ประเมินผลการประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21: จาก ‘โยนหินถามทาง’ สู่ ‘การปรับดุลอำนาจในพื้นที่’ โดย ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

การถ่ายภาพร่วมกันระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=13960

 

การประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเริ่มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมเป็นต้นมา ถูกตั้งความหวังและคาดหมายจากหลายฝ่ายว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นและขั้นตอนการเจรจาที่สำคัญในการนำพม่าไปสู่สันติภาพต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง สิ่งที่พบได้ชัดเจนคือ แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นนิมิตหมายที่ดี หากแต่หนทางในการเดินไปสู่ความมุ่งหมายนั้น “ถือว่ายากก็แสนยาก หรือ หากถือว่าไกลก็แสนไกล” ซึ่งสามารถสรุปประเด็นที่ท้าทายได้ดังต่อไปนี้

การประชุมเพื่อโยนหินถามทาง

การประชุมครั้งนี้แม้ว่าจะมีท่าทีการส่งสัญญาณด้านบวกจากกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 18 กลุ่ม ที่เข้าร่วมประชุมว่าถือเป็นจุดเริ่มในการนำพาให้พม่าหลุดพ้นจากสงครามกลางเมืองที่ต่อสู้กันยาวนาน 68 ปี ทั้งในกรณีของนางออง ซาน ซูจี และ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ซึ่งถือว่าทั้งสองคนนี้คือ 2 เสาหลักในการประคับประคองกระบวนการสันติภาพให้ดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งจะพบว่า การเจรจาในครั้งนี้นั้นมิได้ก่อให้เกิดข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมหรือขั้นตอนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในกระบวนการสันติภาพ หากแต่เป็นการพบปะเพื่อหยั่งท่าทีของแต่ละฝ่าย นับตั้งแต่การเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มนำเสนอข้อเรียกร้องและความต้องการกลุ่มละ 15 นาที ซึ่งข้อเรียกร้องและความต้องการนั้นโดยส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปสู่ข้อเรียกร้องที่ก่อให้เกิดความเป็นไปในได้ในทางปฏิบัติที่น้อยมาก อาทิ การเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ และการเรียกร้องให้มีเขตการจัดตั้งเขตการปกครองตัวเองเพิ่มเติมจากทั้งกลุ่มว้า ตะอาง และปะโอ เป็นต้น กล่าวได้ว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ท้ายที่สุดแล้วยังเป็นปัญหาในกระบวนการสันติภาพอย่างน้อย 2 คำถามใหญ่ นั่นคือ รูปแบบการปกครองสหพันธรัฐนั้น เปิดโอกาสให้มีการสร้างรัฐใหม่มากน้อยเพียงใด และหากนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถเปิดช่องว่างให้เหมาะสมต่อการแก้ไขในลักษณะนี้ได้หรือไม่ ซึ่งคนจะให้คำตอบสุดท้ายได้นั่นคือกองทัพพม่าเท่านั้น!!!

Advertisement
บรรยากาศการประชุมวันสุดท้าย ที่มา http://www.elevenmyanmar.com/politics/5853
บรรยากาศการประชุมวันสุดท้าย ที่มา http://www.elevenmyanmar.com/politics/5853

