อนาคตที่ไม่ค่อยมีอนาคต ของการเมืองไทยในครึ่งปีหลัง 2564

แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคหลักและพรรคร่วมรัฐบาล จากการเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และตัว พ.ร.บ.งบประมาณ และการกู้เงินในรอบที่สอง (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาพ.ศ.2563)

แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าอนาคตของรัฐบาลและอนาคตของการเมืองไทยจะสดใส

โดยทั่วไปในโลก เมื่อประเทศต่างๆ เผชิญกับภัยพิบัติโควิด แต่ละประเทศจะเจอกับสภาวะ “ทวิวิกฤต” หรือวิกฤตซ้อนกันสองด้าน นั่นก็คือ วิกฤตทางด้านสุขภาวะ และวิกฤตด้านเศรษฐกิจ

แต่ในประเทศไทยสิ่งที่เผชิญอยู่กลายเป็นวิกฤตทั้งสามทาง นั่นก็คือ วิกฤตด้านสุขภาวะ วิกฤตด้านเศรษฐกิจ และวิกฤตด้านการเมือง

Advertisement

หลายคนอาจจะเชื่อ หรือถูกทำให้เชื่อว่าภัยพิบัติโควิดเป็นปัญหาเรื่องสุขภาวะที่เราโชคไม่ดี เมื่อเราไปติดมาเราจึงเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลก็ได้ทำงานเต็มที่แล้ว

หากลองพิจารณาอีกทีจะพบว่าการระบาดของโควิดเข้าสู่ประเทศไทยเกิดจากรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงลงไป นั่นคือการเชื่อมโยงไทยกับพื้นที่แหล่งกำเนิดไวรัสในจีนผ่านการท่องเที่ยว

อีกทั้งความล่าช้าในการตัดสินใจในการออกมาตรการในการปิดประเทศและจัดการกับโรคระบาดโดยรัฐนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการเชื่อมโยงกับประเด็นของความอยู่รอดทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ต้น

Advertisement

ที่หนักกว่านั้น เมื่อการค้นพบการเข้ามาของเชื้อจากต่างประเทศกลายมาเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดภายในประเทศ เราจะยิ่งพบว่าปัจจัยทางด้านความไร้ประสิทธิภาพของรัฐต่างหากที่ทำให้การจัดการการแพร่ระบาดประสบปัญหา และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่บรรลุผล ตั้งแต่ระลอกหนึ่งที่สนามมวย ระลอกสองที่การบริหารจัดการชายแดน แรงงานข้ามชาติ และบ่อนพนัน และระลอกสามคือ การจัดการสถานบันเทิง

นี่ยังไม่นับสถานการณ์ปัจจุบันที่เลยมาจนถึงเรื่องของความท้าทายในการบริหารจัดการชุมชน ตลาด และคุก รวมทั้งการบริหารจัดการวัคซีนว่ามีไหม ลงทะเบียนอย่างไร ฉีดเมื่อไหร่ ใครได้ก่อนหลัง

ย้ำอีกครั้งว่า ในกรณีของประเทศไทยเราไม่สามารถแยกแยะเรื่องของสุขภาวะ เศรษฐกิจ และการเมือง-การบริหารของประเทศออกจากกันได้เลย หมายถึงอ้างไม่ได้ว่าทุกอย่าง “เริ่มต้น” จากเชื้อไวรัส

อย่าลืมว่าก่อนไวรัสจะเข้ามานั้นภาวะเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงของภาวะถดถอยมาพักใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว และนั่นเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง ที่การตัดสินใจยุติการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามานั้นทำอย่างล่าช้า

ที่จะละเลยไม่ได้อีกประการหนึ่งก็คือ สภาพการบริหารจัดการของรัฐไทยที่มีต่อสถานการณ์โควิดได้พิสูจน์แล้วว่ายุ่งเหยิงวุ่นวาย เพราะเชื่อว่าการรวมศูนย์อำนาจที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่นั้นยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น

เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะการรวมศูนย์อำนาจในแง่ของการตัดสินใจสั่งการในสภาวะวิกฤตนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และในบางเงื่อนไขก็ควรทำ

แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ ก็คือ การจะรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจสั่งการนั้นพึ่งพาคุณสมบัติและคุณลักษณะพิเศษของตัวผู้นำและรัฐบาลเช่นกัน

ถ้ารัฐบาลห่วย ผู้นำห่วย ยิ่งรวมศูนย์อำนาจก็จะยิ่งพัง เพราะคนที่ตัดสินใจนั้นไม่ได้เรื่อง

กล่าวอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่ผู้นำทุกคนจะพาประเทศรอดได้ในการรวมอำนาจ และยิ่งเป็นการรวมอำนาจที่สร้างความยุ่งเหยิงให้กับการบริหารที่เป็นอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก

