จับตา บทบาท ของวิทยา แก้วภราดัย ประชามติ โมเดล

แรกที่รับฟัง “ข้อเสนอ” อันเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งและร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองจากปาก นายเสรี สุวรรณภานนท์ และ นายวันชัย สอนศิริ

แม้ “หลายคน” จะให้ “น้ำหนัก”

ให้น้ำหนักเพราะเป็นการแถลงโดยอาศัย “รายงาน” คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.

แต่ก็มิใช่น้ำหนักที่ “หนักแน่น” และ “จริงจัง”

Advertisement

เพราะประเมินว่า บทบาทของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และ นายวันชัย สอนศิริ เสมอเป็นเพียงหัวหมู่ทะลวงฟัน

แบกรับภาระธุระในแบบ “โยนหินถามทาง”

กระนั้น พลันที่ นายวิทยา แก้วภราดัย ออกมายืนยันว่า “ผมเป็นคนเสนอให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน กกต.และให้ คสช.ช่วยคุมการเลือกตั้ง”

Advertisement

“น้ำหนัก” ก็เพิ่มขึ้นอย่างหนักแน่นและจริงจัง

จริงจังมากกว่าสถานะของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ แม้ว่าจะเป็นประธานคณะกรรมาธิการและมากกว่า นายวันชัย สอนศิริ

ซึ่งยอมรับบทบาท “ถ้าจะเลียผมขอเลือกเลียคนดี”

ทำไม

 

อย่าลืมรากฐานในทางการเมืองของนายวิทยา แก้วภราดัย อย่างเด็ดขาด เป็นรากฐานตั้งแต่ยุคการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516

ได้รับผลสะเทือนจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519

การเข้าสู่สนามการเมืองของ นายวิทยา แก้วภราดัย จึงยืนเรียงเคียงกับ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ นายสุธรรม แสงประทุม อย่างเป็นหนึ่งเดียว

สู้กับอิทธิพลของ “ประชาธิปัตย์” ใน “นครศรีธรรมราช”

เพิ่งจะกลายเป็นแม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ ก็เมื่อนายสุธรรม แสงประทุม บ่ายหน้าไปยังพรรคไทยรักไทย ขณะที่ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กับ นายวิทยา แก้วภราดัย บ่ายหน้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์

บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็น “เทียบเชิญ” โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

เพราะว่าเพียงเหยียบเข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ไม่ใช่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

หากแต่เป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างหากที่ยื่นมือแห่งไมตรีให้กับ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กับ นายวิทยา แก้วภราดัย อย่างเป็นพิเศษ กระทั่ง นายวิทยา แก้วภราดัย ได้เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุขและดำรงอยู่

ในสถานะ “ประธาน ส.ส.” แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งเมื่อก่อตั้ง “กปปส.” ยิ่งมากด้วยความแนบแน่น

 

การดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ของนายวิทยา แก้วภราดัย จึงเป็นแรงดันอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

คำยืนยันจากปาก นายวิทยา แก้วภราดัย จึงสำคัญ

“ความเห็นที่ว่าให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน กกต.และให้ คสช.ช่วยคุมการเลือกตั้ง ทั้ง 2 เรื่องนี้ผมเสนอมาตั้งแต่แรกแล้ว”

สะท้อนความจัดเจนไม่เพียงแต่ในฐานะ “นักการเมือง” ผู้คร่ำหวอดใน “การเลือกตั้ง”

หากแต่ประสบการณ์อันทรงความหมายยิ่งก็คือ การร่วมส่วนในการสกัดขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ทำให้ได้บทสรุปว่า กกต.มี “ความอ่อนแอ”

ขณะเดียวกัน ก็มองเห็นความเป็นจริงใหม่ที่ว่า “กระทรวงมหาดไทยวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วอย่างมหาศาล หน่วยงานในกระทรวงถูกกระจายออกไปหมด คนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจะสั่งใครแทบไม่ได้”

เป็นความจริง “ใหม่” ซึ่งมองข้ามบทบาท “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” ในห้วงแห่งการทำ “ประชามติ” ไปอย่างเจตนา

เป็นความจริงที่เท่ากับเป็นการ “ขยายผล” จาก “ประชามติ โมเดล” อย่างเต็มพิกัด

เมื่อเป็นข้อเสนออันมาจากนายวิทยา แก้วภราดัย จึงเหมือนกับเป็นข้อเสนออันมาจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยพื้นฐาน

ความพยายามในการขยายผลสำเร็จจาก “ประชามติ โมเดล” เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในปลายปี 2560

จึงมี “สัญญาณ” อันสะท้อนรากฐานและความเป็นมาอย่างเด่นชัดว่าจะดำเนินไปอย่างเดียวกับความสำเร็จในการผลักดัน “ร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เท่ากับ กปปส. “ร้อง” แล้ว คสช. “รำ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image