มองในมุม ‘ใจหาย’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนคนหนึ่ง ระบายความรู้สึกให้ฟังว่า “หลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงว่าด้วย ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รู้สึกเจ็บปวดมากในใจ”

เขาเล่าว่าที่เจ็บปวดเพราะเกิดความรู้สึกว่าที่ประชาชนโหวตเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงดังกล่าวกันล้นหลามนั้นเพราะ “ประชาชนเกลียดชังนักการเมืองจากการเลือกตั้ง กระทั่งยอมยกอำนาจของตัวเองไปให้คนกลุ่มหนึ่งที่ตัวเองเชื่อว่าจะคัดสรรคนที่ดีกว่านักการเมืองมาทำงานให้ประเทศ”

ความเจ็บปวดที่บาดลึกเพราะคิดว่าประชามติครั้งที่เป็น “การเลือกของประชาชน” อีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือเลือกที่จะสละ “อำนาจการเลือกตั้งของตัวเองไปให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้เลือกแทน”

ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่สละอำนาจในการเลือกผู้บริหารประเทศแบบ “ชั่วคราว” แต่เป็นการแสดงออกว่า “พร้อมที่จะทิ้งอำนาจในการเลือกนั้นอย่างถาวร” เพราะรับรู้อยู่แล้วว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นโดยมีความตั้งใจให้แก้ไขได้ยาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย”

Advertisement

เขาบอกว่าแสดงถึงว่า “ประชาชนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องการอำนาจอีกต่อไป” อย่างพูดถึง “อำนาจทางตรง” ซึ่งเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แม้แต่ “อำนาจในการเลือก” ซึ่งเป็นอำนาจทางอ้อม ประชาชนยังยอมทิ้ง ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องรับผิด

ข้อกล่าวหาที่ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกผู้แทน” กระทั่งได้คนที่ไม่มีคุณภาพ หรือกระทั่ง “เป็นพิษเป็นภัยต่อชาติ” ขึ้นมาบริหารประเทศ กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ และยอมที่จะทิ้งอำนาจในการเลือกตั้งเพื่อจะไม่ต้องรับผิดชอบกับการเลือกผิดซ้ำซาก

จึงยกอำนาจในการเลือกไปให้คนกลุ่มหนึ่งที่ประกาศตัวเองว่ามีความรู้ความเข้าใจมากกว่าทำหน้าที่แทนเสียเลย

กลายเป็น “เลือกที่จะยุติอำนาจในการเลือกของตัวเองอย่างถาวร”

นักการเมืองคนที่มาขอระบายความใจในบอกว่า เพราะเขาเกิดความคิดเช่นนี้ จึงรู้สึก “ใจบาดเจ็บรุนแรง”

เนื่องจากเขาคิดว่า “หน้าที่กับความรับผิดชอบ” จะอยู่ด้วยกันเสมอ เป็นธรรมชาติ เมื่อรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร คนคนนั้นจะรู้ว่าจะต้องรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่นั้นให้ดี ให้สำเร็จ จะต้องรู้สึกผิดเมื่อทำหน้าที่พลาด

การไม่ต้องทำหน้าที่หมายถึงไม่ต้องรับผิดชอบด้วยในที

แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกำหนดว่าให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุถึงเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังมีอำนาจที่จะไปเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าทำหน้าที่ในรัฐสภา

แต่ที่ผ่านมาประชาชนต่างรู้ว่า “ผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้นถูกลดบทบาทลงมากมาย”

ต่างตระหนักว่าเป็นการทำหน้าที่โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย เพราะผู้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศที่แท้จริงนั้นมาจาก “กลุ่มคนที่ลงประชามติชอบให้เป็นผู้เลือกแทน”

ประเทศจะรุ่งเรืองได้ ที่สำคัญที่สุดคือ “ประชาชนทุกคนจะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการนำพาการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง”

ประเทศที่ประชาชนเลือกที่จะสละการทำหน้าที่ของตัวเอง ย่อมไปสู่ความคิดที่ว่า “ไม่ต้องรับผิดชอบ” ด้วย

การยืนชมยินดีต่อการทิ้งความรับผิดชอบของประชาชน เพราะคนกลุ่มหนึ่งทำให้รู้สึกว่า “คนส่วนใหญ่ของประเทศรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชาติไม่ได้” เป็นเรื่องที่ทำให้เจ็บปวด

นั่นเป็นการระบายของนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนที่สัมผัสได้ถึงการไม่ยอมรับของประชาชนที่รุนแรงในระดับที่คนส่วนใหญ่ยอมทิ้งอำนาจในการเลือกของตัวเองไปให้คนกลุ่มหนึ่งทำแทน

ฟังแล้วได้แต่ปลอบใจว่า “มันไม่เป็นอย่างนั้นมั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่น่าจะคิดมากขนาดนั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image