ลดโทษคดียาเสพติดกันดีกว่า

ในสังคมที่มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม คนจำนวนมากมักคิดว่า วิธีแก้ปัญหาอาชญากรรมคือการมีบทกำหนดโทษหรือมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงขึ้น นักกฎหมายไทยจำนวนหนึ่งคงคิดเช่นนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ ปราบโกงŽ จึงประกาศเจตจำนงในอารัมภบท ความตอนหนึ่งว่า ได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งให้แก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ ด้วย … การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจŽ ผลการปราบโกงและการไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจเป็นอย่างไร คงต้องพิจารณากันเอง

ผู้สนับสนุนการเพิ่มโทษทางอาญา โดยหวังปราบโกงก็ดี หรือหวังบังคับพฤติกรรมให้เป็นไปตามความเชื่อของผู้มีอำนาจแม้จะไม่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยก็ดี น่าจะพิจารณาว่ามีผลสัมฤทธิ์ดังที่หวังมากน้อยเพียงใด โทษอาญาสำหรับความผิดตามมาตรา 112 ก่อนรัฐประหารปี 2519 คือ จำคุกสูงสุด 7 ปี หลังรัฐประหารมีการเพิ่มโทษเป็นจำคุกต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 15 ปี ต่อมาหลังรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 มีการดำเนินคดีตาม มาตรา 112 เพิ่มขึ้น เว้นแต่ช่วงต้นของรัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระกรุณายับยั้งไว้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตรา จำนวนคดีเพิ่มมากขึ้นทันที ปฏิกิริยาต่อการเพิ่มขึ้นของคดี ม. 112 ถ้ามาจากฝ่ายนิยมอำนาจก็เหมือน ๆ เดิม คือเสนอให้เพิ่มโทษขึ้นไปอีก ในทางหนึ่งก็อ้างว่าคนส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ไม่ต้องกลัว มีแต่ผู้คิดร้ายเท่านั้นที่ต้องทำให้หลาบจำ เช่น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมแสดงความเห็นให้เพิ่มโทษคดี ม. 112 เป็น ฟันคอ ริบเรือนŽ อ้างว่าคนทั่วไปไม่เดือดร้อน มีแต่คนที่หลงเชื่อแกนนำม็อบ 3 นิ้วเท่านั้นเองที่จะเดือดร้อน (อันที่จริงม็อบ 3 นิ้วก็ประกอบด้วยคนที่หลากหลาย)

ส่วนโทษอาญาความผิดยาเสพติดก็ร้ายแรงมาก มีการจำคุกสถานหนักไปถึงประหารชีวิต เช่น หากมียาบ้าติดตัวข้ามแดนมา 1 เม็ด อาจถูกลงโทษจำคุก 10 ปี แต่โทษที่รุนแรงไม่ได้ช่วยทำให้การใช้ยาเสพติดลง และไม่สามารถปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ได้อย่างจริงจัง

การมีบทลงโทษสถานหนักไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซ้ำร้ายปัญหากลับสาหัสฉกรรจ์ขึ้น ลองมาพิจารณาสภาพการณ์ของเรือนจำดูบ้าง ปัจจุบันมีเรือนจำและทัณฑสถานอยู่ 143 แห่ง สถิติจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กันยายน 2563 มีดังนี้ มีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 381,454 คน แบ่งเป็นชาย 333,311 คน (87.4 %) และหญิง 48,143 คน (12.6 %) ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ (315,495 คน) เป็นนักโทษเด็ดขาด ในบรรดานักโทษเด็ดขาด มีผู้ต้องคดียาเสพติด 233,726 คน (80.4 %) จำแนกเป็นคดีเมทแอมฟาเตมิน (ยาบ้า) 193,942 คน (85 %), ยาไอซ์ 28,959 คน (12.4% ) กัญชา 4,270 คน (0.89 %) กระท่อม 1,147 คน (0.45 %) ฯลฯ มีผู้ประเมินว่าเรือนจำมีความแออัดมาก คือควรรับผู้ต้องขังเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของที่มี (ดูแลผู้ต้องขังได้ประมาณสองแสนคน มิใช่สี่แสนคน) หมายความว่าถ้าสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังด้วยเหตุยาเสพติดจากประมาณสองแสนห้าหมื่นคน ให้เหลือประมาณห้าหมื่นคน ก็น่าจะใกล้เคียงความพอดี

Advertisement

รายงานปี 2563 ของสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ให้สภาพการณ์ของผู้ต้องขังทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ดีเท่าไรเหมือนกัน ผู้ต้องขังทั่วโลกมีรวมกันประมาณ 11 ล้านคน โดย 3 ล้านคนอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ผู้ต้องขังครี่งหนึ่งต้องโทษในคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง การมุ่งเน้นการจำคุกและการขาดมาตรการอื่นที่มิใช่การคุมขังอย่างเพียงพอทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำใน 124 ประเทศ อีกทั้งยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำด้วย คือไม่สามารถทำตามมาตรฐานสากลที่กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ 1 คนต่อผู้ต้องขัง 5 คน (กรณีของไทยยังห่างไกลมาตรฐานนี้มาก คือมีเจ้าหน้าที่ 1 คนต่อผู้ต้องขัง 26 คน)

