From Russia with(out) Love

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เดินทางกลับจากการไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ, 27 มิถุนายน 2564 (ภาพจาก The Global New Light of Myanmar)

ข่าวการไปเยือนรัสเซียของผู้นำกองทัพพม่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ยังคงได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้นำพม่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหารหรือฝ่ายพลเรือน ไม่ปรากฏตัวให้สื่อเห็นบ่อยนัก ยิ่งการให้สัมภาษณ์กับสื่อด้วยแล้วยิ่งเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในการไปเยือนรัสเซียในครั้งนี้ ผู้นำกองทัพพม่าใช้เวลาอยู่ในมอสโกถึง 1 สัปดาห์เต็ม เป็นการไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ (และยาวนาน) ที่มีนัยสำคัญหลายประเด็นดังที่ผู้เขียนกล่าวถึงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของกองทัพและคณะรัฐประหาร รายงานว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ได้เข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงนานาชาติครั้งที่ 9 (MCIS-2021) ที่จัดขึ้น ณ กรุงมอสโก เป็นเวลา 3 วัน ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือนสำคัญๆ ของรัสเซีย รวมทั้งไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพูดคุยและเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลและกองทัพของทั้งสองประเทศ ไฮไลต์ของการไปรัสเซียครั้งนี้อยู่ที่การหารือเรื่องเทคโนโลยีทางการทหาร การเจรจาซื้ออาวุธ ด้านการวิจัย การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านวัฒนธรรม รัสเซียต้อนรับขับสู้พม่าอย่างดีแม้ผู้นำกองทัพพม่าเดินทางถึงเนปยีดอแล้ว เอกอัครทูตรัสเซียนิโคไล ลิสโตปาดอฟ และคณะก็มารอต้อนรับคณะของมิน อ่อง ลาย ด้วยตัวเอง

ในการไปเยือนรัสเซียครั้งนี้ ผู้นำกองทัพพม่าได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Sputnik และ RT ของรัสเซีย แม้เขาจะเคยให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่ๆ ทั้งของตะวันตกและพม่ามาหลายสำนัก โจนาฮ์ ฟิชเชอร์ (Jonah Fischer)อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำพม่า ก็เคยสัมภาษณ์มิน อ่อง ลาย มาแล้วในปี 2015 แต่บรรยากาศในตอนนั้นเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ที่ต่อมาพรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ผู้เขียนจำได้แม่นยำว่าเมื่อฟิชเชอร์ถามผู้นำกองทัพพม่าว่าหากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้ง กองทัพจะเคารพผลการเลือกตั้งหรือไม่ พลเอกอาวุโสตอบทันทีว่าใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม กองทัพก็จะยอมรับผลการเลือกตั้งแบบไม่มีเงื่อนไข ผู้อ่านลองจินตนาการกลับมาที่เหตุการณ์หลังรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อถูกถามถึงเบื้องหลังการรัฐประหาร ก็มักจะมีเสียงคนในกองทัพออกมาพูดว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งในปลายปี 2020 ที่พรรค NLD กวาดชัยชนะถล่มทลายเหมือนเดิมไม่มีความโปร่งใส ดังนั้นกองทัพในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองประเทศจึงต้องก่อรัฐประหาร เพื่อ “นำรัฐบาลพลเรือนที่ฉ้อฉลนี้ออกไป” จะเห็นได้ว่ากองทัพไม่สามารถหยุดยั้งความนิยมในตัวด่อ ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ได้ เมื่อสู้กันในสนามรบ กองทัพไม่สามารถต่อสู้กับพรรค NLD ได้เลย แต่เมื่อสู้กันในระบบและกฎเกณฑ์ที่ตนเองตั้งขึ้นมา กองทัพมั่นใจว่าตนจะสู้กับทุกคนและทุกฝ่ายได้อย่างแน่นอน

