลอด

ประกอบกับที่รัฐบาลก่อนหน้าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นั้นบริหารประเทศในสไตล์ “ปลัดประเทศ” ปล่อยไหลไปตามแต่ข้าราชการประจำจะชงเรื่องรายงานมา เราก็เลยไม่ได้อะไร และไม่เคยรู้ว่าการกำหนดอนาคตของตัวเองผ่านการเลือกตั้งผู้แทนนั้นทำได้อย่างไร

แม้แต่ตอนที่พรรคไทยรักไทยประกาศนโยบายต่างๆ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก กับที่ส่วนใหญ่ของผู้สมัครก็เป็นคนหน้าใหม่ด้วย ก็เชื่อว่าแม้แต่คนเลือกพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นก็ไม่ได้คาดหวัง (และก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ด้วย ว่ามันจะมีระบบประกันสุขภาพอะไรที่ประชาชนจะเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะจ่ายแค่ 30 บาท จริงๆ) เพียงแต่ที่คนส่วนหนึ่งเลือกพรรคไทยรักไทยกันถล่มทลายในตอนนั้น ก็เพราะเบื่อ “ปลัดประเทศ” คนเก่าที่ต้องรอ “รายงาน” จากข้าราชการแล้วเสียมากกว่า

หากเพราะการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ประกาศไว้ให้เป็นจริงได้ทีละเรื่องอย่างรวดเร็ว บางเรื่องนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องเรื้อรังไม่น่าจะทำได้อย่างการปฏิรูประบบราชการก็สำเร็จในชั่วข้ามปี ประชาชนได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของการเมืองเชิงนโยบาย และได้รู้ว่าหลายเรื่อง ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ (เช่น ระบบราชการที่มีระบบ One stop service แบบเอกชน) ทั้งหมดทั้งหลาย ทำให้เขาได้รับเลือกกลับมาในสมัยต่อมาแบบเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเสียงข้างมาก อย่างที่พรรคฝ่ายตรงข้ามถอดใจไปตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ขอความเห็นใจประชาชนให้เลือกเราเข้ามาพอให้ได้เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบบ้างก็พอ

“ภู กระดาษ” นักเขียนชื่อดังตั้งข้อสังเกตจากเพลงลูกทุ่งในยุคนั้นว่า แม้เนื้อหาของเพลงจะยังกล่าวตัดพ้อถึงความยากจนของตัวละครผู้ร้อง ซึ่งเป็นธรรมดาของเพลงลูกทุ่ง แต่ก็เป็น “ความยากจนที่มีความหวัง” ว่าชีวิตกำลังจะดีขึ้น และกล่าวถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลทักษิณที่จะช่วยยกระดับชีวิตผู้คนในชนบทให้ดีขึ้น เช่น มีกองทุนหมู่บ้าน หรือมีกิจการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

ยุคสมัยแห่งความหวังที่ว่านั้นจะจบลงด้วยการรัฐประหาร โดยบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และตามซ้ำด้วยรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้อย่างที่รู้กัน

ภารกิจหลังจากนั้น ไม่ใช่เพียงการรื้อล้างอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายทักษิณ หรือแม้แต่ความทรงจำและนโยบายของเขา แต่เป็นความพยายามนำกลับมา ซึ่งระบบระบอบอันล้าหลัง ระบบที่บริหารประเทศแบบปลัดประเทศที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ประกาศนโยบายอะไรชุ่ยๆ ไว้ตอนเลือกตั้งประเภทค่าแรง 450 บาท
ต่อวัน เสร็จแล้วก็ทำเป็นลืมๆ ได้

รวมไปถึงการรื้อฟื้นระบบวัฒนธรรมที่ให้ข้าราชการกลับมาเป็นเจ้าคนนายคนอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐแทบทุกระดับ อาจพูดจาไม่รับผิดชอบ พลิกลิ้นตะแบงราวกับเห็นว่าประชาชนโง่เง่าไม่เท่าทันอย่างไรก็ได้ พอถูกทักท้วงก็ข่มขู่คุกคามด้วยอำนาจรัฐ

คำขวัญวันเด็กที่เปลี่ยนจากการ “เล่น” “เรียนรู้” และ “สร้างสรรค์” มาเป็น “วินัย” และ “ความรับผิดชอบ” ที่คนที่ให้ก็ไม่ได้มี หนังสือแนะนำจากวรรณกรรมเยาวชนพ่อมดระดับโลก ก็กลายเป็นบทเรียนจินดามณียุคกรุงศรีอยุธยา ที่คนแนะนำเองก็คงไม่ได้อ่าน เพราะถ้าอ่านคงไม่ปล่อยไก่ยกตัวอย่างด้วย กลอนนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่

“…เราจะคิดถึง คนที่สำคัญ เมื่อต้องจากกันไป

เราจะคิดถึง วันที่สวยงาม เมื่อเวลาผ่านไป…”

ท่อนหนึ่งจากเพลง “ไม่เคย” ของวง 25 Hours ประพันธ์เนื้อร้องโดย ปิยวัฒน์ มีเครือ

เมื่อนำยุคสมัยแห่งความหวังมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน คนที่เกิดทันก็อดเปรียบเทียบประสบการณ์ไม่ได้ ส่วนคนที่เกิดไม่ทันก็จินตนาการกันว่า ถ้าในยุคสมัยที่เรามีผู้นำเช่นนั้นมารับมือกับวิกฤตเช่นนี้จะเป็นอย่างไร

โปรดอย่าลืมว่าจินตนาการนั้นไปไกลได้เกินกว่าขอบเขตของประสบการณ์ด้วย

อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ทำให้คนระลึกถึง “ทักษิณ ชินวัตร” อันเป็นชื่อที่ควรจะถูกลบลืมไปแล้ว และพวกเขาอยากให้เราลืมไปมากที่สุด กลับกลายเป็น “ประยุทธ์ จันทรโอชา” และเครือข่ายรอบข้างล่างบนของเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในทุกวันนี้ เราได้เห็นอะไรที่ไม่เคยคาดว่าจะได้เห็น ในทางที่ตกต่ำลงไปทุกวันของประเทศเราที่มาจากการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่รับผิดชอบ หรือยำเกรงประชาชนดังกล่าว

อาจจะจริงดังที่มีผู้กล่าวไว้อย่างน่าเจ็บปวดว่า จริงๆ แล้ว ความผิดของคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร คือการที่ให้เราได้รู้ว่าประเทศเราเคยดีได้มากกว่านี้ และเราก็เป็นประชาชนอันภาคภูมิ มีสิทธิเสรีและศักดิ์ศรีในฐานะเจ้าของประเทศ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image