มหาวิทยาลัย ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม โดย ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีมากกว่า 150 แห่ง ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยล้วนแล้วแต่มีพันธกิจหรือบทบาทหน้าที่เหมือนกัน คือ การจัดการศึกษา (ผลิตบัณฑิต) การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในวันนี้ โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ทุกมหาวิทยาลัยมีการตื่นตัวในการบริหารจัดการ เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยตนเองเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ มีความแตกต่างจากอดีต ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ประกอบกับปัจจุบันเมื่อมีอัตราการเกิดและจำนวนนักเรียนลดน้อยลง มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวสร้างจุดขายด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ในการดึงดูดความสนใจให้นักเรียนหรือผู้ที่สนใจเข้าศึกษามีความนิยม หรือสนใจสถาบันนั้นๆ ให้มากที่สุด

ปัจจุบันเมื่อมีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจเข้าศึกษาก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งทางเลือกจะควบคู่กับสิ่งที่เกาะติดกับสังคมไทยมานานคือค่านิยมหรือการยอมรับในชื่อเสียงของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงและพัฒนาการมานานย่อมได้รับความสนใจหรือมีความนิยมมากกว่ามหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ หรือมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยความเชื่อในค่านิยมและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่มาจากแนวคิดของสังคมในอดีต วันนี้ในวงการอุดมศึกษาไทยกลับพบว่า มหาวิทยาลัยมีความแตกต่างในโอกาสและความเท่าเทียมหรือศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยบางแห่งถูกมองเป็นมหาวิทยาลัยเกรดเอ เกรดบี หรือเกรดซี เป็นต้น ประเด็นความเชื่อและค่านิยมเหล่านี้ยังแก้ได้ยาก เหมือนกับการที่ผู้ปกครองเชื่อมั่นต่อโรงเรียนหรือสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การที่ผู้คนแบ่งเกรดหรือการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยโดยสภาพสังคมคงไม่มีใครไปห้ามได้ แต่ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาเอง วันนี้ในเชิงการบริหารการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่มาจากการตกลงร่วมกันของผู้บริหาร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้การบริหารจัดการเป็นเอกภาพ ส่งผลต่อการดำเนินพันธกิจโดยรวม

Advertisement

การแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยถือได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีกันมายาวนาน โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยกลุ่มเดิม มหาวิทยาลัยในกำกับฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น ซึ่งหากมองในการรวมกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐจะพบว่าปัญหาที่แต่ละกลุ่มประสบมีแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณหรือบุคลากรเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาในมหาวิทยาลัยของรัฐถึงแม้จะมีให้พบเห็น แต่ด้วยความเป็นองค์กรของ “รัฐ” ซึ่งถือว่ามีต้นทุนและเสียงดังรัฐหรือรัฐบาลก็จะให้การสนับสนุนหรือเข้าไปดูแล จนทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ ซึ่งประเด็นที่รัฐให้การดูแลองค์กรของตนเองนี้เองนี้ จึงเกิดกระแสวิพากษ์ตามมาในความไม่เท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐกับมหาวิทยาลัยเอกชนอยู่บ่อยครั้ง

ในทางกลับกัน วันนี้มหาวิทยาลัยเอกชนส่วนหนึ่งและนับวันจะมีมากขึ้นตามลำดับกำลังเผชิญกับปัญหานานาสารพัด และคาดว่าในอนาคตทุกมหาวิทยาลัยจะต้องเผชิญและน้อมรับกับปัญหานั้นเหมือนกัน นั่นก็คือการแข่งขันและในกรณีที่จำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความไม่เสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ล่าสุด รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนความคิดผ่านสื่อกรณีที่มหาวิทยาลัยเอกชนกำลังประสบปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าสิ่งที่นายกสมาคมฯท่านนี้สะท้อนออกมานั้นคงจะตรงใจกับผู้บริหารและผู้ประกอบการมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งมวล ในประเด็นนี้ทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องน้อมรับและนำไปแสวงหาแนวทางในการดูแลมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐภายใต้กฎและระเบียบที่เอื้อต่อการปฏิบัติ เมื่อพูดถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติก็ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยเอกชนต่างก็มีจุดยืนและอุดมการณ์ในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติได้อย่างมีคุณภาพเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐ

