ข้อคิดจากมหายาน

ในปี พ.ศ. 2519 ผมได้ช่วยงานของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ซึ่งมีบทบาททางด้านสันติวิธีและสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์หลังรัฐประหาร 6 ตุลา และการเข้าป่าของคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ยอมรับว่าผมรู้เรื่องศาสนาน้อย แต่เห็นด้วยว่าควรใช้อุดมการณ์ศาสนาเพื่อช่วยสังคม เวลาผ่านไปนานปี ความรู้เรื่องศาสนาของผมไม่ได้ดีขึ้นเท่าไร เพียงแต่เริ่มสนใจเรื่องสติปัฏฐานสี่ที่เป็นหลักปฏิบัติหนึ่งของฝ่ายเถรวาท และสนใจคำสอนของท่านพุทธทาสเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่า

สรรพสิ่ง ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา สรุปย่อว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” สิ่งทั้งปวงไม่มีตัวตนของมันเอง แต่เกิดขึ้นได้เพราะอิงอาศัยปัจจัยอื่น ไม่ทราบว่าอิทัปปัจจยตานั้นตรงกับคำสอนของฝ่ายมหายานในเรื่องศูนยตามากน้อยเพียงใด

มหายานสอนในเรื่องการเป็นพระโพธิสัตว์ ผมลองนึกถึงว่าใครเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ที่นึกได้มี อาทิ องค์ทะไลลามะ ท่านติช นัท ฮันห์ และธรรมาจารย์เจ้งเอี๋ยนผู้ก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ ท่านนัท ฮันห์มักสอนเรื่อง interbeing ที่หมายถึงสภาวะอิงอาศัยกันและกัน ที่ความหมายคล้ายกับอิทัปปัจจยตา ท่านให้คำอุปมาว่า ดูกระดาษแผ่นนี้ซิ เห็นความเชื่อมโยงกับต้นไม้ ดวงอาทิตย์ เมฆ สายฝน ฯลฯ ไหม สิ่งต่าง ๆ ล้วนอิงอาศัยกันและกัน แต่คนทั่วไปมักมองอะไรเป็นคู่ แต่ทั้งท่านพุทธทาสและท่านนัท ฮันห์บอกว่าเราไม่ควรแยกเป็นขั้วตรงกันข้าม การอิงอาศัยคือการอยู่ด้วยกัน เหมือนหน้ามือกับหลังมือ มือซ้ายกับมือขวา การเกิดกับการตาย วัฏสงสารกับนิพพาน การไม่แยกกันชวนให้เราฝึกที่จะมีความกรุณาทั้งแก่ตัวเราและผู้อื่น ชวนให้เราฝึกการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้มีสัมปชัญญะที่แผ่กว้าง รับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างคมชัด (มีสติ) และเปิดกว้าง (มีสัมปชัญญะ) สู่ความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ แบบอทวิภาวะนั่นเอง

ความน่าสนใจของมหายานคือคำสอนให้รับใช้สังคม ผมได้มีโอกาสอ่านพระสูตรที่สำคัญเล่มหนึ่งของฝ่ายมหายานชื่อ “วิมลเกียรตินิรเทศสูตร” ที่มีคำสอนน่าสนใจหลาย ๆ เรื่อง บางเรื่องคงเขียนขึ้นเพื่อหวังโต้แย้งความเชื่อที่แพร่หลายในสมัยศตวรรษที่ห้าหลังพุทธกาล แม้ศาสนาสอนเรื่องความเสมอภาค แต่ในทางปฏิบัติ มักยกย่องเพศบรรพชิตเหนือเพศฆราวาส และวางสถานภาพของหญิงไว้ให้ด้อยกว่าของชาย พระสูตรดังกล่าวได้โต้แย้งทั้งสองเรื่องนี้ไว้อย่างแยบคาย โดยชี้ให้เห็นว่าฆราวาสสามารถเข้าถึงพระธรรมได้อย่างลึกซึ้ง และสภาพธรรมย่อมปราศจากความเป็นหญิงชาย

Advertisement

วิมลเกียรติเป็นพระโพธิสัตว์ที่เลือกมาเกิดในพุทธเกษตรของพระพุทธศากยมุนีเพื่อช่วยโปรดสัตว์จำนวนมากที่อยู่ในสังสารวัฏ วิมลเกียรติเป็นฆราวาสที่มีฐานะดี เป็นเศรษฐี เป็นคฤหบดีผู้ไม่หวงแหนทรัพย์สินเงินทอง พระสูตรเปิดตัวคฤหบดีผู้นี้ ดังนี้

