ครอบครัวไทยในอนาคต

Alvin Toffler (1980) นักพยากรณ์อนาคตเจ้าของผลงานที่มีชื่อเสียงคือหนังสือชื่อคลื่นลูกที่ 3 (The Third Wave) ได้กล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อโลกเปลี่ยนจากยุคเกษตรกรรม (คลื่นลูกที่ 1) ยุคอุตสาหกรรม (คลื่นลูกที่ 2) มาสู่ยุคการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (คลื่นลูกที่ 3) ว่าสังคมจะแยกย่อยมีความหลากหลายสูง บ้านกลับมาเป็นศูนย์กลางของชีวิต ครอบครัวจะมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวระหว่างพ่อม่ายกับแม่ม่ายที่มีลูกติดทั้งสองฝ่าย ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวขยาย ครอบครัวที่ไม่จดทะเบียนสมรส และครอบครัวรักร่วมเพศ

มาถึงวันนี้ สิ่งที่ Toffler พูดถึงก็ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยแล้วไม่มากก็น้อย การศึกษาของทีมมหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร ในการกวาดสัญญาณให้เห็นอนาคตของครอบครัวไทยที่จัดทำให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการ Future Thailand พบว่าส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กลง ปัจจุบัน (พ.ศ.2563) ค่าเฉลี่ยของจำนวนสมาชิกในครัวเรือนไทยอยู่ที่ 2.4 คน เทียบกับ 5-6 คน เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ และจะมีครอบครัวที่อยู่คนเดียวมากขึ้นคือ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน เนื่องจากคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่แต่งงาน หรือแต่งงานโดยไม่มีลูก

นอกจากนี้ ยังมีครอบครัวแบบใหม่ที่เป็นครอบครัวเดียวกันที่แยกกันอยู่ (Living Apart Together: LAT)เป็นความสัมพันธ์แบบใหม่ของการใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ไม่อาศัยอยู่ด้วยกัน บางครั้งที่อยู่อาศัยของทั้งคู่อาจจะอยู่ในเมืองเดียวกันหรือถนนเดียวกัน ความสัมพันธ์เช่นนี้อาจเป็นความสัมพันธ์แบบสมัครใจที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน “คบกันแต่แยกกันอยู่” ก่อนที่จะอยู่ด้วยกันอย่างถาวรหรือสมรส

ที่เรียกว่าหรืออาจเป็นความจำเป็นที่จะต้องอยู่แยกกัน เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กหรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการงาน

Advertisement

ยิ่งไปกว่านี้ ใน 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สังคมไทยก็จะเห็นครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้สูงวัยเหล่านี้ไม่สมรส ไม่มีบุตร ไม่อยู่ร่วมบ้านกับบุตร เป็นม่ายหรืออยู่ในกลุ่ม LAT

ครัวเรือนที่สมบูรณ์หรือครัวเรือนที่อยู่ที่มีพ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน จึงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง มีสถิติของประเทศแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนสมบูรณ์มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสามในปี พ.ศ.2563 เมื่อเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อนหน้า และถ้าแนวโน้มนี้ยังดำรงไปอย่างต่อเนื่องอีก 20 ปี (ถึง พ.ศ.2583) ครัวเรือนคนเดียวในประชากรวัยแรงงานจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ส่วนครัวเรือนไม่พร้อมหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5 ของครัวเรือนทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครอบครัวไทยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวซึ่งมีปัจจัยเชิงสาเหตุจากเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้นทุนการศึกษาที่สูงขึ้น ปัจจัยทางสังคมรวมถึงค่านิยมตามกระแสโลกาภิวัตน์อีกด้วย การศึกษาอนาคตของ
ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 พบว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองหลัก ซึ่งทำให้ขนาดของที่อยู่อาศัยเล็กลง ทำให้ครอบครัวจำกัดจำนวนลูก ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ของการใช้ชีวิตอย่างอิสระ นิยมเช่าที่อยู่อาศัย ไม่คิดจะมีอสังหาริมทรัพย์ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไม่คิดจะแต่งงานและคิดจะมีลูกเพราะเห็นเป็นภาระ

