คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ขออนุญาต’ที่ต้อง‘ให้ขออนุญาต’

มีของเล่นไม่กี่อย่างที่มันจะกลับมาเป็นกระแสในทุกๆ 15-20 ปี สเก๊ตก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่จะมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง ก่อนจะถึงยุคเซิร์ฟสเก๊ต หลายคนก็คงคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเล่นโรลเลอร์เบลดกันบ้าง

ขออนุญาตย้อนไปเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นเด็กสักเล็กน้อย ช่วงประมาณก่อนปี 2530 กระมัง ที่โรลเลอร์สเก๊ตกำลังฮิตเป็นกระแสในขณะนั้น ใครที่อายุมากกว่าผมในตอนนี้และเป็นวัยรุ่นในช่วงวันวานนั้นอาจจะระลึกถึงบรรยากาศของ “ลานสเก๊ต” ตามห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมนุมชนได้

ในตอนนั้นผมเป็นเด็กวัยประถม สำหรับเรื่องสเก๊ตนี้ นโยบายของที่บ้านคือไม่สนับสนุนแต่ก็ไม่ห้าม นั่นคือไม่ได้ซื้อหาให้ แต่ก็ไม่ห้ามถ้าจะขวนขวายหาซื้อมาเอง ผมจึงค่อยๆ เก็บเงินค่าขนมที่ได้มาวันละไม่ถึงสิบบาทจนครบแล้วกำเงินวิ่งไปซื้อรองเท้าสเก๊ตคู่ที่ราคาพอซื้อไหวในร้านของเล่นใกล้บ้าน จำไม่ได้แล้วว่ารองเท้าสเก๊ตที่ว่านั้นราคาเท่าใด แต่แน่นอนว่าราคาหลักร้อยและเก็บเงินมาแล้วเกินเดือนแน่นอน

เมื่อได้มาสมใจหมาย ผมเอาไปเล่นกับน้องๆ ญาติๆ แถวบ้าน แต่เพียงไถลไปบนพื้นได้เพียงรอบถึงสองรอบ ยังไม่ชินกับการทรงตัวด้วยซ้ำ ล้อทั้งสองด้านของรองเท้าสเก๊ตข้างหนึ่งก็แบะแยกออกจากกัน ส่งให้ผู้สวมใส่ลงไปนั่งก้นจ้ำเบ้า ผมถือรองเท้าสเก๊ตหักพังนั้นไปที่ร้านของเล่นที่ซื้อมา แน่นอนว่านอกจากเขาจะไม่รับผิดชอบใดๆ แล้ว ยังดุเอาอีกว่า เล่นประสาอะไรให้มันหักได้ ให้เจ็บใจเล่น

Advertisement

แม้ยังเป็นเด็ก แต่ในตอนนั้นผมก็คิดว่าการที่คนขายเอาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาขายมันไม่น่าจะถูกต้อง และก็มาคิดได้อีกครั้งเมื่อโตขึ้นอีกหน่อยว่า อย่างน้อยก็ดีที่รองเท้าสเก๊ตนั้นสำแดงคุณภาพเสียตั้งแต่ครั้งแรกที่ใส่ หาไม่แล้วเกิดมันไปทำพิษเอาตอนที่ผมปีกกล้าขาแข็งเอาไปแล่นไถลในซอยบ้าน ดีไม่ดี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ผมรู้จักไปแล้ว

ที่เล่ามานี้เพื่อจะเข้าไปสู่ข่าวเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมพ่อค้าสเก๊ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก๊ตด้วยข้อหาขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 16

อาจจะเพราะข่าวนี้เกิดขึ้นติดๆ กับข่าวเจ้าหน้าที่สรรพสามิตล่อจับแม่ค้าน้ำส้ม ซึ่งเป็นกรณีที่ค่อนข้างเทาเข้มเกือบดำเลยทีเดียว ทำให้ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไหลปนกันอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการค้าขายเป็นไปด้วยความยากลำบากเต็มไปด้วยอุปสรรคอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับไปทำให้มันยากขึ้นอีก ราวกับจะไล่ต้อนให้ผู้ค้ารายย่อยถอยไปใกล้ปากเหวเข้าไปทุกที

ทั้งก็จริงอยู่ว่าปัญหาหนึ่งของระบบกฎหมายไทย คือการที่เราใช้ระบบ “อนุญาต” หรือ “อนุมัติ” กันจนเกินสมควร ภายใต้ทรรศนะแบบเดิมที่มองว่า โดยปกติแล้ว ประชาชนจะกระทำการใดเป็นพิเศษขึ้นมาไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากทางการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ระบบอนุญาตและอนุมัติของเราซ้ำซ้อนและแทบไม่เคยทบทวนถึงความจำเป็นของมัน

เป็นปัญหาเสียจนกระทั่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังยอมรับ จนต้องไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม ว่า “รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

