โควิดกับคุกแบบไทยๆ

“เราสามารถตัดสินระดับของอารยธรรมของสังคมนั้นได้โดยการเข้าไปในคุกของประเทศนั้น”

ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบนี้ทำให้เราได้รับรู้สถานการณ์ของคลัสเตอร์เรือนจำ (เรียกง่ายๆ ว่าคุก) เป็นพิเศษ หลังจากที่มีคนน้อยรายเท่านั้นเองที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคุก เว้นแต่คนที่เคยผ่านคุก หรือส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคุก

สังคมไทยใช้เวลานานมากจนถึงการระบาดในระลอกที่สามที่เกิดการประกาศตัวเลขของผู้ติดเชื้อในคุก และมีการจัดประเภทของผู้ติดเชื้อในคุกแยกออกจากการประกาศจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน

Advertisement

แต่ใช่ว่าการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อในคุกนั้นเริ่มขึ้นง่ายๆ เพราะการประกาศก็เท่ากับยอมรับว่ามีการติดเชื้อ และเท่าที่เข้าใจไม่ผิดในรอบนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องของกรณีการติดเชื้อและแพร่ระบาดในคุกนั้นกลายเป็นเรื่องที่เปิดเผยออกมาและทำให้มีมาตรการที่ชัดเจนขึ้นก็เป็นเพราะมีนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งที่ติดและออกมาเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้

ลองย้อนดูประเด็นนี้ก็คือมีข่าวของจัสตินที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโควิด เมื่อ 24 เมษายน อานนท์ นำภา เมื่ือ 6 พฤษภาคม ธวัช สุขประเสริฐ ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม และรุ้ง ปนัสยา กับปริญญา ชีวินกุลปฐม เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม

และวันที่ 12 พฤษภาคมนี้เองที่เป็นวันที่ทางเรือนจำออกมาประกาศจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการถึงสองพันกว่าคนจากสองคุก ก่อนที่จากวันนั้นจนถึงวันนี้

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบค้นกรณีของการติดโควิดกับคุกนั้นอาจเริ่มต้นย้อนไปที่รายงานข่าวนับตั้งแต่เดือนเมษายน คือการพบการติดเชื้อที่คุกนราธิวาส ต่อมาก็คือเชียงใหม่และสมุทรปราการ ในวันที่ 7 เมษายน แต่รายงานข่าวเป็นไปในลักษณะของการรายงานว่าพบจากผู้ที่กำลังจะเข้าไปอยู่ในคุก และระบบของคุกนั้นเอาอยู่ ไม่ใช่ลักษณะของการยอมรับการระบาด (ข่าวพบการติดเชื้อ กับข่าวพบการติดเชื้อที่แพร่ระบาดไม่ใช่เรื่องเดียวกัน)

เมื่อพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของการระบาดของโควิด-19 กับกรณีของคุกนั้น จะพบว่าปรากฏการณ์ในเรื่องนี้มีด้วยกันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการรายงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของนักโทษเป็นข้อเสนอพื้นฐานในเรื่องนี้ แต่ในทุกที่ย่อมมีเรื่องของความแออัดซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบชีวิตของนักโทษที่จะต้องเจอ และกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การระบาดกระจายตัวง่ายขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น

ที่สำคัญมีการผลักดันรณรงค์ให้มีการพยายามลดจำนวนนักโทษในคุก โดยขอให้มีการปล่อยตัวผู้ที่รับโทษออกมาให้เร็ว เช่น พวกที่เหลืออีกไม่นานก็จะได้ออก ซึ่งก็มีข้อค้นพบทั้งสองอย่าง

หนึ่งคือ โดยภาพรวมแล้วเรื่องการปล่อยนักโทษออกมาเร็วขึ้นไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มีแต่รับเข้าน้อยลง แต่ก็ยังมีกรณีที่เห็นว่าในช่วงเวลาของโควิดนั้นก็มีอาชญากรรมไม่น้อยลงเลย

