วิกฤตการศึกษาออนไลน์

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ที่แล้ว วาระพิจารณารายงานความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ส.ส.คอการศึกษาหลายคนอภิปราย ประเด็นความไม่ก้าวหน้าของการปฏิรูปการศึกษา น่าสนใจร่วมวงเสวนาด้วยจริงๆ
โดยเฉพาะข้อเสนอให้ทบทวนหรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 3 เมษายน 2560

คำสั่งที่ว่านี้ ให้ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค 18 ภาค และศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิดยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง บริหารแบบซิงเกิลคอมมานด์

ผลปรากฏว่าเกิดช่องว่างทางอำนาจระหว่างศึกษาธิการจังหวัดกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เพราะฝ่ายแรกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่ฝ่ายหลังสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดรายการปีนเกลียวกันหลายต่อหลายแห่ง ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้พัฒนาไปได้เท่าที่ควร ปัญหาคาราคาซังถึงวันนี้

คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาถึง 11 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ควรกำหนดโครงสร้างหน้าที่และอำนาจระหว่างศึกษาธิการจังหวัด กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาให้ชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในหน้าที่และอำนาจการสั่งการบังคับบัญชา

Advertisement

กระทรวงศึกษาธิการควรสั่งการให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษาและเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บริหารงานบุคคลและบริหารงานทั่วไป ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาโดยตรง

ส่งรายงานไปถึงรัฐบาลแล้ว ผลเป็นอย่างไร จัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มจาก 42 เขต จนครบทุกจังหวัด ส่วนเรื่องอื่นยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นี่แหละครับ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจส่วนบน เป็นหลักอีกเช่นเคย

Advertisement

ใกล้ถึงวาระที่รัฐสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่อีกไม่นานนี้ เขียนบทเฉพาะกาลให้กระทรวงศึกษาธิการไปจัดการวางโครงสร้างแก้ปัญหาให้เสร็จภายใน 2 ปี ถูกคัดค้านจากครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ให้ยกเลิกและยกร่างใหม่

ถามว่าความเคลื่อนไหวในเรื่องที่ว่ามานี้เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษา คุณภาพนักเรียน คุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน ตรงไหน และเมื่อไหร่ ยังเป็นคำถามดังก้องมาตลอด

วันที่การศึกษาไทยกำลังประสบวิกฤตเฉพาะหน้าอีกครั้งใหญ่เนื่องมาจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดห้องเรียน หันมาใช้วิธีการต่างๆ ในการเรียนการสอน จากหน้าจริงระหว่างครูกับนักเรียน มาเจอกันทางหน้าจอแทน ความเป็นจริงกำลังน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ถึงแม้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่จากสภาพปัญหาความไม่พร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ ทางด้านเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัลและระบบอินเตอร์เน็ต ครอบครัวยากจน หาเช้ากินค่ำ
พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลา การเรียนออนไลน์แทนที่จะส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสใช้เทคโนโลยี ความไม่พร้อมกลับซ้ำเติมปัญหาคุณภาพและความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก

การมุ่งความสนใจไปในเรื่องระดับนโยบาย กฎหมายโครงสร้างองค์กร ผลประโยชน์ของกลุ่มตน คนชั้นบนเป็นหลัก จะต้องไม่ดูเบามองข้ามปัญหาเฉพาะหน้า วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ของเด็ก ครู ผู้ปกครอง และโรงเรียน ต้องการความเอาใจใส่อย่างจริงจัง

เปิดเผยสภาพที่แท้จริงออกมาให้รับรู้ร่วมกัน ความรุนแรงของปัญหาความไม่พร้อมได้รับการแก้ไข ช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วอย่างไร สามารถลดลงได้มากน้อยแค่ไหน

หลังจากการปิดโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม กำลังย่างเข้าฤดูการสอบกลางภาคต้น เสียงบ่นของเด็กดังไปทั่ว

เรียนไม่รู้เรื่อง เรียนไม่ทันเพื่อน การบ้านเยอะ จะสอบออนไลน์ครึ่งเทอมกันแล้ว

ผลการประเมินคุณภาพการเรียน การศึกษาทุกระดับ ทุกระบบ ออนไลน์ ออนไซต์ ออนแอร์ ออนดีมานด์ โดยภาพรวมแล้วเป็นอย่างไร

ถ้าข้อเท็จจริงเหล่านี้รับรู้กันแต่เฉพาะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ออกมายอมรับความจริงแล้วบอกกล่าวต่อสังคม เพราะความกลัวต่างๆ นานา ผลลัพธ์จะเกิดกับเด็กในระยะยาว แต่ละภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือช่วยกันแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง

ฉะนั้น เมื่อต้องอยู่กับไวรัสโควิดต่อไปอีกนาน ทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภาควรใส่ใจหาทางแก้วิกฤตการเรียนออนไลน์เป็นการด่วน

การยกร่างกฎหมายใหม่เป็นเรื่องระยะยาว มีความสำคัญก็ตาม แต่ขณะที่ความจริงที่เผชิญอยู่ตรงหน้า กำลังร้อนแรงบานปลายต้องรีบแก้ให้เห็นผลก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image