เพื่อการนี้ ต้องมีการตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน” ขึ้นมาเพื่อการยกเลิกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ไม่มีความจำเป็นหรือที่เรียกว่าการทำ “กิโยตินกฎหมาย” (Regulatory Guillotine) ซึ่งก็ได้เริ่มงานกันไปหลายส่วนแล้ว

แต่เรื่องของการขายเซิร์ฟสเก๊ตนี้ออกจะแตกต่างกันออกไป เพราะมันคือการปะทะกันที่ขอบแดนระหว่างสิทธิกับเสรีภาพคู่หนึ่งที่มี “ฝ่ายรัฐ” เป็นกรรมการ นั่นคือ “เสรีภาพในการประกอบอาชีพ” กับ “สิทธิของผู้บริโภค”

อันที่จริงแล้ว สิทธิและเสรีภาพไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม มันเหมือนการกั้นรั้วลงไปบนพื้นที่ว่างเปล่าพื้นที่หนึ่งเพื่อแบ่งพื้นที่นั้นเป็น “สิทธิ” และ “เสรีภาพ”

หากดันรั้วออกจากแนวฝั่งใด ฝั่งนั้นย่อมจะกว้างขึ้น แต่อีกฝั่งหนึ่งก็จะแคบลงเสมอ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเผยแพร่ หากมากไปก็จะรุกรานในสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียง แต่ถ้าเราจะคุ้มครองสิทธิประการหลังมากขึ้น เสรีภาพประการแรกก็ย่อมลดถอยลง เรื่องนี้ใครเคยไปถ่ายรูปในประเทศที่คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลสูงมากๆ คงจะนึกออกว่าการถ่ายรูปโพสต์ภาพของเรานั้นต้องระมัดระวังที่จะไม่แสดงหน้าบุคคลที่ชัดเจนเห็นได้อย่างไร

เสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือการประกอบธุรกิจก็เช่นกัน หากเรากั้นรั้วให้เสรีภาพด้านนี้กว้าง สิทธิของผู้บริโภคก็จะแคบลง ถ้าเราอนุญาตให้ใครใคร่ค้าอะไรก็ค้า ขอแค่อย่าเอาเป็นของที่มีไว้ก็ผิดกฎหมายชัดแจ้ง (เช่น อาวุธปืนหรือยาเสพติด แต่อันหลังชักไม่ค่อยแน่ใจเสียแล้ว) ก็พอ เช่นนี้ก็ย่อมเสี่ยงที่จะมีเด็กสักคนซื้อรองเท้าสเก๊ตไปใส่เล่นแล้วล้อหลุดหัวร้างข้างแตกได้ อุปกรณ์เซิร์ฟสเก๊ตเช่นกัน มิตรสหายในวงการให้ข้อมูลมาว่า อุปกรณ์ในการเล่นกีฬาประเภทนี้จะต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับหนึ่ง เพราะถ้าเสียสมดุลเพราะอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานในขณะที่เล่นนิดเดียวผู้เล่นก็เจ็บได้หนักเบาตามแต่โชคแต่ดวง

หรือตัวอย่างสลดที่เราอาจจะเคยอ่านผ่านตาในข่าวชาวบ้านกันบ่อยๆ คือมีผู้เสียชีวิตจากการไปซื้อสายชาร์จหรือตัวแปลงไฟไม่ได้มาตรฐานมาต่ออุปกรณ์โทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแล้วชอร์ตเสียชีวิตในตอนที่เอามือไปแตะต้องตามปกติ ซึ่งถ้าเป็นสายหรือตัวแปลงที่ได้มาตรฐานสักหน่อยก็จะไม่ทำอันตรายได้ขนาดนั้น และที่น่าเจ็บใจคือ ไอ้อุปกรณ์เสริมไม่ได้มาตรฐานที่ใช้แล้วถึงตายนั้นก็ไม่ได้ราคาถูกไปกว่าของที่ได้มาตรฐานเลย เรียกว่าเป็นการสุ่มหยิบตายบนแผงขายสินค้าโดยแท้

เช่นนี้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานอุตสาหกรรม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และการควบคุมฉลากจึงไม่ใช่กฎหมายที่ไร้สาระหรือสร้างภาระให้แก่ประชาชนจนเกินพอดีไปเสียทีเดียว แต่สำหรับเรื่องของเจ้าหน้าที่สรรพสามิตไปล่อซื้อและประเมินอากรเอาแก่แม่ค้าน้ำส้มที่เป็นเหมือนกิจการในครัวเรือนนั้นออกจะเข้าใจได้ยาก เพราะสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้เข้ารัฐ มิใช่ผู้ควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือตรวจตราสุขอนามัย

และการประเมินว่ากิจการใดเป็นกิจการในครัวเรือนหรือเป็นอุตสาหกรรมนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่หน้าที่ของท่านหรือไม่

