6/6/44- นอร์มังดี!

วันที่ 6 มิถุนายน นี้ เป็นวาระครบรอบ 77 ปีของเหตุการณ์สำคัญที่ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 7 ทศวรรษแล้ว แต่ “การรบที่นอร์มังดี” (The Battle of Normandy) ยังเป็นมรดกของประวัติศาสตร์สงครามที่นักการทหารยังต้องเรียนรู้เสมอ อีกทั้งยังปรากฏในรูปของภาพยนตร์ให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน และอย่างน้อยก็ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “ดี เดย์” (D Day)

จุดพลิกผันของสงครามเกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 (พศ. 2487) เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจเปิดประตูยุโรปด้วยการยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส วัตถุประสงค์หนึ่งคือ การปลดปล่อยยุโรปโดยรวม อีกวัตถุประสงค์คือ การเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การรุกเข้าประชิดตัวดินแดนของเยอรมนี และทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารสัมพันธมิตรจะ “เหยียบ” บนดินแดนที่อยู่ในความยึดครองของกองทัพนาซีมาตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม โดยเฉพาะในส่วนของฝรั่งเศส

ภาพของการรบที่นอร์มังดีสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “สงครามตามแบบ” ที่ชัดเจน และยังชี้ให้เห็นถึงมิติทางทหารสำคัญสามประเด็น คือ

1) “ยุทธการขนาดใหญ่” เป็นเครื่องมือหลักของสงครามตามแบบ ที่รัฐหนึ่งจะใช้ในการทำลายรัฐและกองทัพข้าศึก และยุทธการเช่นนี้ใช้กำลังรบและกำลังพลเป็นจำนวนมาก
2) ยุทธการนี้เปิดด้วยการ “ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่” ขึ้นบนดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของข้าศึกอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นปฎิบัติการร่วมของกำลังรบในแบบต่างๆ
3) การเปิดหัวหาดในดินแดนของฝ่ายข้าศึกมีความจำเป็น เพราะความสำเร็จของยุทธศาสตร์ทหารชุดนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการเอาชนะและทำลายระบอบการปกครองของรัฐข้าศึก

Advertisement

ดังนั้น ความสำเร็จของการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีจึงเป็น “จุดเปลี่ยนใหญ่” ครั้งที่ 2 ในเวทีการสงครามของยุโรป ซึ่งจุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อกองทัพเยอรมันพ่ายแพ้ต่อกองทัพรัสเซียที่สตาลินการ์ดในเดือนมกราคม 1943 (พศ. 2486)

อย่างไรก็ตามในทฤษฎีของวิชายุทธศาสตร์ทหาร การยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดีเป็นตัวแทนของสำนักคิดเรื่อง “สงครามตามแบบ” อย่างชัดเจน ซึ่งรัฐจะใช้กำลังทางทหารขนาดใหญ่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงเพียงใดก็ตาม

ดังจะเห็นได้ว่า ในส่วนของกำลังที่ใช้ในการยกพลขึ้นบกมีขนาดถึง 4 กองทัพน้อย คือ กองทัพน้อยที่ 5 และ 7 ของสหรัฐอเมริกา และกองทัพน้อยที่ 1 และ 30 ของอังกฤษ ซึ่งกำลังพลที่ยกพลขึ้นบกมีจำนวนมากถึง 1 แสน 5 หมื่นนาย และก่อนที่การยกพลขึ้นบกจะเริ่มขึ้น กำลังทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดการโจมตี 1 เดือนล่วงหน้าต่อเป้าหมายต่างๆ ในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งมีการใช้กำลังทหารพลร่มทั้งของสหรัฐฯ และอังกฤษอีกเป็นจำนวนมากถึง 2 หมื่น 3 พันนาย เข้ายึดพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองตามแนวชายหาด และเรือที่เข้าร่วมในปฎิบัติการนี้มีจำนวนราว 5 พันลำ

การรบที่นอร์มังดีมีขนาดใหญ่ทั้งในบริบทของกำลังพลและกำลังอาวุธอย่างมาก และมีความซับซ้อนในการวางแผนทางทหารอย่างมากด้วย จนแนวคิดในเรื่อง “ยุทธการสะเทินน้ำสะเทินบก” เช่นที่ชายหาดนอร์มังดีเป็นสิ่งที่ท้าทายนักการทหารถึงความเป็นไปได้ในโลกปัจจุบัน

หากเรามองการรบที่นอร์มังดีด้วยแว่นตาของนักการทหารที่สมาทานสำนักคิด “สงครามตามแบบ” เป็นแบบแผนหลัก จะเห็นได้ว่าการยกพลขึ้นบกครั้งนี้ได้สร้าง “กระบวนทัศน์ทหาร” อย่างสำคัญ อันทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า สงครามตามแบบเป็นแนวคิดหลักที่รัฐจะใช้ในการเอาชนะรัฐฝ่ายตรงข้าม จนอาจทำให้นักการทหารบางส่วนมองอย่างสุดโต่งว่า สงครามมีเพียงแบบแผนเดียวเท่านั้น คือ “สงครามตามแบบระหว่างรัฐ”

