จบเรื่องการแก้ไขรายมาตรา เริ่มเรื่องการแก้ไขทั้งฉบับโดย สสร.

อาจถือเป็นเรื่องดีก็ได้ที่สมาชิกวุฒิสภาแสดงออกเสียแต่เนิ่น ๆ ว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่ว่าในประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่จะเห็นด้วยก็ตาม ปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภารวม 733 คน ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมักใช้เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา ในกรณีนี้คือต้องการเสียงเห็นชอบการแก้ไขไม่น้อยกว่า 367 เสียง แต่รัฐธรรมนูญให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิกวุฒิสภาซึ่งคล้ายกับสิทธิยับยั้ง (veto) กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติว่าในบรรดาเสียงข้างมาก 367 เสียงดังกล่าว จะต้องมีเสียงจาก ส.ว. รวมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ 84 เสียง การลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่มีพรรคการเมืองเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา 13 ฉบับเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 นั้น มีค่าควรแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง

ในบรรดาร่างเหล่านั้น มีเพียงสองร่างที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 367 เสียง นั่นคือร่างของพรรคพลังประชารัฐที่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 334 เสียง และร่างของพรรคเพื่อไทยที่ให้รื้อมรดกของ คสช. ที่ได้รับ 327 เสียง ที่เหลืออีก 11 ร่างได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 367 เสียง แต่มีเพียงร่างเดียวใน 11 ร่างนี้ที่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. มากกว่า 84 เสียง นั่นคือร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประสงค์จะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม (คำว่าผสมหมายความว่ามีทั้ง ส.ส. แบ่งเขตและส.ส. บัญชีรายชื่อพรรค) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นแบบระบบคู่ขนานที่มีสมาชิกแบบผสม ที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 อย่างไรก็ดี ร่างของประชาธิปัตย์ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงสองมาตราคือ ขอแก้ไขมาตรา 83 ที่ปัจจุบันกำหนดให้มี ส.ส. แบ่งเขตจำนวน 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน มาเป็น ส.ส. แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน และขอแก้ไขมาตรา 91 ที่ปัจจุบันที่กำหนดให้จำนวน ส.ส. ทั้งหมดของพรรคใดเป็นสัดส่วนกับคะแนนเสียงที่พรรคนั้นได้รับจากทั้งประเทศ โดยนำคะแนนที่มีผู้เลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตของพรรคนั้นมารวมกันทั้งประเทศ มาเป็นการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส. เขตที่ตนรัก อีกใบเลือกพรรคการเมืองที่ตนชอบ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใด (ไม่ใช่จำนวน ส.ส. ทั้งหมดเหมือนระบบสัดส่วนในปัจจุบัน) เป็นสัดส่วนกับคะแนนเสียงที่พรรคนั้นได้รับจากทั้งประเทศ โดยนำคะแนนที่ได้จากบัตรเลือกตั้งแบบเลือกพรรคของทั้งประเทศมารวมกัน

ระบบเลือกตั้งปัจจุบันมีข้อดีคือ จำนวน ส.ส. ในสภาของพรรคพรรคหนึ่งเป็นสัดส่วนหรือสะท้อนคะแนนนิยมที่พรรคนั้นได้รับจากประชาชน ข้อเสียข้อหนึ่งคือเสียงในสภาอาจแตก มีพรรคขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้รวบรวมเป็นเสียงข้างมากค่อนข้างยาก แต่ในสไตล์การเมืองของไทย ความแตกต่างระหว่างพรรคมีน้อย มีความแตกต่างเชิงนโยบายบ้าง แต่อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ชัดเจน ยากที่จะใช้จำแนก พรรคที่ชอบŽในเชิงยุทธศาสตร์ได้ อนึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ก็ชวนมาอยู่ฝ่ายรัฐบาลได้ไม่ยาก เหมือนว่าอยู่ข้างผู้มีอำนาจย่อมดีกว่าอยู่แล้ว อุดมการณ์ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วใช้โวหารเอาตัวรอดหรือเอาตัวเด่นไปวัน ๆ อานิสงส์ของการอยู่ฝ่ายรัฐบาลคือการมีเส้นสาย รวมทั้งมีโอกาสมากกว่าที่จะดึง ความเจริญŽ มาที่เขตเลือกตั้งของตน ทั้งนี้ ไม่นับอามิสหรือประโยชน์ใกล้ตัวใด ๆ กระนั้น ระบบสัดส่วนในปัจจุบันน่าจะเอื้อต่อการพัฒนาระบบพรรคการเมือง ดังนั้นในหลักการ ผมจึงเลือกชอบระบบสัดส่วน มากกว่าระบบผสมแบบคู่ขนาน ถ้าเกรงเสียงแตกในสภา ก็สามารถกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า พรรคที่จะมีที่นั่งในสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำ ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เคยกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ 5 % (อันที่จริงควรเป็น 1 ถึง 2 % เพื่อจะได้ไม่เป็นการตัดโอกาสพรรคเล็กมากเกินไป)

