ภายใต้ชื่อเสียงของ… โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

หากจะกล่าวด้วยสำนวนของพี่อ๋อง” วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ คงต้องกล่าวว่า “ไม่มีเรื่องคุณครูเต้าหู้ไข่บนนิวส์ฟีดอีกแล้ว”

จนถึงวันนี้ แม้ประเด็นข่าวเรื่องครูบังคับให้นักเรียนก้มกราบหน้าเสาธง ที่มีกรณีพิพาทมาจากเต้าหู้ไข่ก็คงจะหายเงียบไปหมด และหากการเข้ามาอยู่ใต้แสงไฟของประเด็นนี้จะไม่เสียเปล่าไป ก็หวังว่าจะเป็นการกระตุ้นความรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องการแพ้อาหารได้บ้าง ว่าการแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และไม่ควรทดสอบด้วยวิธีจับคนที่สงสัยมากินอาหารที่ตนอาจจะแพ้

ประเด็นเรื่องความเหมาะสมหรือไม่ในการกระทำของครูก็คงไม่จำต้องพูดกันอีก ด้วยกระแสสังคมที่กระหน่ำไปทุกทางในโลก Social ถึงขนาดเรียกร้องให้มีการดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนคุณครูเต้าหู้ไข่ บางครั้งก็รู้สึกว่ามันหนักหนารุนแรงเกินไปสำหรับการที่คุณครูผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเติบโตมาในระบบความเชื่ออย่างหนึ่งที่ฝังรากมายาวนานแล้วจะต้องถูกโจมตีด้วยระบบคุณค่าทางสังคมแบบใหม่

ระบบความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังของเรื่องราวนี้ และอาจจะเป็นเหมือนผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงของเรื่องนี้ ก็คือ “ความเป็นสถาบัน” และการกระทำในนามของการรักษา “ชื่อเสียง …” ซึ่งในช่องว่างนั้นเราสามารถเติมคำว่าอะไรก็ได้ที่เป็น “สถาบัน” อันเป็นอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มคน เช่น การรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน…วิทยา ภาพลักษณ์ของชาวจังหวัด… หรือเครื่องแบบอันศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัย….

Advertisement

ใกล้เคียงกับช่วงเวลาของข่าวคุณครูเต้าหู้ไข่ ก็มีข่าวอายุสั้นเกี่ยวกับการที่ช่างภาพสมัครเล่น พาเด็กสาวมาสวมเครื่องแบบโรงเรียนชายล้วนชื่อดังหลายโรงเพื่อถ่ายแฟชั่นแนวคอสเพลย์ข้ามเพศ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างสาสมจาก “สถาบัน” เหล่านั้นถึงขนาดจะเอาขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว

หากจะยอมรับกันตรงๆ คือเราทุกคนล้วนแต่มีความรู้สึกในลักษณะนี้กันทั้งนั้น ความรู้สึกว่าเราเป็นสมาชิกของ “สถาบัน” อะไรสักสถาบันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยใหญ่ที่สุดก็คือ “ชาติ” “ภูมิภาค” “จังหวัด” ย่อยลงมาเรื่อยๆ ถึงหน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัววงศ์ตระกูล

นอกจากชื่อตัวที่เราแบก ถัดมาจากชื่อสกุลเราก็ยังมีอะไรต่างๆ เหล่านั้นห้อยท้ายตามหลังเป็นสังกัดของเรา และเหมือนเป็นหางที่อาจจะเจ็บปวดได้เสมอหากถูกย่ำเหยียบลงไป เช่น เป็นชาวหมู่บ้านแสนสุข คนหลักสี่ มนุษย์กรุงเทพฯ ศิษย์เก่าโรงเรียนนี้ บัณฑิตมหาวิทยาลัยนั้น สัญชาติไทย ทั้งหมดนี้คือสังกัดบางส่วนของเรา ซึ่งใครมาเหยียบมาต้องก็เจ็บมากเจ็บน้อยตามแต่ที่แต่ละคนยึดมั่นถือมั่น

Advertisement

ซึ่งเรื่องนี้เราคงคุ้นเคยหรือไม่ค่อยแปลกใจกับข่าวประเภทที่ว่า วิทยานิพนธ์เรื่องนั้น หมิ่นคนทั้งจังหวัดนี้ หรือการให้ทรรศนะของคนนั้นทำให้คนภูมิภาคโน้นไม่พอใจ หรือการที่ฝรั่งเขาหาว่าผู้หญิงหรือคนไทยเป็นอย่างนี้อย่างนั้นก็เหมือนดูหมิ่นเราชาวไทยไปทั้งชาติ เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นแค่ที่เมืองไทยคนไทยเราหรอก มันก็เป็นกันทั้งโลกนั่นแหละ เพียงแต่จะเข้มจะอ่อนต่างกันอย่างไรเท่านั้นเอง

