“ขอให้โชคดี” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

นับสู่เข้าสัปดาห์ที่ 3 หลังผ่านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ปี พ.ศ.2559 ผ่านได้อย่างสบายๆ 16.8 ล้านเสียง ในขณะที่ “คำถามพ่วง” ผ่านด้วยคะแนน 15.1 ล้านเสียง สบายๆ เช่นเดียวกัน

แต่ปม “ปัญหา” ยังตามมา แม้ “สนช.” กับ “กรธ.” มีที่มาจากต้นน้ำเดียวกัน แต่แยกสายลงเรือคนละลำ กับประเด็นการนำเอา “คำถามพ่วง” ไปเขียนใส่ในร่างรัฐธรรมนูญ เกิดการมองต่างมุมของ “กรธ.” กับ สนช.” กรณีการโหวตแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรี” ตามกรอบเวลา “กรธ.” จำต้องดำเนินการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมี 279 มาตรา ให้สอดคล้องกับผลประชามติ เพื่อให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตรวจสอบให้ถูกต้อง ตามการทำประชามติภายใน 30 วัน ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลฯต่อไป

กระแสข่าว 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมาเราจะได้ยินวาทกรรมทางการเมืองสร้างความแปลกแยกต่างๆ กันให้ได้รู้สึกถึงอุณหภูมิทางการเมืองสูงปรี๊ดได้อย่างดี อาทิเช่น “ได้คืบเอาศอก” อย่าทำ “หัวหมอ หรือ เอาให้สุดซอยไปเลย รวมถึงระวังตระบัดสัตย์เพื่อชาติ”… นั่นคือกระแสเสียงร้องทักทาย เหมือนจิ้งจกร้องทัก จะฟังหรือไม่ฟัง จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ สติ สมาธิ หรือ “ปัญญา” ของ “ผู้นำ” แต่ละท่านย่อมมีความหมายต่อความเป็นไปของ “บ้านเมือง” ว่าจะร่มเย็นสงบสุขหรือไม่ หรือยังคงสร้างความแตกแยก หรือขัดแย้งทางการเมืองสืบต่อไปอีกนานเท่านาน ซึ่งย่อมไม่มีใครรู้ได้ แต่ “ความถูกต้อง เป็นธรรม” เท่านั้น จะทำให้ประเทศอยู่รอดได้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น พอจะประมวลได้ว่า…

เกิดมีกรณีที่ “สนช.” บางท่านพยายามที่จะยัดเยียดให้ “ส.ว.สรรหา” ในอนาคต 250 คน มีสิทธิในการเสนอชื่อ “นายกรัฐมนตรี” ในสภาได้ด้วย นอกจากจะมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯในสภาแล้ว ซึ่งมีการตีความหลากหลายโดยเฉพาะเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ คำถามพ่วงที่ต้องการให้ ส.ว.สรรหามีสิทธิโหวตเลือกนายกฯในสภาเป็นระยะเวลา 5 ปี ไม่ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีกี่ครั้ง ก็สามารถจะใช้สิทธิยกมือโหวตนายกฯได้

Advertisement

19 สิงหาคม 2559 เป็นครั้งแรกที่ “กรธ.” ได้พบพูดคุยกันกับ “สนช.” อย่างเป็นทางการ ในประเด็นดังกล่าว… “นายกคนนอก” กับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” แควน้ำสองสายนั้นจะไหลรวมกันไปได้อย่างไร? หรือจะคู่ขนานกัน หรือจะตัดกันก็ต้องติดตามดูกันต่อไป ขออย่าได้เกี่ยวข้องกับระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ก็แล้วกัน เป็น “ระเบิดการเมือง” ลูกที่ 8 การเมืองที่ตั้งแท่นขึ้นอยู่กับ “ตัวบุคคล” ร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งแท่น แต่ที่นายกฯคนนอก สนช.ที่แสดงตัวตนพยายามจะเอานายกฯจากคนไม่ต้องอยู่ในบัญชีพรรคการเมืองและขึ้นอยู่กับ ส.ว.สรรหา 250 คน ไม่ต้องตีความให้มากหมอ มากความ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นฉันใด “คนที่มาจากการลากตั้ง” ก็ต้องสนับสนุนการลากตั้งอยู่ดี