บทบาทของกองทัพพม่า: กบดานและคุมเกม

ในหน้าฉากจะพบบทบาทการเป็นผู้นำในการเจรจาของฝ่ายรัฐบาลซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี และทีมงานที่อยู่ในกระบวนการสร้างพื้นที่การสนทนาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาพการพื้นผิวน้ำที่สงบเงียบและราบรื่นนั้นจะพบว่า การกล่าวของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ที่เน้นย้ำท่าทีให้กระบวนการเจรจาดำเนินต่อไปโดยไม่ให้ “ยื้อเวลา” รวมทั้งการเตือนว่า “หากกระบวนการเจรจาสันติภาพใช้เวลายืดเยื้อกว่าที่ควรจะเป็นก็อาจเกิดการปลุกปั่น, แทรกแซงและยุยงจากภายนอกเพื่อก่อกวนกระบวนการเจรจาได้” ถือได้ว่า ทางกองทัพพม่าเองเท่าทันและคาดการณ์สถานการณ์ออกว่า การประชุมครั้งนี้ว่าจะไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมมากนักตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ การเรียกร้องจากหลายฝ่ายล้วนแล้วแต่พุ่งเป้าไปที่การควบคุมและโจมตีบทบาทของกองทัพพม่าอยู่กลายๆ เช่น การไม่ยอมรับชื่อประเทศ “เมียนมา” ที่ตั้งโดยกองทัพซึ่งถูกระบุว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย การเรียกร้องให้ลดจำนวนทหารกองทัพพม่าลง การเรียกร้องให้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์สามารถจัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงเป็นของตนเอง ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านั้นสะท้อนความไม่เชื่อมั่นต่อบทบาทของกองทัพว่าจะสามารถใช้กลไกทางการเมืองและการเจรจาให้ประสบความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่ง ข้อเรียกร้องเหล่านี้บ่งบอกเป็นนัยที่สำคัญว่า หากจะเจรจาต้องควบคุมกองทัพให้ได้ก่อนเป็นสิ่งแรก

Advertisement

ท่าทีดังกล่าวข้างต้นนี้ดูเหมือนจะไม่มีท่าทีโต้กลับจากองทัพในระหว่างการประชุม หากที่สิ่งที่อ่อนไหวต่อกระแสความรู้สึกของกองทัพล้วนแล้วแต่ถูกกระตุ้นจากข้อเรียกร้องเหล่านี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการขัดกับการทำหน้าที่รักษาความมั่นคงและจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์ของกองทัพ การนิ่งเงียบจึงไม่ได้หมายถึงการรับฟังจากฝั่งกองทัพแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการกบดานเพื่อรอจังหวะในการโต้ตอบและหามาตรการยับยั้งสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศด้วย

(บน) การเคลื่อนกำลังไปยังเขตรัฐฉานทางตอนเหนือ ที่มา http://english.panglong.org/2016/09/05/ssppssa-worried-govt-troop-reinforcement-will-exacerbate-conflict/military-army/ (ล่าง) กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตรัฐฉานทางตอนเหนือ ที่มา http://english.panglong.org/2016/08/29/burma-army-attacks-ssppssa-ahead-of-panglong-conference/
(บน) การเคลื่อนกำลังไปยังเขตรัฐฉานทางตอนเหนือ ที่มา http://english.panglong.org/2016/09/05/ssppssa-worried-govt-troop-reinforcement-will-exacerbate-conflict/military-army/ (ล่าง) กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตรัฐฉานทางตอนเหนือ ที่มา http://english.panglong.org/2016/08/29/burma-army-attacks-ssppssa-ahead-of-panglong-conference/

การปรับดุลอำนาจของพื้นที่: ว่าด้วยยุทธศาสตร์ ‘คุยไปด้วย รบไปด้วย’

วงจรชีวิตของการประชุมปางโหลงที่สำคัญนั่นคือ การพยายามจัดการประชุมในทุก 6 เดือนหลังจากนี้เป็นต้น ซึ่งอย่างน้อยในแง่การเจรจานั้นจะเอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายสามารถนำผลการประชุมไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้และการกำหนดท่าทีของตัวเองในอนาคต อย่างไรก็ตาม 6 เดือนในอนาคตที่กำลังจะถึงนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลา “สุญญากาศของอำนาจทางทหาร” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การรับรู้ท่าทีทางการเมืองของแต่ละฝ่ายนั้นสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการกำหนดท่าทีหรือวางจุดยืนทางทหารได้ด้วยเช่นกัน

