รื้อ-ลบ-สร้างประวัติศาสตร์

อนุสรณ์สถานวีรบุรุษที่เมืองพะอานเพิ่งจะถูกทำลายไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา (ภาพจาก Twitter @NwayOoTWs)

เราคงเคยได้ยินกันมาว่า “ผู้ชนะคือคนเขียนประวัติศาสตร์” ดังนั้น ประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไปในโลกจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้ชนะ คำกล่าวนี้อาจจะเป็นจริงในยุคที่การศึกษาและการสื่อสารมีอย่างจำกัดและผู้คนเลือกเชื่อเหรียญด้านเดียวที่รัฐ (หรือผู้ปกครองใดก็แล้วแต่) ยัดเยียดให้ แต่การเขียนประวัติศาสตร์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้แต่ในไทยหรือพม่าเอง ได้พัฒนาไปมาก และมีการหยิบยกนำผู้แพ้ ที่บางครั้งก็เป็นคนที่ถูกกดขี่ เป็นผู้ที่ถูกกระทำโดยมิชอบ เข้ามาเป็นประเด็นในบทสนทนาอยู่เสมอ เพราะการทำความเข้าใจผู้แพ้หรือผู้ถูกกระทำในประวัติศาสตร์ช่วยละลายความเชื่อเดิมๆ ที่ว่ารัฐหรือผู้ปกครองย่อมทำอะไรก็ได้ ไม่มีความผิด การศึกษาผู้ถูกกดขี่ทำให้เราได้เห็นความฟอนเฟะของระบบและสะท้อนสังคมที่ไร้ขื่อไร้แปได้เป็นอย่างดี

เมื่อรัฐต้องการยัดเยียดประวัติศาสตร์ให้ประชาชน อยากสร้างให้รัฐมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เกินพอดีเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรักชาติ หรือเปลี่ยนประวัติศาสตร์จากที่เคยเป็นผู้แพ้ให้เป็นผู้ชนะในประวัติศาสตร์ สิ่งที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดคือโฆษณาชวนเชื่อ คือการโหมกระหน่ำเรื่องเล่าใหม่ เพื่อกลบเรื่องเล่าที่มีมาแต่เดิม ถ้าเป็นสมัยก่อน รัฐก็จะสั่งให้ชำระประวัติศาสตร์ ลบเรื่องที่รัฐเคยทำไม่ดีไว้ แล้วเอาเรื่องเล่าชุดใหม่เข้าไปครอบทับ แต่ในปัจจุบัน ไม่มีใครหยิบพงศาวดารหรือแม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์มาอ่านกันแล้ว โฆษณาชวนเชื่อในยุคดิจิทัลจึงทำกันผ่านปฏิบัติการไอโอ เพื่อดิสเครดิตฝั่งที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตน และใช้กระบอกเสียงของตนเองไม่ว่าจะเป็นการไปจ้างนักข่าว คอลัมนิสต์ หรือคนในแวดวงอื่นเพื่อให้ช่วย “อวย” ความดีงามของรัฐ

ผู้เขียนถกเถียงกับเพื่อนๆ พี่ๆ นักข่าวที่สนใจการเมืองพม่าบ่อยครั้งหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และคำถามที่เกิดขึ้นในวงสนทนาแทบทุกครั้งคือกองทัพพม่าหรือคณะรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไรในเมื่อพม่าเข้าใกล้สถานะการเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เข้าไปทุกวัน ประชาชนยังแสดงพลังผ่านการทำอารยขัดขืน หรือ CDM อย่างต่อเนื่อง ข้าราชการยังหยุดงานต่อเนื่องเข้าเดือนที่ 5 แล้ว สภาพเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ยิ่งแย่ลงเมื่อประชาชนไม่เชื่อระบบการเงินและการธนาคาร จึงแห่ถอนเงินกันจนธนาคารไม่มีเงินสดในระบบอีกต่อไป อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้แพงขึ้นหลายเท่าตัว ผู้เขียนไม่ทราบว่าประชาชนพม่าจะอดทนกับสถานการณ์นี้ต่อไปได้ถึงเมื่อไหร่ แต่ทราบดีว่าคนพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในพม่าต่างเป็นนักสู้ และจะต่อสู้กับเผด็จการได้อย่างเข้มแข็ง

แต่สำหรับกองทัพ ผู้เขียนคิดว่าเขาไม่ได้สนใจว่ารัฐของเขาจะล้มเหลวหรือไม่ เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าทหารพม่ามีชุดความคิดที่แตกต่างออกไปจากพลเรือนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายความว่าสิ่งสำคัญอันดับแรก (priority) ของกองทัพพม่าคือเรื่องความมั่นคง การรักษาความสงบ และการกำจัดสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความสงบสุขและความดีงามของสังคมพุทธแบบพม่า อาจมีหลายคนที่ยังเชื่อว่าพม่าจะเป็นรัฐล้มเหลว แต่สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเชื่อว่ากองทัพคิดถึงผลที่จะตามมาจากรัฐประหารและการคว่ำบาตรจากนานาประเทศมาอย่างดีแล้ว เขาคิดว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และหากไม่ตัดไฟแต่ต้นลม ไม่กำจัดภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสายตาผู้นำระดับสูงในกองทัพ นั่นคือนักการเมืองฝ่ายพลเรือนที่ก้าวล่วงเข้าไปปรับเปลี่ยนกฎและพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมให้เท่าทันโลกภายนอกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุที่เกิดขึ้นในพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรค NLD เข้ารับตำแหน่ง ทำให้สังคมพม่าลืมความสำคัญของกองทัพในฐานะผู้ปกปักและปลดปล่อยประเทศไป

