ประชาธิปไตยชนะอีกครั้งในเมียนมา! 

ประชาธิปไตยชนะอีกครั้งในเมียนมา! 

การต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาเดินมาถึงจุดสำคัญในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง เมื่อสหประชาชาติได้ประนามการยึดอำนาจ อีกทั้งยังลงมติการห้ามส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารส่งคืนประชาธิปไตย สัญญาณจากเวทีสหประชาชาติเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแรงต้านที่เกิดขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ และต้องถือว่าเป็น “เรื่องประหลาด” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในทางการทูต

ข้อมติในเรื่องของ “การห้ามส่งอาวุธ” (หรือ arms embargo) นั้น เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นมาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้น มีเป้าหมายในการห้ามการส่งอาวุธให้แก่อัฟริกาใต้และอิสราเอล ฉะนั้นข้อมติเรื่องห้ามส่งอาวุธในครั้งนี้ ต้องถือว่ามีนัยสำคัญในทางการเมือง และต้องยกเครดิตให้กับนักการทูตของประเทศตะวันตกในการผลักดันข้อมตินี้ เพราะโดยลำพังแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าเราไม่อาจคาดหวังแรงผลักดันจากอาเซียนได้ทั้งหมด

ประเทศผู้เสนอข้อมติดังกล่าวคาดหวังว่า สมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมดจะร่วมกันแสงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันในการไม่ตอบรับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่เบลารุสได้เสนอให้มีการลงมติ ผลจากการลงมติสะท้อนชัดเจนถึงท่าทีของเวทีโลก กล่าวคือ มี 119 ประเทศลงเสียงประนามรัฐบาลทหารและรับข้อเสนอในมติห้ามส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา ส่วนอีก 36 ประเทศงดออกเสียง และเบลารุสออกเสียงคัดค้านโดยตรง

Advertisement

ข้อมตินี้จะไม่มีผลผูกมัดในทางกฎหมาย (no legal binding ) แต่ก็สะท้อนให้เห็นทัศนะของเวทีสากลอย่างชัดเจน แม้ว่าจำนวนประเทศที่ออกเสียงสนับสนุนจะไม่มากอย่างที่คาดหวังไว้ในตอนต้น แต่ข้อมติเช่นนี้ก็เป็นสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนต่อผู้นำทหารที่เนปิดอว์

การลงมติของสหประชาชาติครั้งนี้ มีความคาดหวังว่าอาเซียนจะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยผลักดัน เพราะอาเซียนเองได้จัดประชุมในปัญหาวิกฤตเมียนมาที่อินโดนีเซีย และมีข้อมติ 5 ประการออกมาแล้ว แต่ในครั้งนี้ผลกลับเป็นว่า อาเซียนเสียงแตกกันเอง ในขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามยอมรับข้อเสนอที่จะประนามการยึดอำนาจ แต่ไทย กัมพูชา และลาวได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนที่จะงดออกเสียง ซึ่งหลายฝ่ายคาดไม่ผิดว่า รัฐบาลไทยจะงดออกเสียงในกรณีเช่นนี้ เพราะการประนามรัฐบาลทหารเมียนมาก็เสมือนหนึ่งการประนามตัวเอง เนื่องจากรัฐบาลไทยในปัจจุบันก็มีรากเง้ามาจากการรัฐประหารเช่นกัน หรือกัมพูชาซึ่งมีรัฐบาลที่เป็นอำนาจนิยม และเป็นประเทศในภูมิภาคที่การแสดงท่าทีทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับจีน

ดังนั้นในกรณีของไทย จึงเป็นที่รับรู้กันอย่างชัดเจนว่า ไทยจะไม่ทำอะไรให้กระทบต่อรัฐบาลทหารของเมียนมาแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยร่วมของความเป็นผู้นำทหารของทั้งสองประเทศ ผู้นำทหารในรัฐบาลไทยจึงแสดงออกในแบบที่ “ทะนุถนอม” รัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างชัดเจน อีกทั้งอาจเกิดจากความกังวลว่า การพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารที่เนปิดอว์จะส่งผลร้ายต่อรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่มีทหารเป็นผู้นำด้วย

Advertisement

อีกประเทศหนึ่งที่แสดงตนเป็น “ผู้พิทักษ์เผด็จการทหาร” อย่างเต็มที่คือจีน ทุกฝ่ายคาดได้เสมอว่า จีนจะไม่ทำอะไรที่จะเป็นผลลบในทางการเมืองต่อรัฐบาลทหารเนปิดอว์เป็นอันขาด แต่จีนแสดงออกในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอดในการปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมา (อาจจะไม่ต่างจากในกรณีของรัฐประหารไทย 2557) เพราะรัฐบาลทหารจะเป็นโอกาสให้จีนกลับไปขยายอิทธิพลในเมียนมาได้อีกครั้ง หรือข้อสรุปที่ชัดเจนคือ ระบอบทหารเอื้อประโยชน์ให้แก่จีนมากกว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งท่าทีเช่นนี้ทำให้จีนเป็น “ผู้ร้ายตัวสำคัญ” ในมุมมองของฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา โดยเฉพาะจีนเป็น “ผู้สนับสนุนอาวุธ” รายหลักของกองทัพเมียนมา

เช่นเดียวกับกรณีของรัสเซียที่แสดงท่าทีเป็น “ผู้พิทักษ์รัฐบาลทหาร” ในเมียนมา เพราะรัสเซียต้องการใช้เมียนมาเป็นฐานทางการเมืองในภูมิภาค อีกทั้งกองทัพเมียนมาเป็น “ลูกค้าอาวุธ” คนสำคัญของรัสเซียในภูมิภาค (ไม่ต่างจากกรณีจีน)

ข้อมติในการห้ามส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า จีนและรัสเซียจะยอมรับข้อมติของสหประชาชาติในเรื่องนี้เพียงใด เพราะองค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศมีแผนที่จะผลักดันต่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยอมลงนามข้อมติเรื่อง “การห้ามส่งอาวุธอย่างรอบด้าน” (comprehensive arms embargo) ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งอาจจะไม่ง่าย เพราะจีนกับรัสเซียคงใช้อำนาจออกเสียงวีโต้

ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา อาจจะประเมินว่า ข้อมติของสหประชาชาติเป็นเสมือน “ข้อเรียกร้องบนกระดาษ” เพราะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่การออกมติเช่นนี้ได้ต้องถือว่า ฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมาได้รับชัยชนะทางการเมืองในอีกขั้นหนึ่ง แม้ข้อมติของสหประชาชาติอาจจะไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารลงได้ทันที แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดทางการเมืองกับรัฐบาลทหารมากขึ้น

นอกจากนี้ การยืนยันจากเวทีระหว่างประเทศว่า “สมาชิกสหประชาชาติจะไม่กวาดเรื่องรัฐประหาร [ในเมียนมา] ไปไว้ใต้พรมเด็ดขาด” อาจจะพอเป็นหลักประกันให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาลทหารเมียนมากลายเป็น “จำเลย” ในเวทีสหประชาชาติไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านก็หวังว่า ผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารในประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาจะมีความรับรู้ถึงนัยสำคัญของข้อมติของสหประชาชาติ และจะไม่นำประเทศเข้าไปแสดงตนเป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” เพื่อปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมาในทางการเมือง เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจจะช่วยปกป้องผู้นำทหารได้ แต่จะเป็นการทำลายสถานะทางการทูตของประเทศไทยโดยตรง !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image