ปมดังกล่าวทำให้ท่านนายกฯคนปัจจุบัน และรองนายกฯ แสดงจุดยืนความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัวตลอดมา จะเห็นได้จากการถูกสัมภาษณ์ของนักข่าวหลายสำนักยิงคำถามดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

แม้กรอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ลงประชามติ รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ณ วันนี้ ความเห็นในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อที่มาของนายกรัฐมนตรี ระหว่าง “สนช.” และ “กรธ.” ยังเป็นแม่น้ำคู่ขนานกันอยู่ ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์

ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รีบออกตัวว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะต้องให้ตรงกันกับเจตนารมณ์ของประชามติตามคำถามพ่วงภายใน 5 ปีนี้ รัฐสภาโดย ส.ส.และ ส.ว.สรรหา จะเป็นผู้ร่วมกันโหวตนายกฯ ถ้านอกเหนือจากนี้ ถ้าจะต้องเลื่อนวันเลือกตั้ง เพราะร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเสียเวลาตีความในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ตัวใครตัวมันฤาจะเป็นกับดัก 1 และถ้าจะดึงดันกันขนาดว่า ส.ว.สรรหา 250 คน สามารถเสนอชื่อนายกฯ ในสภาด้วยแล้วจะขัดกับเจตนารมณ์ประชามติอย่างไรก็ว่ากันไป แต่จะขัดกับ “เจตนารมณ์ของระบบประชาธิปไตย” เอาคนที่มาจากลากตั้ง ชี้ชะตาอนาคตประเทศก็ไม่จำเป็นต้องมี “การเลือกตั้ง”ใช่หรือไม่

ประเด็นที่เกิด “คำถามพ่วง” มันเกิดอะไรขึ้น มีทีท่าว่าเป็น “ลูกระเบิด” หรือ “ไฟสุมการเมือง” ขึ้นมาเนื่องจากการแปลงสาร ของเนื้อหาสาระคำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นจากประชาชนด้วยการตีความเพื่อให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นแบบสุดซอยเลยก็ว่าได้ เราต้องมีสมมุติฐานว่าด้วย “สาระ คำถามพ่วง” เป็นตัวตั้งเสียก่อน แล้วมาพิจารณาว่ามี “เจตนารมณ์” อย่างไร สาระมีความว่า…

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ เพื่อให้ปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปี แรกนับวันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกับรัฐสภาเป็นผู้เห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกฯ”

โจทย์สำคัญว่า “ทำไมต้องมีคำถามพ่วง” กล่าวคือ 1.เพราะนายกฯคือหัวหน้าทีมที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ 2.ถามทำไมต้อง 5 ปี เพราะตามยุทธศาสตร์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจะวางรากฐานประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ชาติมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง ยั่งยืน ประเทศมีความสงบ ปรองดอง 3.เพราะรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.ทำหน้าที่กำกับให้มีการปฏิรูป ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

มีเหตุผลอย่างไรต้องมีคำถามพ่วง : 1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นควรตั้งคำถามเพิ่มเติม ในการลงประชามติ 1 คำถาม 2.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เสนอประเด็นคำถามให้ สนช.มีมติเห็นควรตั้งคำถามเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 3.เพื่อให้กลไกในการดูแลปฏิรูปประเทศต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะเวลา 5 ปี

สาระสำคัญของคำถามเพิ่มเติมคืออะไร? เพื่ออะไร? : แก้ไขบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลที่ทำหน้าที่กำกับปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ ร่วมประชุมกับ ส.ว. เป็นผู้เห็นชอบการแต่งตั้งนายกฯ เพื่อเป็นหลักประกันให้สังคมในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ… ทั้งหมดนี้คือสาระสำคัญที่มาจากเอกสารที่ กกต.ได้จัดทำขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อชี้นำ ชี้ชวน ให้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติก่อนหน้าที่จะถึงวันลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งได้ชี้แจงถึง… “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง”