Advertisement

การศึกษาของ ดร.อรุณี อินทรไพโรจน์ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 เช่นกัน ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของผู้หญิงที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ได้แก่ หนึ่ง ค่านิยมที่ผู้หญิงต้องออกเรือนและพึ่งพาสามี สอง ค่านิยมที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องมีลูก และสาม ค่านิยมที่ยึดติดกับทะเบียนสมรส ในขณะที่การศึกษาทำให้ผู้หญิงมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น มีการลงทุน มีรายได้เองเห็นทะเบียนสมรสเป็นอุปสรรคในการทำนิติกรรม ไม่พึ่งพิงการมีคู่ ตัดสินใจที่จะหย่าร้างได้ง่ายขึ้นหรือแม้แต่จะชะลอการมีคู่เพื่อให้อยู่ในตลาดแรงงานได้นานขึ้น

สถิติการแต่งงานของคนไทยพบว่าใน 15 ปีที่ผ่านมา การแต่งงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 0.8 ในขณะที่การหย่าร้างเพิ่มขึ้นในอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 3 ซึ่งแนวโน้มกับการแต่งงานที่ลดลงอาจจะเกิดจากการเลือกที่จะหย่าร้าง ผลกระทบของการหย่าร้างก็ทำให้เกิดจำนวนครัวเรือนพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้นด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานไว้ในปี 2558 ว่า ประมาณร้อยละ 63 ของครัวเรือนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีบุตรเพียงคนเดียวและมักจะเผชิญความยากลำบากทางการเงิน ประมาณร้อยละ 40 ไม่มีเงินออมและประมาณครึ่งหนึ่งมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีครอบครัวอยู่คนเดียวมีมากขึ้น ทำให้เกิดนัยยะทางนโยบายและทางสังคมที่สำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง นิยามทางการของครอบครัวในปัจจุบันเริ่มไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์เป็นจริง นิยามของครอบครัวของราชบัณฑิตยสถาน (2554) หมายถึง สถาบันพื้นฐานสังคมที่ประกอบด้วย สามี ภรรยา และหมายความรวมถึงลูกด้วย ส่วนในยุทธศาสตร์ของชาติก็ได้ให้ความหมายครอบครัวว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา หรือมีความผูกพันทางสายโลหิต หรือทางกฎหมายเกี่ยวดองเป็นญาติ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต่างมีบทบาทต่างกันและมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน แต่ในอนาคตอาจจะมีครอบครัวมีคนอยู่คนเดียวจำนวนมาก

การศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลเสนอว่า เนื่องจากรูปแบบครัวเรือนที่เปลี่ยนไปจะทำให้นิยามครอบครัวแบบดั้งเดิมไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมในปัจจุบัน ควรจะมีการนิยาม “ครอบครัว” ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การออกกฎหมายหรือการดำเนินนโยบายและวางแผนของรัฐสามารถที่จะรองรับความหลากหลายได้มากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในอนาคตที่มีวิถีชีวิตในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิมมากขึ้น

สอง ปัญหาของครอบครัวไม่พร้อมหน้าและครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวนี้มีผลกระทบต่อชีวิตและคุณภาพชีวิตของเด็กไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การศึกษาของ ดร.อรุณี ที่ทบทวนข้อมูลจากกฤตภาคหนังสือพิมพ์ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าบ้านเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการตายมากที่สุด ผู้ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน และเด็ก ตามลำดับ บุคคลที่เป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตายเป็นแม่มากที่สุด รองลงมาเป็นพ่อกับแม่

พ่อแม่ที่คิดว่าลูกสมัยนี้เลี้ยงยากขึ้น ลองย้อนพินิจคิดถึงพฤติกรรมของตัวเองบ้างก็จะดีนะคะ

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image