ตราบเท่าที่คนจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าใจว่าเราต้องการผู้นำที่ตัดสินใจได้ และแสดงออกได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น

ไม่ใช่ผู้นำที่แค่แสดงให้เราเห็นว่าเขาสามารถพูดสรุปได้ว่าวันวันหนึ่งเขาได้รับรายงานว่าอะไร และทำอะไรลงไปบ้าง

นั่นมันหัวหน้าห้องระดับประถมที่ยืนตอบคำถามให้ครูประจำชั้น

แต่เมื่อตัดสินใจทำอะไรไป ก็พูดได้แค่ว่าทำดีที่สุดแล้ว ชีวิตนี้เสียสละเพื่อชาติ

ทั้งที่ในแต่ละวันมีข้อสงสัยอีกมากมายทั้งจากประชาชนและเอกชน และไม่มีคำตอบอะไรให้กับพวกเขานอกจากคำตวาดและอาการแก้ตัว

มิหนำซ้ำการรวบอำนาจโดยผู้นำที่มือไม่ถึง ระบบที่ยุ่งเหยิงยังเน่าหนักถ้าอยู่กับคนที่เชียร์กันแบบไม่ลืมหูลืมตา เชียร์เพราะว่ากลัวจะเสียอำนาจ เชียร์เพราะกลัวว่าคนอีกฝ่ายจะเข้ามาได้แล้วทำให้ดีกว่า

ผมบอกตรงๆ ว่าในตอนนี้ดูสื่อของรัฐเองที่พยายามเผยแพร่ข้อมูลของรัฐบาลและประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลยังไม่น่ากลัวเท่ากับสื่อที่ทำทุกวิถีทางที่จะทำลายฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ

สิ่งที่น่าหนักใจก็คือ ด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวายของทุกเรื่องราวที่ได้กล่าวมานี้ การเมืองในประเทศนี้ที่ใช้ทั้งเสียงของฝ่ายสนับสนุน และโครงสร้างอำนาจของระบอบนี้จะยังอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน

ถ้าว่ากันโดยหลักการแล้ว ตามอายุสภาผู้แทนฯชุดปัจจุบันนั้น เริ่มเมื่อมีนาคม 2562 ก็จะสิ้นสุดลงประมาณมีนาคม 2566 หรือไม่เกินมิถุนายน 2566 ถ้านับจากการดำรงตำแหน่งของตัวนายกรัฐมนตรี ก็หมายความว่าเหลืออีกไม่ถึงสองปีที่รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ในอำนาจ

ซึ่งต่างจากการทำความเข้าใจว่าระบอบนี้จะยังอยู่ในอำนาจอีกนานไหม เพราะนั่นต้องไปนับเรื่องของการคงอยู่ของ ส.ว.ชุดนี้ที่ยังสามารถเลือกนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้ และโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ยังคงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่

ไม่นับปฏิบัติการทางการเมืองในการปิดปากและสกัดกั้น ปัดเป่า แรงต้านในทุกด้านออกไปได้ทั้งจากองค์กรทางรัฐธรรมนูญที่นับวันจะสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และจากสื่อกองเชียร์ที่ทำอะไรก็ไม่ผิด

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ดูจะต่างจากการพยายามจุดกระแสการยุบสภา ที่มีการพูดกัน เพราะผมคิดว่าระบอบนี้เขาเชื่อว่าเขาลากยาวได้

และถ้าจะยุบสภานั้นก็จะทำต่อเมื่อการแก้รัฐธรรมนูญเข้าทางของพวกเขา นั่นก็คือการทำให้พวกเขายังมีอำนาจมากขึ้น

กระแสข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องของข่าวยุบสภา แต่เป็นข่าวที่ควบคู่ไปกับเรื่องของการผลักดันให้การแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลซึ่งวนเวียนอยู่กับเรื่องของการแก้ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวซึ่งอ้างกันด้วยสารพัดความเห็นว่ามีไว้เพื่อจัดการกับพรรคประชานิยม และระบบการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีเสียงที่ไม่ถูกนับมากมาย

แต่มาถึงบทจะกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่พรรคใหญ่ได้เปรียบอีกครั้งก็ไม่มีการอธิบายอะไรทั้งนั้นว่าไอ้เหตุผลที่เคยให้ในการล้มระบบการเลือกตั้งแบบเดิมมันคืออะไร

