จับตา ติ่ง คสช. ขบวนการ ห้อยโหน หรือ กองหนุนแกร่ง

ในยามที่อำนาจวาสนาพุ่งขึ้นถึงขีดสุด

เจิดจ้าจรัสเหมือนอาทิตย์ยามเที่ยง

เป็นไปมิได้ที่จะมิให้ “กลุ่มผู้ประสงค์ดี” ทั้งหลายเข้ามาเสนอตัวรับใช้

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจทุกแห่งและทุกยุคสมัย

Advertisement

มิใช่แต่เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เท่านั้น

 

Advertisement

ไม่เพียงแต่จะมีบุคคลระดับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายมโน เลาหวณิช

ที่เสนอตัวจดตั้งพรรคการเมือง เพื่อปูทางรองรับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ยังมีข้อเสนอและผู้เสนอตัวอีกหลายรายที่มีบทบาทจัดจ้านไม่แพ้กัน

อาทิ นายวันชัย สอนศิริ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ สองนักกฎหมายตัวเอ้ เป็นต้น

ข้อเสนอ “เรโทร” ที่จะย้อนกลับไปให้กระทรวงมหาดไทยกลับมาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ถูกพรรคและนักการเมืองวิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอแบบ “ไอ้ห้อยไอ้โหน”

ตัวประกอบสำคัญในละครโทรทัศน์ชุด “หุ่นไล่กา”

ที่ออกฉายในยุคที่ทั้งนายวันชัยและนายเสรียังเป็น “ละอ่อน”

 

แต่ดูท่าฉายานี้จะไม่เป็นที่ปลื้มเปรมนัก

ถึงขนาดที่นายวันชัยต้องอาศัยเวทีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลุกขึ้นชี้แจงว่า

ข้อเสนอเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยมาช่วยจัดการเลือกตั้ง และให้ คสช.ควบคุมการจัดเลือกตั้งในปี 2560 นั้น

เป็นเรื่องในการพิจารณาของกรรมาธิการด้านการเมืองของ สปท.

มิใช่ข้อเสนอของตนและนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ด้านการเมือง

ที่ทำให้โดนหางเลขว่า เป็นข้อเสนอที่สอพลอขอตำแหน่งกับเผด็จการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปัญญาอ่อนและตกยุคสมัย

รวมทั้งกล่าวหาว่าเป็นไอ้ห้อยไอ้โหนด้วย

ข้อเสนอดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สปท.ในเร็วๆ นี้ แต่เนื้อหาไม่ได้เป็นไปตามที่นำมาบิดเบี้ยวกัน

ปัญหาเกิดจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์เที่ยงธรรม

แม้ว่าตัวกฎหมายจะเด็ดขาด แต่ถ้าการเลือกตั้งไม่ปฏิบัติก็เปล่าประโยชน์ พวกเราจึงทำข้อเสนอไปยัง คสช.ให้มาช่วยสนับสนุน กกต. ไม่ใช่มาควบคุมการเลือกตั้ง

ส่วนเรื่องที่เสนอให้ มท.เข้ามาจัดการเลือกตั้งก็เป็นของนายวิทยา แก้วภราดัย สปท. ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย

ยันยืนว่าไม่ใช่การห้อยโหน คสช. แต่ต้องการให้งานออกมาดี

ขณะที่นายวิทยากล่าวว่า ตนขอสารภาพว่าเป็นผู้เสนอทั้ง 2 เรื่อง

คือให้ มท.ไปช่วยจัดการเลือกตั้ง และให้ คสช.ช่วยควบคุมการเลือกตั้ง

เพราะเห็นว่า กกต.มีภารกิจมากเกินไป ไม่สามารถปราบปรามการซื้อเสียงได้ จึงเสนอแบ่งเบาภาระให้

ข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นแค่ตุ๊กตาตัวอย่างเท่านั้น

 

แต่ชี้แจงไปแล้ว กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่สร่าง

7 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล

ร้อนถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่ สปท.ด้านการเมือง ถูกโจมตีว่าเป็น “ไอ้ห้อยไอ้โหน” เนื่องจากการเสนอกฎหมายลูก 4 ฉบับ ว่า

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น และตนเองในฐานะรองประธาน สปท. ก็ยังไม่สามารถให้ความเห็นส่วนตัวได้ เพราะจะกลายเป็นการชี้นำ

“แต่สิ่งที่ สปท.ยึดคือความเป็นอิสระของกรรมาธิการ

“สปท.เองพร้อมที่จะให้ความเห็น แต่ความเห็นนั้นจะไม่ใช่ความเห็นสุดท้าย เพราะที่สุดแล้วกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่

“ไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไร”

 

ด้วยอำนาจวาสนาที่เต็มเปี่ยมในมือ

ย่อมคาดได้ว่า ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560

ทั้ง คสช. รัฐบาล และประชาชนทั่วไป จะได้รับฟังความเห็นประหลาดพิสดารอีกมากมาย

ที่ในเวลาสังคมอยู่สุขสงบเป็นปกติจะไม่เคยได้ยินได้ฟัง

ในห้วงเวลาพิเศษ ที่ต้องการคนพิเศษ ย่อมมีข้อเสนอพิเศษเกิดขึ้น

แต่จะเป็นข้อเสนอในทำนองห้อยโหน หรือเป็นบันไดแข็งแกร่งสู่สวรรค์

ปฏิกิริยาสังคมจะเป็นตัวบ่งชี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image