Advertisement

นายกสมาคมมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งประเทศไทยได้ฉายภาพให้เห็นว่า “ที่ผ่านมา รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษา หรืองบวิจัย ที่รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ทั้งที่มหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีอยู่กว่า 70 แห่งก็มีส่วนในการจัดการศึกษา และรับภาระในการผลิตบัณฑิตถึง 20% แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัวเพิ่มศักยภาพในการจัดการศึกษา หาจุดขายให้กับตัวเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่คงไม่มีปัญหา เพราะค่อนข้างมีศักยภาพ แต่ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอจะทยอยปิดตัวลงอีกเท่าไหร่ ยอมรับว่าถ้าเปรียบเป็นเรื่องธุรกิจก็เหมือนรัฐกับเอกชนแข่งขันกันจัดการศึกษา แต่ทุกวันนี้เอกชนเสียเปรียบเพราะรัฐไม่สนับสนุน เหมือนอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งทุกวันนี้มหาวิทยาลัยของรัฐเปิดรับหลายรอบ จำนวนเด็กที่ลดลงทำให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัวแข่งขันในเชิงคุณภาพให้มากขึ้น หากใครสายป่านไม่ยาวพอก็ต้องทยอยปิดตัวไป ทุกวันนี้เด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเหมือนลูกเมียน้อย แค่เราขอสนับสนุนงบฯสนับสนุนเรื่องห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้นักศึกษาซึ่งก็เป็นลูกหลานคนไทยเช่นเดียวกันยังไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งที่ใช้งบไม่มาก ปีละไม่เกิน 100 ล้านบาท หากเทียบกับงบที่รัฐบาลสนับสนุนมหาวิทยาลัยรัฐถือว่าน้อยมาก และเป็นการใช้งบที่คุ้มค่า” (มติชน 23 สิงหาคม 2559 หน้า 17)

เมื่อพูดถึงศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยเอกชนโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณแล้ว วันนี้มหาวิทยาลัยเอกชนยังต้องเผชิญกับการยอมรับในตัวบัณฑิตของสังคม ซึ่งสังคมมักจะมีค่านิยมและความเชื่อที่ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐย่อมจะผลิตบัณฑิตได้ดีกว่าทั้งๆ ที่วันนี้มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งจะจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตได้อย่างมีคุณภาพเหนือกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะหลักสูตรที่ตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์ชาติและตลาดแรงงาน ไม่ว่าด้านที่เกี่ยวกับนวัตกรรมหรือการบริหารจัดการองค์กร ทุนมนุษย์และธุรกิจสมัยใหม่ ฯลฯ สิ่งที่เป็นข้อค้นพบว่ามหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งบริหารจัดการหรือผลิตบัณฑิตได้อย่างดี มีคุณภาพ โดยเฉพาะความพร้อมของคณาจารย์ บุคลากร ห้องปฏิบัติการ สื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทันสมัย เหมาะกับการพัฒนาคนเข้าสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น พร้อมกันนั้น เมื่อมีการรายงานผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย โดยองค์กรระดับโลกเช่นในปี 2016 Webometrics Ranking Of World Universities ได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ จะเห็นว่ามีมหาวิทยาลัยเอกชนของไทยติดอันดับมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำระดับสากลอยู่จำนวนมากไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐ

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ และโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว ท่านได้แสดงจุดยืนและหลักการสำคัญให้สังคมได้เห็นอย่างเด่นชัดอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการที่จะมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษาและด้านต่างๆ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวไกล สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ตามโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0”

วันนี้รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักในการที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อให้พ้นกับดักและก้าวสู่นโยบายประชารัฐตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์ การหันมารับฟังและหาทางออกโดยเฉพาะในประเด็นที่นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยได้สะท้อนออกมา หากทำได้ปัญหามหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมก็จะไม่เกิดขึ้น และจะส่งผลดีต่อการศึกษาของชาติโดยรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image