ทางออกของปัญหาสำหรับกองทัพคือการเซตซีโร่และต้องเอารัฐบาลพลเรือนออกไป หากในอนาคตจะมีกองทัพพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะเป็นรัฐบาลที่กองทัพควบคุมสั่งการได้ ไม่ใช่รัฐบาลที่เปรียบเหมือนสถาบันทางการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เป็นที่ศรัทธามากอย่าง NLD อีกต่อไป ในบทสัมภาษณ์กับ Sputnik มิน อ่อง ลาย กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้กองทัพต้องทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าจะมีผลกระทบตามมามากมาย บทสัมภาษณ์นี้สะท้อนสิ่งที่เป็นพื้นฐานและแนวคิดด้านความมั่นคงสำหรับคนในกองทัพพม่ามานานหลายสิบปี นั่นคือการมองว่าโลกตะวันตกคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความอยู่รอดของพม่า มิน อ่อง ลาย โทษว่าโลกตะวันตกตั้งใจ “ทำลายรัฐของเรา” และเขายังเชื่อว่าประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วง เกิดขบวนการอารยะขัดขืน ทำให้ข้าราชการทั่วประเทศนัดหยุดงานประท้วง เป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อของโลกตะวันตก ที่ต้องการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพม่า และการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงก็จะทำให้ชาติตะวันตกแทรกแซงได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นวิธีคิดของผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่า ต่อประเด็นเรื่องการล้มล้างรัฐบาลของพรรค NLD มิน อ่อง ลาย มองว่าการเลือกตั้งในปลายปี 2020 ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม การเข้ามาของคณะรัฐประหารก็เพื่อตรวจสอบขบวนการโกงการเลือกตั้ง และหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการโกงการเลือกตั้งในลักษณะนี้ขึ้นมาอีก กองทัพมุ่งมั่นที่จัดการเลือกตั้ง เมื่อรัฐประหารเข้ามาแล้ว กองทัพก็วางพิมพ์เขียวเพื่อมุ่งสู่การเลือกตั้งทันที เห็นจากการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ ที่นอกจากจะต้องจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้ว ยังมีหน้าที่สืบสวน “การโกงการเลือกตั้ง” ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดด้วย เมื่อใดก็ตามที่การพิจารณาคดีพรรค NLD เสร็จสิ้น กองทัพก็จะจัดให้มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งหมดสามารถลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ (นอกจากพรรค NLD ที่จะถูกยุบพรรค ผู้นำของพรรคจะถูกยัดข้อหาโกงการเลือกตั้ง และพรรค USDP ซึ่งเป็นนอมินีของกองทัพก็จะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า- มิน อ่อง ลาย ไม่ได้กล่าว)

ประเด็นสุดท้ายที่นักข่าวจาก Sputnik ถาม และเป็นประเด็นที่ทั่วโลกก็อยากรู้ คืออะไรจะเกิดขึ้นกับด่อ ออง ซาน ซูจี เราต้องเข้าใจก่อนว่ากองทัพพม่ามองออง ซาน ซูจี ว่าเป็นศัตรู หรือพูดได้ว่าเธอเป็นเสมือนภัยคุกคามประเภทหนึ่งที่ทำให้พม่าอยู่ในภาวะเสี่ยงถูกแทรกแซงโดยโลกตะวันตก (สังเกตว่าผู้นำกองทัพพูดถึงโลกตะวันตกเท่านั้น ไม่ได้แตะประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งกองทัพพม่าก็หวาดระแวงอยู่ไม่ใช่น้อย) ลึกๆ แล้วการแข่งขันกันระหว่างออง ซาน ซูจี กับมิน อ่อง ลาย ตลอดเวลาที่พรรค NLD เป็นรัฐบาลก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ เมื่อราว 2 ปีก่อน ผู้เขียนเคยอ้างนักวิเคราะห์การเมืองชาวพม่าคนหนึ่ง ที่ผู้เขียนคุ้นเคยและบังเอิญพาครอบครัวมาเที่ยวกรุงเทพฯ นักวิเคราะห์ผู้นี้พูดชัดเจนว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของออง ซาน ซูจี คือเธอคิดว่าทั้งตัวเธอและพรรคมีอำนาจเพียงพอที่จะควบคุมรัฐบาลได้ แม้จะมีทหารที่กองทัพแต่งตั้งให้เข้าไปนั่งในรัฐสภามากถึงร้อยละ 25 ทำให้เธอไม่เคยคิดจะหารือกับผู้นำกองทัพ เรียกว่าผู้นำ NLD กับผู้นำกองทัพไม่เคยพบปะพูดคุยกับเลย ไม่แปลกใจที่คนในกองทัพก็จะรู้สึก “หมั่นไส้” ความมั่นอกมั่นใจของพรรค NLD หลังการเลือกตั้งครั้งก่อน กองทัพส่งจดหมายเตือนรัฐบาล NLD ถึง 2 ครั้งให้พิจารณาผลการเลือกตั้งเสียใหม่ เพราะกองทัพมองว่าการเลือกตั้งมีความไม่ชอบมาพากลแน่ๆ

Advertisement

แต่ NLD ปฏิเสธ ถ้าเรามองสถานการณ์เหล่านี้แบบมุมมองจากละครหลังข่าว นี่ก็คือความขัดแย้งที่มาจากความอิจฉาริษยา และความหมั่นไส้กันระหว่างคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าตนเป็น “ผู้ใหญ่” และอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยคิดว่าตนเองเป็น “ผู้น้อย” นั่นเอง

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image