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า หากเลือกคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพด้านใด ก็เท่ากับไปบีบจำกัดแดนแห่งสิทธิหรือเสรีภาพที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่นเดียวกับการรักษาสิทธิของผู้ประโภคมากเกินไป ก็เป็นหน้าที่ไปตกลงแก่ผู้ประกอบการที่สุจริตจะต้องรับภาระเกินสมควรหรืออาจเกิดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าควบคุมน้อยไปสิทธิของผู้บริโภคก็จะถูกกระทบกระเทือน และอย่างที่ยกตัวอย่างไปคือ บางเรื่องหากเกิดความผิดพลาดแล้วมันถึงแก่ชีวิตและร่างกายได้เช่นกัน รัฐคือผู้มีหน้าที่รักษารั้วที่แบ่งระหว่างสองพื้นที่นี้ และต้องหมั่นขยับรั้วให้เหมาะสมตามแต่กรณี ไม่ให้กินเข้าไปในพื้นที่ด้านใดมากเกินไป

หากก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ในสภาวะตอนนี้ถือเป็นสภาวะอันไม่ปกติเท่าไรจากภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจไปต่อไม่ได้ มีคนตกงานต้องออกมาหาอะไรขายหรือสร้างงานเลี้ยงชีพ เช่นนี้การ “รักษาพื้นที่” ระหว่างสิทธิของผู้บริโภคกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพค้าขายก็ยากขึ้นไปอีก หากเจ้าหน้าที่รัฐจะพิจารณามองผู้ประกอบการด้วยจิตใจที่มีความเห็นอกเห็นใจหรือเอ็มพาธีบ้าง

ทั้งการค้าในสมัยทุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยที่ผมไปซื้อรองเท้าสเก๊ตหรือที่ท่านผู้ใหญ่เพิ่งเริ่มรับราชการ หรือแม้แต่เมื่อเทียบกับสัก 15 ปีที่แล้วก็ยังไม่ได้ กระแสทุกวันนี้มาเร็วไปเร็ว บางครั้งการขายของช้ากว่าคนอื่นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็ถือว่ามาสายเกินไปแล้ว ไม่นับว่าก่อนจะขายได้ก็ต้องมีการเตรียมตัวสั่งของซื้อของรับพรีออเดอร์ ความไม่แน่นอนของกระแสวูบวาบระดับตลาดวายได้ในครึ่งเดือน ประกอบกับภาวะบีบคั้นด้วยข้อจำกัดจากปัจจัยควบคุมไม่ได้เช่นโควิด-19 ย่อมทำให้ผู้ค้าผู้ขายอาจจะไม่ได้ศึกษาตระเตรียมการเรื่องการขออนุญาตหรือดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง ทั้งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่รู้กฎหมายซึ่งออกจะเป็นกฎหมายเชิงเทคนิคด้วย จริงอยู่ว่าความไม่รู้กฎหมายไม่ใช่ข้อแก้ตัวเมื่อถูกดำเนินคดีเป็นหลักของกฎหมายอาญา แต่มาว่ากันตามความเป็นจริงเถิด หากผู้อ่านท่านใดทำงานในแวดวงกฎหมาย ใครตอบได้โดยไม่
ต้องเปิด Google บ้างว่าพระราชบัญญัติกักเรือ มาตรา 8 เป็นเรื่องอะไร? แล้วนับประสาอะไรกับประชาชนคนธรรมดาผู้ค้าขาย

เช่นนี้ถ้าเรามองในแง่ของเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือการมีกฎหมายที่แท้จริงแล้ว ก็สมควรที่จะมาทบทวนกันว่า มันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีวิธีการควบคุมอย่างอื่นที่ทำให้ผู้บริโภคได้ซื้อหาสินค้าที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะซื้อไปเล่นหัวหรือใช้งาน ในทางเดียวกันก็ไม่เป็นภาระหรือสร้างความยากลำบากซ้ำเติมลงไปให้ผู้ค้ารายย่อยอีก

หรือจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยการจับกุมดำเนินคดีในทุกกรณี มีวิธีอื่นหรือไม่ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรักษาเสรีภาพของผู้ค้าขายอยู่ได้ตามสมควร แต่เรื่องที่แย่คือความพยายามใช้วิธีการอันไม่ชอบธรรมในการหาวิธีหลอกล่อให้ประชาชนที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตชั่วร้ายอะไรเลยต้องพลาดทำผิดกฎหมาย หรือสร้างพยานหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น

อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะประชาชน อำนาจที่มีก็คืออำนาจที่ใช้แทนประชาชนเพื่อการดำรงอยู่ซึ่งระบบของรัฐและสังคม ในที่สุดเมื่อท่านเองกลับบ้านมาถอดเครื่องแบบก็คือประชาชนเช่นกัน

อย่าบีบคั้นโดยอำนาจให้พวกเขารู้สึกว่าพวกท่านเป็นศัตรู ที่มาซ้ำเติมในตอนที่ยากลำบากเดือดร้อนถึงที่สุดเลย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image