สุจิตต์ วงษ์เทศ : โซตัสมาก กึ๋นน้อย

แฟ้มภาพ - กิจกรรมรับน้องใหม่โดย "รุ่นพี่" มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559

ระบบโซตัสเข้มแข็งคึกคักในสถาบันบางแห่ง เพราะนิสิตนักศึกษาและอาจารย์สถาบันนั้นมีกึ๋นน้อย หรือไม่มีกึ๋น

ที่ใดมีกึ๋นจริง ที่นั้นไม่ต้องพึ่งพาหาเส้นสายจากระบบโซตัส เพราะต่างมีความคิดสร้างสรรค์สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยลำแข้งตนเอง

ในตรงข้าม ถ้าที่ใดขาดกึ๋นหรือมีกึ๋นน้อย ที่นั้นต้องพึ่งพาหาเส้นสายจากระบบโซตัส อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ แนะว่า

“วิธี ประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยนั้นไม่ยากอะไร ดูพิธีรับน้องว่าโหดมากน้อยกี่องศา การประชุมเชียร์เคร่งครัดและมากสักกี่ชั่วโมง พฤติกรรมรุ่นพี่ในการประชุมเชียร์ว่ากร่างและเหี้ยมแค่ไหน ฯลฯ

Advertisement

ก็ประเมินได้เองว่ายิ่งมีสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร มหาวิทยาลัยนั้นก็มีกึ๋นน้อยเท่านั้น”

[จากบทความเรื่องโซตัส คือดัชนีด้านกลับของกึ๋นมหาวิทยาลัย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2559 หน้า 16]

นิสิตนักศึกษาควรถามหางานวิชาการของอาจารย์เหล่านั้นที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการโซตัส

โซตัส เทียบได้กับระบอบอาณานิคม จะขอยกข้อเขียนของ อ. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ มาดังนี้

“รุ่น พี่ที่แท้จริงของน้องๆ คือคณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พวกนี้คือคนที่อยู่เบื้องหลังพี่เชียร์ทั้งหลาย เพราะระบบห้องเชียร์นั้นคือเรื่องของการปกครองเยี่ยงอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมนั้นจะส่งคนที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งอาจจะเลือกเอง หรือให้บรรดาผู้ใต้ปกครองนั้นเลือกขึ้นมา แต่ในขั้นตอนสุดท้ายก็จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ปกครองตัวจริงอยู่ดี”

[จากบทความเรื่องเสน่ห์ของห้องเชียร์ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในมติชน ฉบับวันอังคารที่ 6 กันยายน 2559 หน้า 16]

อาจต้องรอครบ 100 ปี (เหมือนประวัติศาสตร์อุษาคเนย์) บรรดาที่ตกเป็นอาณานิคมถึงจะมีพลังสำนึกปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image