เมื่อรัสเซียกลายเป็นเพื่อนสนิทของพม่า

มิน อ่อง ลาย และอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระหว่างผู้นำกองทัพพม่าไปเยือนรัสเซีย, 26 มีนาคม 2021

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองในพม่า กองทัพพยายามหาพันธมิตรเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร และความจำเป็นที่กองทัพจำเป็นต้องกำจัดอิทธิพลของรัฐบาลพลเรือนและกลับเข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง หลังพม่ามีช่วงทดลองประชาธิปไตย (แบบครี่งๆ กลางๆ) ได้เพียง 5 ปี ภายใต้การนำของพรรค NLD อย่างไรก็ดี ด้วยการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขัน และผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศที่เลือกจะยืนเคียงข้างพม่าทำได้เพียงยอมรับรัฐบาลรัฐประหารพม่าแบบอ้อมๆ ไม่มีประเทศใด แม้แต่รัฐบาลไทยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มองกองทัพพม่าของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ว่าเป็นเหมือนพี่เหมือนน้องแท้ๆ และความสัมพันธ์ของกองทัพทั้ง 2 ประเทศไม่เคยแน่นแฟ้นเท่านี้มาก่อน แต่ในฐานะที่ไทยยังต้องพึ่งพาประเทศมหาอำนาจทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน หรือสหภาพยุโรป ทำให้ไทยไม่สามารถ “ออกตัวแรง” ในกรณีพม่าได้ ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งล่าสุด ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้นานาชาติห้ามขายอาวุธให้เมียนมา แม้จะมีเบลารุสเพียงชาติเดียวที่ออกโรงสนับสนุนให้ทุกชาติขายอาวุธให้พม่าได้ แต่ไทยก็เป็นหนึ่งใน 36 ชาติที่งดออกเสียง การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้มีความสำคัญมาก ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดในปี 1991 สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเคยประณามรัฐประหารไปเพียง 3 ครั้ง คือ รัฐประหารที่เฮติในปี 1991 บุรุนดีในปี 1993 และล่าสุดรัฐประหารในฮอนดูรัสปี 2009 การมีมติหรือการ “เทคแอ๊กชั่น” เพื่อรณรงค์ไม่ให้ชาติสมาชิกขายอาวุธให้พม่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเราไม่เห็นสหประชาชาติมีท่าทีที่รุนแรงและเด็ดขาดแบบนี้บ่อยนัก และยังมีความสำคัญสำหรับพม่าเพราะกองทัพพม่ารู้ดีว่าพวกเขาจะมีมิตรให้พูดคุยและระบายความคับข้องใจได้น้อยลง

ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ชาติมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์ในพม่า ทั้งจีนและรัสเซียก็เลือกงดออกเสียง รัสเซียเป็นประเทศที่มีจุดยืนสนับสนุนรัฐประหารในพม่าอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่ต้น รัสเซียไม่ได้แคร์ว่าอนาคตของพม่าจะเป็นอย่างไรหรือจะเกิดความรุนแรงกี่มากน้อยในพม่า สิ่งที่รัสเซียสนใจมากที่สุดคือการทำการค้ากับกองทัพพม่าต่อไป โดยเฉพาะการขายอาวุธ ท่าทีของผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่ากับรัสเซียก็น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา มีการพบกันระหว่างผู้นำกองทัพพม่ากับผู้นำระดับสูงของรัสเซียแล้วหลายครั้ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ไปเยือนรัสเซีย และได้เข้าพบอเล็กซานเดอร์ โฟมิน (Alexander Fomin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นคนในรัฐบาลรัสเซียคนเดียวกับที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่าที่เนปยีดอในเดือนมีนาคม จากนั้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าก็ได้รับเชิญให้ไปพบปะบรรดาวีไอพีในกองทัพรัสเซีย เช่น นิโคไล ปาตรุสเชฟ (Nicolai Patruschev) เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย และอเล็กซานเดอร์ มีคีฟ (Alexander Mikheev) ประธานบริษัท Rosoboronexport บริษัทผลิตอาวุธและยุทธภัณฑ์ของรัฐบาลรัสเซีย นิวไลท์ออฟเมียนมา หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลเมียนมา ให้เหตุผลการเข้าพบทั้งปาตรุสเซฟและมีคีฟว่ากองทัพพม่าต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างรัฐบาลและกองทัพของสองชาติไว้