กล่าวคือ การผูกปมประเด็นการเจรจาในข้างต้นนั้นจะพบว่า การเผยข้อเรียกร้องของหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้กองทัพพม่าสามารถใช้มาตรการทางทหารกดดันในพื้นที่ต่อเนื่องได้อีกด้วย โดยเฉพาะท่าทีจากบางกลุ่มที่เป็นดูไม่เป็นมิตรกับกองทัพมากมายนัก อีกทั้งการปะทะที่ต่อเนื่องกับบางกลุ่มที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ โดยเฉพาะการปะทะในกรณีของพื้นที่รัฐฉานทางตอนเหนือ จะทำให้กองทัพพม่าสามารถดำเนินยุทธศาสตร์ “รบไปด้วย คุยไปด้วย” กับกองกำลังต่างๆ ได้อีกวาระหนึ่ง แม้ว่าท่าทีของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย จะสนับสนุนการเจรจา หากแต่ก็ยังไม่ได้เป็นหลักประกันในระดับการวางกำลังในพื้นที่ว่าจะสามารถรักษาเขตควบคุมของตนเองได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะบทบาทของกลุ่มที่ไม่ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) หรือ NCA อันประกอบไปด้วย (1) องค์กรปลดปล่อยคะฉิ่น Kachin Independence Organization (KIO) (2) พรรครัฐมอญใหม่ New Mon State Party (NMSP) (3) กองกำลังรัฐฉานเหนือ Shan State Army-North (SSPP /SSA) (4) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี่ Karenni National Progressive Party (KNPP) (5) สหภาพประชาธิปไตยละหู่ Lahu Democratic Union (LDU) (6)สภาแห่งชาติอาระกัน Arakan National Council (ANC) (7) องค์กรแห่งชาติว้า Wa National Organization (WNO) (8) กองทัพปลดปล่อยดาระอั้ง Ta-ang National Liberation Army (TNLA) (9) กองทัพปลดปล่อยโกก้าง Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA)/Kokang Army

ในแง่หนึ่งจะพบว่า แม้ว่าการเจรจาสันติภาพจะขึ้นอยู่กับท่าทีของกองทัพพม่ากับกลุ่มที่ไม่ร่วมลงนามในสัญญาหยุดยิง หากแต่ การใช้ยุทธศาสตร์รบไปด้วยคุยไปด้วยนั้น กองทัพพม่าสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้ออกมาในรูปแบบของ “สงครามตัวแทน” นั่นย่อมหมายความว่า กองทัพพม่าสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองและการสนับสนุนให้กองกำลังใดกองกำลังหนึ่งต่อสู้กับอีกกองกำลังเพื่อลดทอนอำนาจทางทหารและพื้นที่ครอบครองนั้น น่าจะกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อโครงสร้างสงครามกลางเมืองในพม่านั่นคือ “การควบคุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจ” ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขในการดำรงไว้ซึ่งสถานะของกองกำลังกลุ่มต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า หากมีการสร้างสงครามตัวแทนในเขตการปะทะขึ้นมาจริง การแลกเปลี่ยนผลตอบแทนในการควบคุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นของกำนัลชิ้นสำคัญ

จากเหตุหลากหลายปัจจัยและสถานการณ์ที่กล่าวในข้างต้นนี้จะพบว่า การเริ่มต้นประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 จึงกลายเป็นทั้งการเริ่มต้นเพื่อการเจรจาและการลดทอนอำนาจของกองกำลังติดอาวุธควบคู่กันไป คู่เจรจาทางการเมืองในครั้งนี้ รัฐบาลพม่าโดยบทบาทนำของนางออง ซาน ซูจี นั้นถือได้ว่าสามารถทำตามคำมั่นสัญญาในการพยายามสร้างเวทีการเจรจาขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม การตอบคำถามว่าการเจรจาครั้งนี้ได้ผลลัพธ์เต็ม 100% หรือไม่นั้น เป็นคำถามที่ตอบได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังจากนี้ไปอีก 6 เดือน คือ 6 เดือนแห่งการปรับสมดุลแห่งอำนาจอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image