ข้อเสนอผันเงินกู้ห้าแสนล้านบาท ให้ชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการ

ข้อเสนอกรณีเงินกู้ใหม่ ปี 2564 อีกจำนวน 500,000 ล้านบาท ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น เห็นว่าการนำเงินกู้ไปใช้จ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมนั้น รัฐบาลต้องกระจายอำนาจ ให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเงินกู้ โดยเฉพาะการผันเงินตรงไปให้จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชน ซึ่งจะคล้ายๆ กับการบริหารจัดการเงินผันหรือเงินการสร้างงานในชนบท (กสช.) ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และธุรกิจชุมชน รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนต่างๆ ได้มากกว่า และดีกว่ารวมศูนย์อำนาจ

ทั้งนี้ เพราะเห็นบทเรียนการบริหารจัดการเงินกู้จำนวน 1.1 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา (2563) ซึ่งปรากฏชัดว่าการรวมศูนย์การบริหารจัดการไว้ที่รัฐบาลโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กลั่นกรองและพิจารณาโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่ขอรับงบประมาณนั้น พบว่ายังมีปัญหามาก ทั้งในเรื่องกระบวนการจัดทำโครงการส่งให้ส่วนกลาง การอนุมัติโครงการ การเบิกจ่ายเงินในโครงการต่างๆ มีความล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายและที่สำคัญในแผนงานการลงทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและชุมชนเบิกจ่ายไม่ถึงร้อยละ 50 ของวงเงินทั้งหมด จำนวน 400,000 ล้านบาท ทั้งในการสร้างงานและจ้างงานของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ซึ่งทำให้ประชาชนเสียโอกาสและไม่ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ดังกล่าวตามวัตถุประสงค์

ดังนั้นผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการเงินกู้ทั้งการอนุมัติเงินและการใช้จ่ายเงินให้ถึงมือประชาชนที่ถูกกระทบนั้น ดูจะอืดอาดชักช้า เพราะทุกอย่างรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและส่วนราชการ ซึ่งเมื่อมีการทบทวนการตั้งของบประมาณจากโครงการเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท ทั้ง 3 แผนงาน ทั้งแผนงานการแพทย์และการสาธารณสุข แผนงานการช่วยเหลือเยียวยาชดเชย และแผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ได้รวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจการอนุมัติเรื่องโครงการไว้ที่ส่วนกลาง ที่สภาพัฒน์ทั้งหมด ส่วนชุมชน ท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานต่างๆ เป็นเพียงผู้จัดทำคำขอโครงการให้กับหน่วยงานในสังกัด เพื่อรวบรวมส่งให้สภาพัฒน์พิจารณาเท่านั้น โดยคณะกรรมการกลั่นกรองส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นที่มาของความผิดพลาดในการบริหารจัดการเงินกู้ การใช้เงินกู้ที่มีเส้นทางเดินของการขอใช้ตั้งแต่ต้นทางชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นต้นทางผู้จัดทำโครงการ ซึ่งต้องจัดทำโครงการเพื่อส่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวบรวม กว่าจะถึงปลายทาง (สภาพัฒน์) แล้วแจ้งลงมาให้ต้นทางทราบเพื่อไปดำเนินการนั้น ต้องใช้เวลามากจนเกินไป ดูจะไม่ทันการณ์

ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเงินกู้ปี 2564 จำนวน 500,000 ล้านบาทใหม่ โดยให้กระจายอำนาจผันเงินหรือจัดสรรเงินไปให้ 3 ส่วน กล่าวคือ (1) ผันเงินไปให้จังหวัด (2) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และ (3) ผันเงินไปให้องค์กรชุมชน เพื่อให้เขาได้บริหารจัดการตนเองและตัดสินใจใช้จ่ายเงินตามโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนได้โดยตรงและตรงจุด ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนที่ถูกกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทันท่วงที และส่วนหนึ่งอาจจะบริหารจัดการแบบผนึกกำลังโดยการร่วมมือกันในบางแผนงานและบางโครงการและกิจกรรม กับส่วนกลางและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดหาวัคซีน และการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือในส่วนของการแพทย์ การสาธารณสุข ที่ต้องควบคุมมาตรฐาน เป็นต้น

Advertisement

จุดดีของการผันเงินหรือจัดสรรเงินไปให้จังหวัดและท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรชุมชน บริหารจัดการเงินกู้ เพราะจังหวัดและองค์กรท้องถิ่น ย่อมเป็นผู้รู้ข้อมูลและเป็นฐานข้อมูลของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนและถูกกระทบจากโควิด-19 ได้ดีกว่าส่วนกลาง และสามารถตอบสนองปัญหาและการจัดการปัญหาได้ทันท่วงที ไม่ได้จัดทำโครงการส่งขอเงินจากรัฐบาลและสภาพัฒน์ ซึ่งกว่าจะได้รับการอนุมัติก็เกิดความล่าช้า แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิธีโดยการจัดสรรเงินให้ชุมชนท้องถิ่นโดยตรง จังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง เห็นว่าจะสามารถจ้างงานสร้างอาชีพและการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้โดยตรง และสามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือน ชุมชน เอกชน ได้โดยตรงเช่นกัน

การผันเงินกู้ให้จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน เป็นการกระจายเงินกู้ไปให้มีการบริหารจัดการเงินกู้กันเอง และตัดสินใจเพื่อการช่วยเหลือประชาชน กลุ่มอาชีพต่างๆ และผู้ประกอบการในพื้นที่ของตนเองเช่นกัน ตลอดจนการหาแนวทางฟื้นฟูกระตุ้นกับเศรษฐกิจชุมชนและครัวเรือน ซึ่งเห็นว่าน่าจะทำได้ดีกว่าส่วนกลาง ทั้งยังเป็นการฝึกให้จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชน รู้จักบริหารจัดการตนเอง และบริหารเงินกู้ให้ถึงมือผู้ถูกกระทบได้เร็วที่สุดได้ ตัดตอนเงินรั่วไหลรายทางและการใช้ระยะเวลาจัดทำโครงการ อนุมัติโครงการให้น้อยลงมากที่สุด

โดยให้รัฐบาลส่วนกลางและสภาพัฒน์ ควรเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการช่วยเหลือประชาชนมาตรฐานการปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบาย รวมทั้งต้องมีการติดตามผล ติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยอาจจะประเมินผลศักยภาพของความรู้ความสามารถในแต่ละหน่วยจังหวัดและองค์กรท้องถิ่นที่มีการนำเงินไปใช้ให้เกิดผลประโยชน์และเรียนรู้ถึงความแตกต่างกันในแต่ละแห่งมีมากน้อยเพียงใด มีความโปร่งใสในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

Advertisement

ผมจึงเห็นว่า การผันเงินกู้ให้จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรชุมชน เป็นวิธีการที่ทำให้เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เป็นการกระจายเงินกู้ให้ถูกใช้จ่ายถึงมือประชาชนผู้ถูกกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากที่สุด ทั้งการช่วยเหลือเยียวยาและการฟื้นฟู การกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ได้ดีที่สุดกว่าการรวมศูนย์อำนาจ ไว้ที่ส่วนกลางอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะกล้าตัดสินใจเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำหรือไม่

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image