สงครามในแบบแผนเช่นนี้มีนัยหมายถึง สงครามที่ “รัฐรบกับรัฐ” จนอาจทำให้ละเลยแบบแผนการสงครามอื่นๆ เช่น ตัวแบบของสงครามกองโจร ซึ่งเราอาจเรียกด้วยชุดความคิดทางทหารร่วมสมัยว่า “สงครามอสมมาตร” อันเป็นสงครามในแบบ “รัฐรบกับคู่พิพาทที่ไม่ใช่รัฐ” ดังเช่นที่เกิดในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน

การยึดมั่นอยู่กับสำนักคิดของสงครามตามแบบ หรืออาจเรียกตัวแบบเช่นนี้ว่า “กระบวนทัศน์นอร์มังดี” ซึ่งส่งผลให้เกิดความเชื่อสืบเนื่องในเรื่องของการสร้างกองทัพขนาดใหญ่ และความต้องการที่จะมียุทโธปกรณ์จำนวนมาก และที่สำคัญคือ ความเชื่อว่า “อำนาจทางทหารที่เหนือกว่า” จะเป็นปัจจัยของชัยชนะในการสงคราม ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ประเด็นความเชื่อเช่นนี้ถูกโต้แย้งจากชัยชนะของสงครามปฎิวัติในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในจีน คิวบา เวียดนาม และสงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถาน เป็นต้น จนต้องยอมรับในอีกมุมหนึ่งว่า การมีกองทัพใหญ่และมีอาวุธมากไม่ใช่หลักประกันของชัยชนะในสงครามเสมอไป

ถ้าบรรดาผู้นำกองทัพสามารถปรับ “กระบวนทัศน์ทหาร” และไม่ยึดมั่นอยู่กับการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์จนไม่คิดถึงบริบทแวดล้อมแล้ว การปรับกระบวนทัศน์จะเป็นโอกาสของการ “ปรับตัวทางทหาร” และเป็นความหวังให้พวกเขายกเลิก “จินตนาการทหาร” ในแบบที่ไม่เป็นจริง เช่น ยุทธการยกพลขึ้นบกสำหรับโลกในวันนี้ คงต้องถือว่าเป็นชุดความคิดทางทหารที่ล้าสมัยชุดหนึ่ง การยึดพื้นที่ในสงครามสมัยใหม่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การยกพลแบบนอร์มังดี หรือแม้กระทั่งการส่งกำลังทางอากาศในแบบของการทิ้งกำลังพลร่มลงสู่ในพื้นที่เป้าหมายเช่นปฎิบัติการที่เริ่มก่อนการยกพลขึ้นบก ก็เป็นอีกตัวอย่างของความล้าสมัย เพราะกำลังพลสามารถเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายได้ด้วยอุปกรณ์ขนส่งทางทหารสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่ “เรือเปิดหัว” แบบเดิม และยิ่งสำหรับรัฐเล็กแล้ว ปฎิบัติการยกพลขึ้นบกเป็นสิ่งที่เกินจริงในทางยุทธการ และมีค่าใช้จ่ายมหาศาล

ความเปลี่ยนแปลงของชุดความคิดในการสงคราม รวมถึงปัจจัยเทคโนโลยีสมรรถนะสูงทำให้นักการทหารในยุคปัจจุบันควรต้องคิดมากขึ้น จะคิดด้วย “จินตนาการเก่า” ไม่ได้ และอาจต้องตระหนักว่า การสร้างกองทัพใหญ่ด้วยการมีอาวุธมากซึ่งเป็นผลผลิตของสำนักคิดสงครามตามแบบ ในมิติของ “กระบวนทัศน์นอร์มังดี” นั้น อาจไม่ตอบโจทย์ทางทหารในโลกร่วมสมัยเลย

วันนี้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาพร้อมกับวาระครบรอบ 77 ปีของการรบที่นอร์มังดี จึงเป็นดังคำตอบในโลกที่เป็นจริงว่า สงครามชุดใหม่เป็น “สงครามโรคระบาด” และวันนี้ข้าศึกกำลังยกพลขึ้นบกในหลายสังคม รวมทั้งบุกขึ้นยึดหัวหาดในหลายพื้นที่ของไทย การรุกเข้าตีของ “ข้าศึกที่ไม่มีตัวตน” ชุดนี้ เป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อาจจะไม่ต่างจากการรุกขึ้นสู่หัวหาดที่นอร์มังดีของฝ่ายสัมพันธมิตร ต่างเพียงข้าศึกวันนั้นเป็นกำลังรบในเครื่องแบบ แต่วันนี้เป็นเชื้อโรค

โจทย์สงครามของโลกและของไทยเปลี่ยนไปหมดในยุคหลังโควิด-19 ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผู้นำทหารไทยจะยังเตรียมยึด “หัวหาดที่นอร์มังดี” ด้วยการซื้ออาวุธต่อไปอีกนานเท่าใด?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image