แต่ “ประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันในขณะนี้… เจตนารมณ์ของ “คำถามพ่วง” มีสาระว่าอย่างไรและตีความกันว่าอย่างไร…ก่อนที่จะถึงการตีความเจตนารมณ์ เราต้องกลับไปดูว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านร่างประชามติประชาชนไปแล้วนั้น ได้มีบทบัญญัติไว้อย่างไรในประเด็นการโหวตเสียงเลือกนายกฯด้วยกล่าวคือ

ม.159 ระบุเอาไว้ว่า… “ให้สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น “นายกรัฐมนตรี” จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ใน ม.88″ แต่ละพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อได้พรรคละ 3 คน : มติของ ส.ส. ที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกฯ ต้องทำโดยการลงคะแนนเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา

หากจะเขียนรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจะต้องสอดรับกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ นั่นคือ จะต้องมีการโหวตเลือกนายกฯ โดยสภาผู้แทนราษฎรก่อน เว้นแต่หากกระทำไม่ได้ก็ต้องให้รัฐสภาร่วมโหวตคำถามพ่วง นี่เป็นคำตอบเบื้องต้น

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการตีความแบบ “ศรีธนญชัย” หรือ “หัวหมอ” จนกระทั่ง เพียงตัวหนังสือข้อความเดียวกันระบุเอาไว้อย่างหนึ่ง ก็มองก็ตีความไปคนละมุมขึ้นกับอารมณ์ลึกๆ ว่าด้วย กิเลส อัตตา ที่มีอยู่ในใจเป็นอย่างไรของแต่ละฝ่าย มันจึงยุ่งยากอย่างที่เห็น

ล่าสุด ประธาน สนช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่เป็นต้นตอของคำถามพ่วงก็ออกมาตีปลาหน้าไซว่า ไม่ใช่ความบกพร่องของ สนช.ที่จะซ่อนเร้น ไม่ตั้งคำถามพ่วงให้ชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุให้ตั้งคำถามพ่วงได้เพียงประเด็นเดียว เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน ซึ่งท่านตีความหมายว่า… พิจารณาให้ความเห็นชอบหมายถึงกระบวนการทั้งหมดไม่ใช่การโหวตมติเพียงอย่างเดียว… “เหมือนผมเป็นศาลทำหน้าที่พิจารณาคดี มิได้หมายความว่าจะพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการไต่สวนสอบพยานทั้งหมดจนเสร็จสิ้น ดังนั้น กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบจะเป็นตั้งแต่… การเสนอชื่อนายกฯ เงื่อนไข คุณสมบัติของบุคคล ที่จะมาเป็นนายกฯ”

แต่ตรงกันข้าม แม่น้ำอีกสายคือ รัฐบาล หรือ คสช. โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ฝ่ายความมั่นคงก็มีมุมมองอีกอย่างด้วยการชี้แจงว่า ส.ว.แค่ยกมือโหวตเท่านั้น นี่แค่แม่น้ำ 2-3 สาย ที่มาจากต้นธารเดียวกัน ยังมองต่างกัน อย่างไรเสียเรื่องนี้คงต้องรอ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ท่านวินิจฉัยแน่นอนที่สุด

ว่าไปแล้วถ้าไม่ให้ ส.ส.เลือกนายกฯก่อนจากบัญชีรายชื่อพรรค แต่ข้ามขั้นตอนเปิดทางให้ “คนนอก” เลย ตามที่ สนช.ต้องการ จะเท่ากับยกเลิกมาตรา 159 และมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือ ยกเว้นหาก ส.ส.เลือกไม่ได้ จึงจะมาถึงมาตรา 272 ให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือก “คนนอก” เป็นนายกฯได้ ซึ่งต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 คือ 500 เสียงขึ้นไป คนนอกที่สามารถ “ล็อบบี้” เสียงในสภาได้มากขนาดนี้ต้องไม่ใช่ธรรมดา แต่ต้องมีอำนาจอันทรงพลัง มีอิทธิพลล้นเหลือ