Advertisement

ที่ผ่านมา กองทัพสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นจากเรื่องเล่าของวีรบุรุษผู้สร้างบ้านแปงเมืองและกอบกู้เอกราชของชาติ กองทัพภาคภูมิใจกับอนุสาวรีย์มหาราช 3 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าอโนรธา พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา และพยายามหลีกเลี่ยงการยกย่องเชิดชูวีรบุรุษยุคใหม่อย่างนายพล ออง ซาน (บิดาของด่อ ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD และอดีตผู้นำพม่าที่รัฐบาลของเธอเพิ่งถูกรัฐประหารไป) หรือขบวนการชาตินิยมที่นำโดย “สหายสามสิบ” (Thirty Comrades) ท่าทีของกองทัพหลังรัฐประหารแข็งกร้าวมากขึ้นและเห็นได้ชัดว่ากองทัพพม่าต้องการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ทั้งหมด ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ที่กองกำลัง
ฝ่ายกะเหรี่ยงภายใต้ KNU กำลังต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างเข้มข้น กองทัพเพิ่งสั่งให้รื้ออนุสรณ์สถานวีรบุรุษ ที่รัฐบาล NLD สั่งให้สร้างขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ในรัฐกะเหรี่ยงเพียงรัฐเดียว กองทัพสั่งให้ทำลายอนุสรณ์สถานไปแล้ว 5 แห่ง ที่เมืองเองพะอาน เมียวดี กอกาเรก หล่าย-บเว และจายเซกจี ในยุครัฐบาล NLD มีนโยบายให้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งไว้รำลึกถึงวันถึงแก่อสัญกรรมของนายพล ออง ซาน ที่ถูกลอบสังหารพร้อมกับรัฐมนตรีในรัฐบาลอีก 7 คน และบอดี้การ์ดอีก 1 คน ในหลายเมือง อนุสรณ์สถานนี้สร้างขึ้นจากเงินบริจาคของประชาชน

สำหรับในรัฐกะเหรี่ยง การสร้างอนุสรณ์สถานของ “วีรบุรุษ” ของคนพม่าแท้เป็นสิ่งที่ขัดใจชาวกะเหรี่ยงในท้องถิ่นมาเนิ่นนาน และเกิดเป็นข้อพิพาทย่อมๆ ระหว่างชาวบ้านกับผู้แทนราษฎรจากพรรค NLD โดยทั่วไป แม้ NLD จะถูกมองว่าเป็นตัวแทนของฝั่งประชาธิปไตยในพม่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า NLD ก็พยายามยัดเยียดความรักชาติแบบคนพม่าเข้าไปในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ซอ บา อู จี (Saw Ba U Gyi) วีรบุรุษ ซึ่งเป็นที่เคารพรักของชาวกะเหรี่ยงทั่วไปกลับไม่ได้การยอมรับจากรัฐบาล NLD และยังมีการห้ามไม่ให้สร้างอนุสาวรีย์ของ ซอ บา อู จี ในรัฐกะเหรี่ยงเรื่อยมา

นอกจากอนุสรณ์สถานวีรบุรุษหลายแห่งแล้ว รัฐบาลตั้งแต่ในยุค SLORC ยังได้สร้างอนุสาวรีย์นายพลออง ซาน และมหา บัณฑุละ (Mahabandoola) แม่ทัพนายกองคนสำคัญที่รบกับอังกฤษในสงครามอังกฤษ-พม่า อีกหลายแห่งทั่วประเทศ แต่หลังจากเกิดรัฐประหารขึ้น กองทัพก็เริ่มเปลี่ยนชื่อสถานที่ ถนน และสะพานบางแห่งที่ใช้ชื่อ “โบโจ้ก ออง ซาน” เช่น สะพานโบโจ้กออง ซาน ที่เชื่อมระหว่างเมืองเมาะละแหม่งกับชองโซน (Chaungzon) ก็เปลี่ยนชื่อเป็นสะพานตานลยิน (Thanlyin Bridge หรือสะพาน สิเรียม) เป็นที่น่าสนใจว่ากระบวนการลบล้างประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นคณะรัฐประหาร 2021 จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่พอจะคาดการณ์ได้คือกองทัพและคณะรัฐประหารจะทำทุกวิถีทางเพื่อลบชื่อ ออง ซาน ซูจี รวมทั้งครอบครัวของเธอ และพรรค NLD ออกจากประวัติศาสตร์ของพม่าไปด้วย

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image