“… ถึงแม้ว่าท่านจะไปปรากฏตัวในวงการพนัน วงการกีฬา วงการเสพสุรายาเมา วงการแสดง การละเล่นมหรสพ ดนตรี การประกวด ตลอดจนกระทั่งสำนักโสเพณี ก็เพื่ออาศัยสถานที่เหล่านั้นประกาศสัจธรรม นำพุทธธรรมไปเผยแผ่ ทั้งชี้แจงบาปบุญคุณโทษแก่ชนผู้มัวเมาในอบายมุขทั้งหลาย นอกจากนี้ท่านยังเที่ยวไปตามสำนักพาหิรลัทธิ อาศรมเดียรถีย์ และสถานสาธารณะต่าง ๆ ตามถนนหนทาง เพื่อประกาศพุทธธรรม ตัวท่านเองยืนหยัดมั่นคงในพุทธธรรม ไม่เอนเอียงไปตามหลักธรรมของลัทธิอื่น … เพื่อทำตนให้เข้ากับประชุมชนท่านจึงสมาคมกับผู้เฒ่า คนวัยกลางคนและคนหนุ่มสาว ท่านแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น … เพื่อรักษาประชาชนให้อยู่ดีกินดี ท่านจึงเข้าร่วมกับองค์การปกครองและร่วมงานกับรัฐบาล … เพื่อพัฒนาเด็ก ท่านไปเยี่ยมโรงเรียนและให้ความช่วยเหลือโรงเรียนต่าง ๆ … ท่านได้รับการยกย่องจากทหาร เพราะท่านสอนให้ทหารเห็นคุณค่าของความอดทนอดกลั้น ความกล้าหาญและความเข้มแข็ง ท่านได้รับการเคารพจากพราหมณ์และผู้ที่มีผู้ยอมรับว่าเป็นพราหมณ์ เพราะท่านเตือนให้เขาละการถือตัว และความหยิ่งผยองความอวดดี ท่านได้รับความเคารพจากข้าราชการ (อำมาตย์) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับราชการ เพราะท่านชักจูงให้เขาปฏิบัติราชการโดยใช้ธรรมะ ท่านได้รับความนับถือจากเจ้าชายและผู้ที่มีฐานะเสมอเจ้าชาย เพราะสอนให้เขาบรรเทาความมัวเมาในอิสริยยศและไอศวรรย์ ท่านได้รับการยอมรับจากนางในและมหาดเล็กในวัง เพราะท่านสอนให้คนเหล่านี้ประพฤติธรรม” เวลาผ่านไปร่วมสองพันปีหลังจากการรจนาพระสูตรนี้ แต่หลายประเด็นดูไม่ตกยุคตกสมัย

เรื่องของสถานภาพหญิงชายมีกล่าวไว้ในปริเฉทที่ 6 “เทวดาบรรพ” ในเวลานั้น เทพธิดาองค์หนึ่งอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของวิมลเกียรติ ได้โปรยทิพยบุปผาที่พอตกถึงสรีระของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็ล่วงหล่นลงบนพื้น แต่ครั้นตกถึงสรีระของพระมหาสาวกก็กลับติดแน่นไม่ล่วงหล่น แม้จะพยายามสลัดดอกไม้เหล่านั้น แต่ไม่อาจสลัดทิ้งได้ เทพธิดาถามพระสารีบุตรว่าทำไมจึงสลัดดอกไม้ทิ้ง ท่านตอบว่าไม่สมควรแก่ธรรมวินัยจึงหยิบทิ้งไป
เทพธิดากล่าวว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตรผู้เจริญ ดอกไม้ร่วงหล่นจากสรีระของพระโพธิสัตว์ เพราะพระโพธิสัตว์ตัดความคิดและการแบ่งแยกทั้งหมดได้แล้ว … ผู้ใดมีวาสนายังละไม่ได้ขาด ดอกไม้ย่อมติดแน่นอยู่ที่สรีระของเขา ผู้ใดละวาสนาได้เด็ดขาดแล้ว ดอกไม้ย่อมไม่ติดอยู่” …

Advertisement

พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนเทพธิดา เธอชอบใจยานไหนคือ สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน หรือมหายาน”

เทพธิดาตอบว่า “ถ้าจะต้องแสดงธรรมโปรดบุคคลผู้มีนิสัยเหมาะแก่สาวกยาน ดิฉันก็แสดงตนเป็นสาวกยาน ถ้าจะต้องแสดงปฏิจจสมุปบาทธรรมโปรดสัตว์ ดิฉันจะแสดงตนเป็นปัจเจกพุทธยาน ถ้าจะต้องอาศัยมหากรุณาในการโปรดสัตว์ ดิฉันจะแสดงตนเป็นพระโพธิสัตว์ในมหายาน” …

พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนเทพธิดา ทำไมเธอไม่เปลี่ยนสภาพความเป็นหญิงของเธอเสียเล่า”