หากแยกส่วนกันให้ดีรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และยังมี ส.ว.ลากตั้งอีก 250 คน ที่ คสช.ตั้งเอง 200 คน และอีก 50 คน มาจากเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ นายกฯคนนอกใช้เสียง ส.ว.แต่งตั้ง 250 เสียง เป็นฐานหลักและขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อีกอย่างน้อย 250 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะพรรคการเมืองที่ยึดหลักประชาธิปไตยอาจไม่เล่นด้วย จึงต้องพึ่งพานักการเมืองที่ไร้หลักการ…อะไรก็ได้ ขอให้เป็นรัฐบาลมีอำนาจก็ยอมทุกอย่าง แต่ถ้า ส.ส.จับมือกันได้ตั้งแต่ 251 เสียงขึ้นไป จะสามารถสกัดกั้นมติของรัฐสภาเพื่อเปิดทางให้นายกฯคนนอก

แน่นอน แม้พรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปปัตย์เองก็สร้างความหวังจะเป็น “รัฐบาล” ก็ต้องมีเสียงข้างมาก ซึ่งคนไม่ใช่ได้เสียงแค่ 251 คนขึ้นไป แต่ต้องคิดตัวเลขให้เกิน 376 เสียงขึ้นไป เพราะต้องนับยอดรวมจาก 750 คน นั่นคือ… “ความมีเสถียรภาพที่มั่นคงที่สุด” อีกฝ่ายก็ต้องใช้ความพยายามให้มากที่สุด เพื่อจะต้องไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากกว่า 251 คน และจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 251 เสียงขึ้นไป เพื่อปิดทางอีกฝ่ายไม่ให้เปิดโอกาสให้เป็น “รัฐบาล” ได้ ซึ่งเริ่มมีการเคลื่อนไหวแต่ละฝ่ายแล้ว เว้นแต่พรรคเพื่อไทยไปจับมือร่วมกับประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลได้ก็จบเลย

ตรงกันข้ามแม้ว่านายกฯคนนอกผ่านด่านแรกไปได้ โดยทำให้รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงขึ้นไป เพื่อยกเว้นไม่ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และเปิดทางโล่งให้นายกฯคนนอกนอนมา แต่… นายกฯคนนอกจะต้องเจอด่านที่ 2 ที่อาจกล่าวได้ว่า “หินมหากาฬ” กว่าด่านแรกนั่นคือ… การบริหารประเทศด้วยความราบรื่นตามนโยบายที่สัญญาต่อสภาและประชาชน เนื่องจาก ส.ว.ลากตั้ง ไม่มีอำนาจร่วมประชุมเพื่อพิจารณาและผ่านร่างกฎหมายสำคัญร่วมกับ ส.ส. เป็นกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลหรือร่างกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น กฎหมายปฏิรูปประเทศ หรือกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ถ้ารัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจะไม่สามารถบริหารประเทศได้

ผู้เขียนเอง เชื่อว่านักการเมือง นักวิชาการสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งสื่อสารมวลชน พูดเป็นเสียงเดียวกันได้ว่า “น่าหวาดเสียว” เป็นอย่างยิ่งหากรัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (เกิน 250 เสียงขึ้นไป) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะเสี่ยงอย่างยิ่ง ในการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรและแพ้มติในสภา เนื่องจาก ส.ว. 250 เสียง อันเป็นฐานอำนาจสำคัญไม่มีสิทธิร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองภายหลังรัฐประหารในอดีต อย่างท่านพลเอกสุจินดา คราประยูร, พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นต้น แล้วผันตัวเองมาสู่ “นักการเมือง” อาชีพเต็มตัว ก็หนักและเหนื่อย ไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายหลังมี “รัฐธรรมนูญใหม่” ฉบับที่ 20 ปี พ.ศ.2559 มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในประเทศไทย อำนวยอวยพรให้ทุกสิ่งทุกอย่างทางการเมืองของบ้านเราได้จบอย่าง Happy Ending นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image