สองคือ มีการปฏิบัติจริงในหลายมลรัฐ เพราะเรือนจำของแต่ละมลรัฐคนดูแลคือผู้ว่าการมลรัฐอย่างกรณีของผู้ว่าการมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ออกคำสั่งให้นักโทษที่เหลือโทษไม่เกิน 8 เดือนออกมาได้เร็วขึ้น

ส่วนในกรณีของประเทศอื่น ประเด็นที่ตามมานอกเหนือจากเรื่องกระแสการลดเวลาโทษลงเพื่อลดความแออัดในคุก เราจะยังพบว่าเรื่องที่มีการพูดกันเพิ่มขึ้นก็คือ “ความโปร่งใส” ของการบริหารจัดการสถานการณ์ในคุก ซึ่งในบางประเทศจะมีองค์กรที่พยายามผลักดันประเด็นสุขภาวะของคนในคุก เพราะข้อมูลส่วนใหญ่จะชี้ว่าอัตราการเจ็บป่วยทั้งกายและใจของคนในคุกมีอยู่มากกว่าคนภายนอก บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา มีองค์กรที่ติดตามตรวจสอบสถานการณ์ในคุก ขณะที่สเปนไม่มีองค์กรตรวจสอบ และไม่มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อจากแหล่งอื่นยกเว้นขององค์กรของรัฐเองที่ดูแลคุก

สำหรับประเทศอาร์เจนตินาการจัดการคุกน่าเป็นห่วง เพราะอาหารการกินของคนคุกขึ้นกับอาหารที่ญาติส่งมาให้ตอนเยี่ยม และในช่วงโควิดเมื่อการมาเยี่ยมถูกระงับลง รวมทั้งเรื่องของของใช้พื้นฐานอื่นๆ ขณะที่จำนวนนักโทษก็เพิ่มขึ้นจนล้นคุก แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ค้นพบระบุว่าประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องของคุกกับการระบาดของโควิด ทำให้บรรดาเอ็นจีโอและองค์กรติดตามตรวจสอบสถานการณ์ในคุกกลับมามีบทบาทมากขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากมาย และทำให้มีความพยายามติดตามตรวจสอบ และจัดทำรายงานโดยองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ รายงานสถานการณ์เป็นระยะ และนอกจากเรื่องของคนล้นคุกแล้ว ในรายงานยังชี้ว่าความสามารถของรัฐในการดูแลจัดการคุกนั้นลดลง

กลับมาที่กรณีบ้านเรา ผมไม่ได้คิดจะโทษรัฐบาลอะไรมากมายนัก เพราะเรื่องของคุกมันไม่ใช่เรื่องของรัฐฝ่ายเดียว

หมายความว่า รัฐนั้นดูแลคุกและก็เห็นว่าคุกสภาพมันแย่ งบประมาณก็จำกัด

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันสะท้อนว่าสังคมไม่ได้เข้าใจและไม่ได้กดดันให้รัฐดูแลคุกให้ดี ซึ่งส่วนหนึ่งมันสะท้อนว่าสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุกในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำ หรือสังคมนี้อาจจะไม่เคยร่วมกันมองว่าคุกนั้นมีไว้ทำไม มีหน้าที่อะไร และเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปอย่างไร

แต่ในช่วงที่ผ่านมาการเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องของการเข้าคุกในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองก็เริ่มทำให้ความสนใจในเรื่องของคุกนั้นมีมากขึ้น ตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการออกมาให้ข่าวเรื่องการกักตัว หรือการพยายามจะตรวจคนที่เพิ่งเข้าไปยามดึกยามดื่นกับบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองที่โดนคดีเหล่านี้