การพบกันระหว่างมิน อ่อง ลาย และปาตรุสเซฟยังมีเรื่องการที่นานาชาติเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของพม่า และการร่วมมือกันในประเด็นที่เกี่ยวกับ “ความมั่นคงระดับภูมิภาค” การหารือระหว่างผู้แทนกองทัพของพม่าและรัสเซียมีจุดมุ่งหมายที่การค้าอาวุธเป็นหลัก บริษัท Rosoboronexport เป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกอาวุธที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของ นอกจากหน้าที่จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพทั่วโลก (โดยมากในประเทศโลกที่สามที่ยังมีรัฐประหารและการปราบปรามผู้คิดต่างทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตร Rosoboronexport ตั้งแต่ปี 2015 โทษฐานขายอาวุธให้อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย จุดมุ่งหมายของการไปเยือนมอสโกครั้งนี้ของมิน อ่อง ลาย ค่อนข้างชัดเจนว่ากองทัพพม่าต้องการซื้ออาวุธจากรัสเซียเพิ่ม เปรียบเสมือนการตอบโต้มติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ต้องการให้ทุกชาติเลิกขายอาวุธให้กองทัพพม่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ตัวแทนกองทัพพม่าเดินทางไปเยือนรัสเซียบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเอก หม่อง หม่อง จอ ก็เคยเดินทางไปมอสโกเพื่อร่วมงานแสดงโชว์เฮลิคอปเตอร์ HeliRussia มาแล้ว

Advertisement

ระหว่างปี 1999-2018 กองทัพพม่าซื้ออาวุธจากรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 39 ของการซื้ออาวุธทั้งหมดของกองทัพพม่า เมื่อไม่นานมานี้พม่าเพิ่งซื้อเครื่องบินซุคฮอย ซู-30 (Sukhoi Su-30) อันเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีสองที่นั่งไป 6 ลำ ในปี 2019 มูลค่ารวมราว 180-240 ล้านเหรียญ และก่อนเกิดรัฐประหารไม่นาน กองทัพพม่าก็เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อโดรนลาดตระเวนไปชุดใหญ่ และระบบขีปนาวุธป้องกันทางอากาศพิสัยใกล้ Pansir-S1 ไปหมาดๆ

นโยบาย “มองไปทางเหนือ” ของพม่ามีจุดหมายชัดเจนคือกองทัพพม่าต้องการ “เพื่อนที่ดี” แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่ากับรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยก็ถูกกดดันอย่างหนักจากภาคประชาสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ การแอบส่งเสบียงเข้าไปช่วยกองทัพพม่ารบในฝั่งพม่ากลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ยิ่งทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลไทย หากเป็นเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว การส่งอาวุธหรือเสบียงเข้าไปช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรบในพม่าเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลไทยทำมาเนิ่นนาน ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยที่ปัจจุบันรับศึกหลายด้าน ทั้งเรื่องสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมาก และข่าวลือว่าอาจจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ วันนี้ ผู้นำกองทัพพม่าอาจจะประเมินแล้วว่าหากจะเลือกคบเพื่อนที่ผลประโยชน์ (friends for benefit) ก็ควรเลือกคบเพื่อนที่มีศักยภาพเพียงพอ มีรัฐบาลที่มั่นคง และเพื่อนที่พร้อมจะช่วยเหลือพม่าทุกเมื่อ ขอแค่ยื่นเงินไปให้

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการที่นายพลพม่าเดินทางออกจากประเทศเพื่อไปเยือนรัสเซียหลายครั้งในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นสัญญาณที่พม่าส่งให้ตะวันตกว่าพวกเขาไม่สนใจว่าชาติตะวันตกจะคว่ำบาตรพม่า เพราะอย่างน้อยพวกเขายังมีรัสเซียที่อ้าแขนต้อนรับพวกเขาอย่างดี สำหรับรัสเซีย นอกจากผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินแล้ว รัสเซียยังต้องการมีบทบาทในมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จีนคือชาติมหาอำนาจหลักที่มียุทธศาสตร์เกี่ยวกับมหาสมุทรอินเดียชัดเจนที่สุด

ก่อนหน้านี้ หลายคนประเมินว่าจีนจะเป็นชาติสำคัญที่สุดที่จะเข้ามาช่วยเหลือพม่า แต่เนื่องจากพม่าไม่เคยไว้ใจจีน ทำให้ต้องขึ้นเหนือไปเพื่อหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่อย่างน้อยจะไม่ยกทัพมารุกรานพม่าหากเกิดข้อพิพาทใดๆ ขึ้น และรัสเซียคือชาติที่ตอบโจทย์ของกองทัพพม่าได้ดีที่สุดในเวลานี้

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image