นโยบายยาเสพติดที่เน้นโทษจำคุกเพื่อปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ผลตามที่หวัง เพียงแต่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนล้นเรือนจำ คนที่ต้องโทษยาเสพติดเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและอาศัยในชุมชนยากจน ทั่วโลกมีประมาณ 2 ล้านคนจากจำนวนรวมของผู้ต้องขัง 11 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83) ต้องโทษเพราะใช้ยาเสพติดหรือมียาเสพติดในครอบครอง การที่ประเทศส่วนใหญ่กำหนดโทษเกี่ยวกับยาเสพติดไว้สูง ก็มีผลเช่นเดียวกับประเทศไทยคือ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา แทนที่ผู้ใช้ยาเสพติดจะลดลง กลับเพิ่มขึ้น 30 % ในขณะที่ตัวการใหญ่ในการผลิตหรือเคลื่อนย้ายยาเสพติด มักลอยนวลโดยไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด อาชญากรรมยาเสพติดจึงไม่ลดลงเพราะการกำหนดโทษไว้สูง

สถานการณ์ความแออัดทำให้เรือนจำเป็นแหล่งการแพร่ของโคโรน่าไวรัสได้ง่าย มีข่าวจากเรือนจำในหลายประเทศว่าผู้ต้องขังติดโรคโควิดกันระนาว ในการระบาดรอบแรกและรอบสองของไวรัสในประเทศไทย ไม่ค่อยมีข่าวผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำ แต่สำหรับรอบที่สามนี้ สถานการณ์ยังน่าวิตก สถิติ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 มีดังนี้ ผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 1,902 คน อยู่ในระหว่างการดูแลรักษา 14,714 คน รักษาหายแล้ว 1,140 คน เสียชีวิต 8 ราย เรื่องน่าวิตกก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่ในระดับหนึ่งถึงสองพันคนต่อวันมาหลายวันแล้ว นับได้ว่าเรือนจำเป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาดที่หนักหน่วงที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

Advertisement

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ซึ่งนับเป็นข่าวดีในทางบวก โดยหนังสือพิมพ์นำมาพาดหัวข่าวว่า ลุ้นกฎหมายยาเสพติดใหม่ ลดโทษ เน้นการบำบัดŽ อันที่จริงนโยบายการบำบัดแทนการลงโทษผู้ติดยาเสพติดนั้น มีการพูดกันมานาน ถ้ามาย้ำไว้ในกฎหมายก็ถือเป็นเรื่องดี ประเด็นสำคัญคือการลดโทษ เช่น นำยาบ้าเข้ามาจากต่างประเทศ 1 เม็ด บทลงโทษปัจจุบันคือจำคุก 10 ปีถึงตลอดชีวิต ข้อเสนอใหม่คือจำคุกไม่เกิน 15 ปี ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ โทษปัจจุบันคือจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี ข้อเสนอใหม่คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี การไม่กำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ เป็นการเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจเพื่อตัดสินลงโทษตามเหตุและผล และตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีนั้น ๆ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัด มากกว่าจะถูกลงโทษจำคุก

เพื่อปราบปรามการผลิตและการค้ายาเสพติดโดยตัวการรายใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกฎหมายยาเสพติดให้เครื่องมือแก่เจ้าหน้าที่ในการทำการยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดได้ง่ายขึ้น และสามารถยึดทรัพย์ย้อนหลังได้ตามมูลค่ายาเสพติด สามารถสืบสวนขยายผล ติดตามการใช้สกุลเงินออนไลน์ในการค้ายาเสพติด และสืบสาวให้ถึงวงจรเครือข่ายเพื่อตัดวงจรที่ต้นตอ

อันที่จริง มีตัวอย่างความสำเร็จของการปรับปรุงระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งการป้องปรามยาเสพติดในหลายประเทศ เช่น ในประเทศสแกนดิเนเวียและเนเธอร์แลนด์ การลดความแออัดของเรือนจำทำได้หลายวิธี เช่น การให้ประกันกรณีคดียังไม่ถึงที่สุดรวมทั้งการลดเงินค่าประกัน การพักการลงโทษและกักตัวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กตรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการพักการลงโทษ (จำกัดการเดินทาง ห้ามออกนอกเคหสถาน ฯลฯ) การพิจารณาปล่อยนักโทษที่เหลือโทษไม่เกิน 1 ปี หรือปล่อยตัวนักโทษสูงอายุ เป็นต้น
ภาษาราชการในการลงโทษคือ ราชทัณฑ์Ž แต่ก็ยังดีที่เมื่อแปลชื่อกรมเป็นภาษาอังกฤษยังใช้คำเหมือนนานาประเทศเขา คือ Department of CorrectionsŽ เห็นได้ว่าถ้ายึดความหมายของ Corrections ปรัชญาการลงโทษก็จะเปลี่ยน ถ้าจุดเน้นมิใช่การลงโทษลงทัณฑ์ให้สาสมกับความผิด หากเป็นการให้โอกาสและการคืนคนดีสู่สังคม ก็จะเป็นการให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์มากกว่าการลงโทษคนที่เห็นต่างด้วยภยาคติ หรือลงโทษผู้กระทำผิดโดยการประหารชีวิตหรือลงโทษแบบไม่ให้ผุดให้เกิด (ฟันคอ ริบเรือน) มิใช่หรือ

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image