ความสง่างาม โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศครั้งล่าสุดในระหว่างประชุมเวทีผู้นำประเทศกลุ่มจี20 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ยืนยันยึดตามโรดแมปการเมืองที่ประกาศไว้ จะมีการเลือกตั้งในปี 2560

ก่อนหน้านี้ภายหลังรู้ผลการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า “ต่อให้งานหนักกว่านี้ ไม่ได้เงินเดือนผมก็จะอยู่ แต่อยู่ด้วยกลไกประชาธิปไตยให้สง่างาม แต่จะมาอย่างไรก็ยังไม่รู้เหมือนกัน พอพูดอย่างนี้เดี๋ยวสื่อก็จะไปบอกว่าเปิดตัว”

ท่าทีเปลี่ยนไปจากก่อนการลงประชามติ แสดงถึงความมั่นใจที่มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตามทำให้เกิดการนิยามหรือตีความกันไปคนละทิศคนละทาง ถึงวลีที่ว่า อยู่ด้วยกลไกประชาธิปไตยให้สง่างาม หมายความว่าอย่างไร

Advertisement

จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาโดยตรง เล่นการเมืองแบบเปิด หรือรอรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยมีพรรคการเมืองเดิม หรือที่จัดตั้งขึ้นมาจัดการทุกอย่างให้

แต่ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม ความสง่างามที่ว่าหรือวาดหวังไว้นั้นจะบริสุทธิ์ผุดผ่องได้อย่างไรโดยปราศจากเสียงครหานินทาว่า เพราะมีไม้ค้ำยันที่เสนอแต่งตั้งขึ้นมาเองเป็นเครื่องมือ ขณะที่คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิพิเศษนี้

ครับ เหตุการณ์จะเป็นไปในรูปไหน รอติดตามกันต่อไป ในทางการเมืองย่อมต้องมีการวางแผน กำหนดจังหวะก้าว ออกตัวเป็นขั้นเป็นตอน ตามสถานการณ์ที่ประเมินแล้วเป็นระยะๆ อย่างแน่นอน

Advertisement

และที่ต้องไม่ลืมคือ การเมืองไทยหรือการเมืองที่ไหนๆ ไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้กันระหว่างคนดีกับคนเลว ความดีกับความเลว อย่างไอ้ห้อย ไอ้โหนกำลังโต้แย้งกันอยู่

แต่หมายรวมถึงหลักการ เผด็จการกับประชาธิปไตย คนดี ความดี กับการใช้อำนาจที่เหนือกว่าจัดการกับคนเห็นต่างอีกด้วย

เหตุผลหลักที่ยกขึ้นมาอ้าง จัดวางโมเดลประเทศไทยตามร่างรัฐธรรมนูญก็คือเพื่อให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ในทุกด้าน การบริหารจัดการประเทศต้องมียุทธศาสตร์ 5 ปี ถึง 20 ปี

จึงจำเป็นต้องมีกลไกพิเศษต่างไปจากภาวะปกติ มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เกิดสภาพบังคับกับรัฐบาลต่อๆ ไปให้ดำเนินการตาม

โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ กับกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการยกร่างประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการและระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี

กล่าวถึงกฎหมายสองฉบับนี้แล้ว ทำให้คิดถึงพระราชบัญญัติสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ใช้บังคับมากว่า 17 ปีแล้ว ยังอยู่จนถึงวันนี้

คือ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542

หัวใจอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายนี้ว่าด้วยการจัดสรรภาษีและอากร เงินอุดหนุน และรายได้อื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กฎหมายกำหนดว่าช่วงเวลาไม่เกิน พ.ศ.2544 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ และในช่วงเวลาไม่เกิน พ.ศ.2549 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้า ทั้งนี้ โดยการเพิ่มสัดส่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การพัฒนา ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจการบริการสาธารณะได้ด้วยตนเอง และโดยการจัดสรรสัดส่วนที่เป็นธรรมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นด้วย

ความเป็นจริงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2558 เพียง 28.61% ปี 2559 29.37%

ไม่มีรัฐบาลไหน ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง ปฏิวัติ รัฐประหาร ทำตามกฎหมายที่เขียนไว้ได้จริง ขณะที่ป่าวประกาศไปทั่วว่ายึดกฎหมายเป็นหลัก แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับอำนาจรัฐและราชการรวมศูนย์สู่ส่วนกลางได้สักคณะเดียว

ก็ได้แต่หวังว่า กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ คงไม่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image