ข้อดีของระบบผสมแบบคู่ขนานที่เคยใช้ในปี 2540 และ 2550 คือเรียบง่ายและเข้าใจง่ายกว่า อันที่จริงระบบสัดส่วนก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องเขียน พ.ร.ป. (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) ให้ชัดขึ้น เพื่อว่า กกต. จะได้ไม่อ้างกฎหมายเข้าข้างการตัดสินใจของตัวเองมากเกินไป อีกทั้งควรใช้บัตรสองใบเช่นเดียวกับระบบคู่ขนาน ข้อแตกต่างคือบัตรที่สองที่เลือกพรรคที่ชอบนั้น ในระบบสัดส่วนใช้คำนวณว่าแต่ละพรรคมี ส.ส. ทั้งหมดในสภาเท่าไร ส่วนในระบบคู่ขนานใช้คำนวณว่าแต่ละพรรคมี ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่าไร

Advertisement

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ารัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้ระบบคู่ขนาน ติดขัดแต่ว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับความเห็นชอบเพียงร่างเดียวนั้น ขอแก้ไขเพียงสองมาตราดังกล่าวข้างต้น แต่อันที่จริงต้องแก้อีกบางมาตรา เช่น มาตรา 86 (4) ที่ยังใช้ตัวเลข 350 ที่เป็นจำนวนรวมของ ส.ส. เขตปัจจุบัน (ไม่ใช่ 400 ที่เป็นตัวเลขใหม่) ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัด นักกฎหมายหลายคนให้ความเห็นว่า แม้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ขอแก้ไขเพียงสองมาตรา ก็อาจมีวิธีการเขียนกฎหมาย หรือการให้อำนาจใน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งที่จะต้องเขียนขึ้นใหม่นั้น ให้มาแก้ปัญหาก็เป็นได้ มี ส.ว. คนหนึ่งให้ความเห็นว่าการที่ ส.ว. ไม่รับร่างของพรรคเพื่อไทยซึ่งครอบคลุมและรอบคอบกว่า ก็เพราะมีการขอแก้มาตรา 90 เพื่อตัดข้อความที่ให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย ซึ่ง ส.ว. ไม่เห็นด้วยที่จะตัดข้อความดังกล่าวออก อันที่จริง ถ้ารับร่างของพรรคเพื่อไทยในเรื่องระบบเลือกตั้งที่ถี่ถ้วนกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วยกับร่างดังกล่าวทั้งหมด เพียงแต่เปิดโอกาสให้มีการรวมสองร่างเข้าด้วยกันในการแปรญัตติในวาระที่สอง

ในความเห็นของผม การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาเป็นรายมาตราสำหรับมาตราอื่น ๆ อีกคงจะไม่เป็นผล วุฒิสภาได้ปฏิเสธไม่รับหลักการถึง 12 ร่าง ซึ่งรวมถึงปฏิเสธการเพิ่มสิทธิพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น การประกันรายได้พื้นฐานอย่างถ้วนหน้าแก่ทุกคน เหมือนการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร่างนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 461 เสียง) การตัดสิทธิ์การเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. (ร่างขอแก้ไขมาตรา 272 นี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 461 เสียง) การตัดสิทธิ์ยับยั้งของ ส.ว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ร่างขอแก้ไขมาตรา 256 นี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 415 เสียง) ส่วนร่างการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติได้รับเสียงสนับสนุน 457 เสียง

Advertisement

เมื่อการขอแก้ไขรายมาตราดูเหมือนจะถึงทางตัน (ยกเว้นเรื่องการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปเป็นระบบผสมแบบคู่ขนาน แม้มีโอกาสไม่สำเร็จด้วยเหตุทางเทคนิค) เราจึงควรศึกษา เตรียมตัว ขับเคลื่อน การออกเสียงประชามติเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิก (สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ขออนุญาตนำมติของภาคีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมาเสนออีกครั้งดังนี้

1. หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ขอให้รัฐสภามีมติให้มีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาการใช้อำนาจตามมาตรา 166 แห่งรัฐธรรมนูญ ขอให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อถามความเห็นของประชาชนว่า เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่Ž

2. ขอให้คณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 แห่งรัฐธรรมนูญ ขอให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อถามความเห็นของประชาชนว่า เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่Ž ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้โดยไม่ชักช้า

อาจจะต้องปรับปรุงคำถามให้รัดกุมขึ้น เช่นเติมข้อความว่า ทั้งนี้ตามนัยของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนมีนาคม 2564Ž

นี่คือทางออกทางการเมือง เป็นการนับหนึ่งใหม่ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบไปกว่ากัน โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ถ้าทำทันก่อนจะยุบสภา ที่อาจมีขึ้นหลังการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง กระบวนการนิติบัญญัติก็ดำเนินไป คู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ เราจะได้ไม่เพิ่มวิกฤตการเมืองให้แก่วิกฤตโควิด ซึ่งหนักหนาสาหัสยิ่งอยู่แล้ว

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image