ไม่ใช่แต่เรื่องของการถูกเหยียบเท่านั้นที่ก่อให้เกิดความรู้สึก การที่สถาบันอันเราสังกัดอยู่ถูกยกก็พลอยทำให้ความรู้สึกฟูๆ นั้นกระจายมาถึงตัวเราด้วย อย่างถ้ามีคนไทยได้เหรียญทองโอลิมปิกหรือได้รับการยกย่องในเวทีโลกสักเรื่องหนึ่ง คนไทยแทบทุกคนก็ดีใจ ยิ่งคนได้รับการเชิดชูนั้นเป็นคนร่วมจังหวัดก็ยิ่งฟูใหญ่ หรือไม่ได้ขนาดนั้นก็เอาแค่เป็นคน “ภาคเดียวกัน” ก็ยังดี แต่ถ้าแค่ย่อยลงมาสู่ระดับที่ใกล้ชิดเท่าไรความภาคภูมิใจยิ่งฟูใหญ่ขึ้น เช่นเป็นคน “บ้านเดียวกัน” หรือยิ่งถ้าร่วมสกุลกันก็แทบจะเปล่งออร่าออกมาได้

เรื่องนี้ถ้ายอมรับกันที่ระดับจิตสำนึกแล้วคงยากจะปฏิเสธ เหมือนที่พวกเราหลายท่านยอมรับตรงๆ ว่าไอ้เรื่องชาตินิยมอะไรเนี่ยตอนนี้ไม่ค่อยอินแล้ว แต่พอฟุตบอลทีมชาติไทยหรือทัพนักกีฬาไทยไปแข่งโอลิมปิก ก็อดเชียร์หรือเอาใจช่วยไม่ได้ เพราะเราร่วมอยู่ในสถาบัน “คนไทย” ด้วยกัน

มันคือความรู้สึกที่ว่า คนที่มีจุดร่วมอย่างเดียวกับเราในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งนั้น “เก่ง” นั่นแปลว่าเราซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันกับเขานั้นก็น่าจะมีส่วนอยู่กับความเก่งไปด้วยกับเขาเช่นกัน หรือในสายตาของสังคม ก็มักจะมองหาสังกัดและประเมินค่าของปัจเจกตามสังกัดของเขา โดยเฉพาะเรื่องสถาบันการศึกษา หรือสถานที่ทำงาน เรื่องนี้ก็คงยากจะปฏิเสธ

เช่นนี้แล้ว การออกมา “จัดการ” กับนักเรียนที่เราเห็นว่าไม่ถูกไม่ควรของคุณครูนั้น จริงๆ ก็เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของการรักษาชื่อเสียงของสถาบันในระดับย่อยของตัวเอง ในที่นี้คือโรงเรียน อย่างล้นเกินไปจนละเมิดเอาแก่สิทธิของเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่เป็นหน่วยย่อยภายใต้สถาบันโรงเรียนนั้นอย่างไม่รู้ตัว เพื่อการรักษา “ชื่อเสียง” ของสถาบัน ปัจเจกชนคนตัวเล็กภายใต้ร่มเงาแห่ง “สถาบัน” จึงจะทำให้ชื่อเสียงของสถาบันนั้นเสียหายไม่ได้

ทั้งที่หากจะกล่าวไปนั้น “โรงเรียน” ก็เป็นสถาบันสมมุติที่อยู่ดีๆ จะลุกขึ้นมาสร้างชื่อเสียงขึ้นเองไม่ได้ แต่เป็นเพราะ “คน” ในที่นี้คือนักเรียนนั้นเองต่างหาก ที่ไปแสวงหาชื่อเสียงมากองสะสมกันไว้รุ่นต่อรุ่น กลายเป็นชื่อเสียงของโรงเรียน อย่างที่บางคนอาจจะเคยเห็นบางโรงเรียนเอาชื่อเอาภาพของศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จ สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ในคณะที่ขึ้นชื่อว่าเข้ายาก มาติดไว้รอบโรงเรียน… หรือบางโรงเรียนที่เหนียมหน่อยก็เอาติดไว้อย่างเปิดเผยบนบอร์ดหน้าโรงเรียนให้ชื่นชมกัน

การรักษาชื่อเสียงของสถาบันอะไรสักอย่างที่เราสังกัดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเรายังคงเข้าใจในสาระสำคัญว่า การก่อขึ้นของชื่อเสียงของอะไรต่ออะไรทั้งหลายที่ประกอบเป็นสถาบันที่เราสังกัดนั้นก็มาจากแต่ละหน่วยเล็กๆ ในสถาบันนั้นนั่นเอง การรักษาชื่อเสียงของสถาบัน จึงไม่ควรที่จะมาละเมิดเอากับปัจเจกชนคนที่เป็นสมาชิกซึ่งเป็นสาระสำคัญที่แท้จริงที่มาประกอบรวมขึ้นมาให้เกิดสถาบันนั้น

เพราะอย่างเรื่องโรงเรียนเต้าหู้ไข่ ถ้าวัตถุประสงค์ของคุณครูเพื่อการ “รักษาชื่อเสียงของโรงเรียน…” จริงๆ แล้ว ก็ควรต้องประเมินกันจริงจังว่า ตอนนี้ชื่อเสียงของโรงเรียนพิพาท “เต้าหู้ไข่” ในสายตาสาธารณชนนั้นเป็นอย่างไร แทนที่จะจบกันไปง่ายๆ ด้วยการยอมรับว่าครูหรือโรงเรียนก็ผิดได้ พลาดได้ และยอมที่จะขอโทษนักเรียนซึ่งควรเป็นผู้ทรงสิทธิและสาระสำคัญของสถาบันโรงเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image