แม้ในภาพรวมของกระบวนการราชทัณฑ์ เราจะพบว่าทางราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และยอมรับเองด้วยว่าจำนวนของนักโทษมีมากกว่าความสามารถที่จะรับเอาไว้ได้ (นักโทษล้นคุก) และในเอกสารของกลุ่มงานด้านการราชทัณฑ์ สำนักทัณฑวิทยาเอง ในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังไทยตามแนวทางสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ก็ได้ชี้ว่าแม้จะมีการปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานหลายข้อ ตั้งแต่สิทธิได้รับอาหาร เครื่องนุ่งห่มหลับนอน การได้รับการรักษาพยาบาล การนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ สิทธิในการสื่อสาร การบริการเกี่ยวกับสิ่งบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ แต่ในข้อของการบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย บทบัญญัติในกฎหมายไทยไม่พบเรื่องมาตรฐานสภาพที่อยู่อาศัยของเรือนจำตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์หรือกฎกระทรวงว่าต้องมีขนาดพื้นที่เท่าใด ต้องจัดการพื้นที่ใช้สอยอย่างไร แม้ว่าในเอกสารดังกล่าวจะมีการอ้างว่ากรมราชทัณฑ์ซึ่งประสบปัญหาเรื่องความจุและข้อจำกัดของพื้นที่เรือนนอน ได้กำหนดมาตรฐานของลักษณะเรือนนอน ขนาดพื้นที่เรือนนอนต่อคน และระบบสุขาภิบาลของเรือนจำซึ่งแนวทางดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ แต่ในเอกสารนี้ไม่ได้ระบุรายละเอียดใดๆ

นอกเหนือจากการพยายามปรับตัวของภาครัฐในเรื่องการจัดการคุก ซึ่งแม้ว่าล่าช้าในช่วงแรก แต่ก็มีความพยายามอยู่ไม่น้อยที่จะพยายามปรับปรุงท่ามกลางความสนใจของผู้คน แม้ว่าข้อเสนอต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการปรับปรุงคุณภาพคุก การปล่อยผู้ต้องขังให้เร็วขึ้น หรือการใช้ระบบอื่นในการคุมขังและคุมประพฤติ

แต่สังคมเองก็คงจะต้องเพิ่มความสนใจในเรื่องของการกำหนดความหมายร่วมว่าคุกมีไว้ทำไม คุกกับกระบวนการยุติธรรมสัมพันธ์กันตรงไหน และเราจะเชื่อมโยงเรื่องของคุกกับสังคมได้อย่างไร

ไม่เช่นนั้นเราจะยังเข้าใจคุกแค่เรื่องของตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าถ้าจัดการให้ดีคือปิดไม่ให้พวกเขาออกมาให้ได้ และเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่สถานพยาบาลโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเราแล้วทุกอย่างจะจบ

เราจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากไปจากเดิม และจะไม่เรียนรู้อะไรในเรื่องของคุกมากขึ้นกว่าเดิมเลย ซึ่งเราจะไม่เข้าใจทั้งปัญหาทางกายภาพของคุก และไม่เรียนรู้เรื่องราวของคนจำนวนมากที่ติดคุกว่าเขาเป็นใคร คดีไหนที่ติด วงจรชีวิตของเขาที่เข้าออกคุกเป็นอย่างไร คนพวกไหนที่ติดคนพวกไหนที่หลุด ความสัมพันธ์ของอาชญากรรมกับคดีในคุกเกี่ยวพันกันจริงไหม จริงไหมที่คุกมีไว้ขังคนจน จริงไหมที่คุกนั้นทำให้คนที่อยู่ในวงจรชีวิตและโอกาสชีวิตบางแบบต้องกลับเข้ามาอีก ฯลฯ?

(V.Chartrand et al. Covid-19 Pandemic Exposes How Little We Know about Prision Conditions Globally. The Conversation. 9/3/21. Tufts University Prison Divestment. “What is the Prison Industrial Complex?” Equal Justice Initiative. Covid-19’s Impact on People in Prison. 16/04/21. “Impact of COVID-10 “Heavily Felt” by Prisoners Globally: UN Expert”. UN News. 9/03/2. ชนาธิป ไชยเหล็ก. “จากโรงงานถึงเรือนจำ: มาตรการ Bubble & Seal คืออะไร จะใช้ได้ผลไหมใน “ราชทัณฑ์คลัสเตอร์” The Standard. 18/05/21 และ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง. มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ. อ่าน: 2562.)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image