หรือว่านอกเหนือจากการสร้างระบบที่จำกัดศัตรูทางการเมืองที่จัดการไม่ได้ผ่านระบบเลือกตั้งมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 วันนี้ระบบฝ่ายบริหารเข้มแข็งและมีพรรคการเมืองที่ไม่ต้องฟังเสียงข้างนอกและเกมสภานั้นเป็นเรื่องที่ควรนำกลับมาใช้เพราะระบบล็อกสามชั้นนั้นมีอยู่แล้ว

หนึ่งคือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่เลือกนายกฯได้

สองคือ ระบบเลือกตั้งที่พรรคประชานิยมจะกลับมาได้ ตราบใดที่ครองอำนาจรัฐและงบประมาณ ไม่นับว่าสมาชิกจำนวนไม่น้อยก็มาจากพรรคเก่าที่อยู่คนละฟากนั่นแหละครับ

สามคือ องค์กรอิสระที่เลือกมากับมือ

หากลองพิจารณาให้ดี เรื่องที่ดูเหมือนจะง่ายๆ แบบนี้อาจไม่ง่ายนัก เพราะว่าพรรคการเมืองบางพรรคอย่างภูมิใจไทย ซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ และได้เปรียบจากระบบบัตรใบเดียว เพราะเป็นพรรคที่ได้คะแนนสม่ำเสมอในเขตต่างๆ ในระดับที่สาม ก็อาจไม่ได้คะแนนเท่าเดิม

หมายความว่าระบบใบเดียวทำให้การต่อสู้ในการเลือกตั้งระดับเขตเข้มข้น แต่การเลือกตั้งแบบบัตรสองใบทำให้ความนิยมของพรรคจากส่วนกลางได้รับความนิยมมากกว่า

ฝ่ายรัฐบาลเองอาจจะเชื่อว่าการเปลี่ยนมาเล่นเกมความนิยมในระดับชาติ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้รับความนิยมถล่มทลาย แต่เมื่อมีหลายพรรคเข้า คะแนนจะถูกแบ่งกันเอง ทั้งฝ่ายค้านซึ่งสามพรรคหลักคือ เพื่อไทย ก้าวไกล และเสรีรวมไทย ก็มีความโดดเด่นในตัวเอง จึงอาจจะแย่งคะแนนกัน ขณะที่ฝ่ายพลังประชารัฐและตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองอาจไม่ต้องไปแย่งกับใคร และทำให้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเข้ามามีบทบาทในการหาเสียงได้ชัดขึ้นในฐานะเป็นตัวเลือกของพรรคพลังประชารัฐในภาพรวม

ตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของขบวนการนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ซึ่งสถานการณ์โควิดยังทำให้การรวมตัวนอกอินเตอร์เน็ตยังไม่ง่ายนัก กอปรกับช่วงนี้ก็ยังปิดเทอมอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย และแกนนำเก่าก็ยังติดพันเรื่องของคดีความอยู่มาก

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือแนวทางการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดลำดับความสำคัญระหว่างเป้าหมายการต่อสู้โค่นล้ม กับการแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมในการต่อสู้ได้มากน้อยแค่ไหน ไม่เช่นนั้นการต่อสู้จะมีลักษณะเผชิญหน้าและขยับเขยื้อนตัวไปจากสภาวะเผชิญหน้าไม่ได้

พูดง่ายๆ ตอนนี้สถานการณ์ทุกอย่างทางการเมืองมีลักษณะของการติดล็อก-ติดหล่ม หาทางออกไม่ได้

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ถูกกดดันอย่างจริงจัง ตราบใดที่รายใหญ่ไม่ส่งเสียง และยังไหว และยังยืนข้างรัฐบาล หรือยังสมประโยชน์กันอยู่

รัฐบาลใช้การพูดความจริงครึ่งเดียวและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อกลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นการล้มลุกคลุกโคลน (ไม่ใช่แค่คลานคือล่าช้า แต่เลอะเทอะและมั่ว) ไปเรื่อยๆ ผู้รับผิดชอบพูดไม่ตรงกันสักฝ่าย

ขณะที่โครงสร้างทางกฎหมายและการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ยาก แถมไม่มีสัญญาณจากฝ่ายความมั่นคงว่าเสียประโยชน์อะไรจากสภาวะที่เป็นอยู่

ที่เหลือตอนนี้คงเหลือแต่อุบัติเหตุทางการเมือง หรือความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองอย่างฉับพลันทันที

ที่อธิบายเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องของดวง

แต่ต้องการจะอธิบายว่า จากสภาวะที่ติดตัวและติดล็อกติดหล่มนี้ เมื่อมีความเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง หรือโอกาสทางการเมืองที่เกิดขึ้นแม้แต่นิดหน่อย การปะทะกันในทุกมิติจะรุนแรงมาก เพราะรากฐานของสังคมมันร้าวลึกและง่อนแง่นเต็มทน

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image