เทพธิดากล่าวว่า “สิ่งทั้งปวงปราศจากสภาวะคงที่” แล้วบันดาลให้พระสารีบุตรกลายร่างเป็นเทพธิดา ส่วนนางแปลงร่างเป็นพระสารีบุตร แล้วกล่าวต่อไปว่า “ … พระคุณเจ้าไม่ใช่สตรีแต่แสดงให้ปรากฏเป็นรูปสตรีได้ฉันใด สตรีแม้จักปรากฏโดยรูปร่างว่าเป็นหญิง แต่ความจริงแล้วหาสภาวะหญิงไม่ได้ฉันนั้น สมดังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่มีสภาวะชาย สภาวะหญิง’… ธรรมทั้งปวงไม่ได้ถูกสร้างและไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง”

มาถึงยุคปัจจุบัน เรายังมีเพศบรรพชิตและเพศฆราวาสที่มีสถานภาพต่างกัน หลวงพ่อเทียนตอนเป็นฆราวาสมีชื่อว่าพันธ์ อินทผิว ท่านสอนว่า “ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด ปล่อยมันไป ทำอย่างนี้นาน ๆ เข้า สติจะเต็มสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิดที่เรียกว่าปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่า

ละเอียด” เมื่อได้เจริญสติจนสมบูรณ์ ท่านก็สอนภรรยาและผู้ใกล้ชิด และพบอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคือ ในเพศฆราวาสท่านสอนธรรมะได้ลำบาก ในเวลาต่อมา จึงได้อุปสมบทเป็นหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

สตรีคงพบอุปสรรคข้อหนึ่งต่อการปฏิบัติธรรมและสอนธรรมะในประเทศไทย ได้แก่การไม่ยอมรับสถานภาพของภิกษุณีในฝ่ายเถรวาท เป็นได้เพียงแม่ชี ที่ปกติไม่ถือว่าเป็นนักบวช ยกเว้นให้ถือเป็นนักบวชเพียงเพื่อตัดสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง

ในฝ่ายมหายาน มีการบวชเป็นภิกษุณีได้ ดังตัวอย่างของธรรมาจารย์เจ้งเอี๋ยนผู้ก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ ผู้ทำคุณประโยชน์และช่วยเหลือเจือจานผู้คนมากมายในไต้หวัน

ผมนึกถึงฆราวาสผู้ทำประโยชน์แก่สังคมไทยในวงกว้าง ผมนึกได้ถึงพวกหมอ ท่านแรกคือหมอประเวศ วะสี ผู้บุกเบิกหลายต่อหลายโครงการในแวดวงสาธารณสุข รวมทั้งชี้แนะสังคมไทยในยามมืดมน โดยเฉพาะในการคิดเชิงบวกและเชิงระบบ ผมนึกถึงหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิกโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค อันที่จริง มีหมอที่ช่วยสังคมอีกมากที่ไม่ขอเอ่ยนามหรือไม่รู้จัก ที่กำลังบำเพ็ญบารมีพระโพธิสัตว์อยู่ก็ว่าได้

แล้วในอาชีพอื่นเล่า ผมนึกถึงนักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายหลังน่าจะศึกษา วิจัย พัฒนาแก่นแกนความคิดในการลดความยากจนอันเป็นความทุกข์ของคนจำนวนมาก ฝ่ายแรกมีศักยภาพที่จะสร้างนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่คนหมู่มาก น่าเสียดายว่าจากการสำรวจความคิดเห็นทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ พบว่านักเศรษฐศาสตร์ได้รับความเชื่อถือน้อยมาก ประมาณ 25 % จะมากกว่าก็แต่เพียงนักการเมือง

เราควรจะโทษผู้มีอาชีพทั้งสองกลุ่มนี้สำหรับความไม่ดีงามที่เกิดแก่สังคมไทยกระนั้นหรือ นี่ดูจะทำกันอยู่และดูจะง่ายไปหน่อย ถ้าเศรษฐศาสตร์สำคัญ พลเมืองก็ไม่ควรปล่อยให้การเลือกทางเศรษฐกิจของประเทศชาติตกอยู่ในลำพังการชี้แนะของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทั้งที่ใช้ได้และไม่ได้ ในขณะดียวกันก็ไม่ควรปล่อยให้การตัดสินใจทางการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองที่เราไม่ค่อยจะไว้วางใจมิใช่หรือ ดังนั้น พลเมืองควรจะเอาใจใส่และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถ้านโยบายไม่ดีควรโทษตัวเราเองด้วย

การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจการสาธารณะ จะเรียกว่าเป็นแนวทางของพระโพธิสัตว์ในสมัยนี้ได้หรือไม่

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image