ไทยพบพม่า : โรดแมป 5 ข้อ นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งในพม่า?

ไทยพบพม่า : โรดแมป 5 ข้อ นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งในพม่า?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า “สภาบริหารแห่งรัฐ” (State Administration Council หรือ SAC) ออกแผนการโรดแมป 5 ข้อ แต่ได้รับความสนใจจากสื่อและสังคมพม่าค่อนข้างน้อย คงเป็นเพราะไม่มีใครมองว่าแผนการใดๆ ที่ออกมาจากกองทัพและคณะรัฐประหารเป็นสิ่งใหม่ และยังเป็นโรดแมปที่เกิดขึ้นเพื่อหลักใหญ่เพียงประการเดียว คือการสืบทอดอำนาจของกองทัพ ซึ่งรวมถึงการกำจัดหรือจำกัดบทบาททางการเมืองของรัฐบาลพลเรือน เพื่อที่กองทัพจะสามารถควบคุมและสั่งการได้ เพราะกองทัพพม่าเรียนรู้จากการเข้ามาของรัฐบาลจากพรรค NLD และบารมีของ ด่อ ออง ซาน ซูจี ที่ไม่ได้เป็นเพียงนักการเมืองธรรมดาๆ แต่เธอยังมีบารมีเหลือล้นจนคนทั่วประเทศพร้อมใจเรียกเธอว่า “อะเหม่ ซุ” หรือคุณแม่ซุ ในการเมืองโลก เวลา 5 ปีอาจไม่ใช่เวลาที่ยาวนานอะไร แต่สำหรับพม่าแล้ว การปล่อยให้ NLD กุมอำนาจฝ่ายบริหารเป็นไอเดียที่ไม่ดีนัก และก่อนที่อะไรๆ จะสายไป กองทัพจำเป็นต้องกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองที่คนในกองทัพเชื่อเหลือเกินว่าสร้างความแตกแยกในสหภาพพม่า และหากปล่อยให้ NLD มีอำนาจมากไปกว่านี้ สักวันหนึ่งกองทัพก็จะสูญเสียอำนาจที่สั่งสมมาก็เป็นได้

จินตนาการเรื่องภัยความมั่นคงแห่งชาตินี้อยู่คู่กับกองทัพพม่ามาเนิ่นนาน หลายสิบปีก่อน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลักเคียงคู่กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่าล้มหายตายจากไป พร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อน ภาพของภัยหลักที่คุกคามความมั่นคงแห่งรัฐจึงเป็นนักศึกษา ปัญญาชน ประชาชน และนักการเมืองสายก้าวหน้า ที่กองทัพมองว่าพร่ำแต่จะนำระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เพ้อเจ้อมาใช้ในพม่า แผนการ 7 ขั้นเพื่อมุ่งสู่ประชาธิปไตย ที่ นายพลขิ่น ยุ้นต์ หนึ่งในผู้นำ SPDC ประกาศใช้ในปี 2003 ได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่าย แต่จนแล้วจนรอด กว่าพม่าจะจัดให้มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ประกาศแผนการปฏิรูปทางการเมือง และจัดให้มีการเลือกตั้งก็ปาเข้าไปร่วม 10 ปี

ในแผนการโรดแมป 5 ข้อที่กองทัพและคณะรัฐประหารเพิ่งจะออกมานั้น เราเห็นความมุ่งมั่นของกองทัพที่จะกำจัดพรรค NLD ออกไปจากการเมืองพม่า เรายังเห็นความพยายามนำนอมินีของกองทัพเข้าไปนั่งหัวโต๊ะในรัฐบาลในอนาคต ไม่ต่างจากวิธีการที่ครั้งหนึ่งสหภาพโซเวียตเคยใช้เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนในรัฐบริวารของโซเวียตอย่างฮังการี โปแลนด์ และเชกโกสโลวาเกีย ในทศวรรษ 1950-1960 สาระสำคัญของโรคแมป 5 ข้อที่สภาบริหารแห่งรัฐออกมามีดังนี้

1.จะมีการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพชุดใหม่ พร้อมทั้งกำหนดภาระหน้าที่ เพื่อเตรียมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะล้อตามกฎหมาย

Advertisement

2.จะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและบริหารจัดการโควิด-19

3.จะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

4.จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งประเทศและให้สอดคล้องกับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ

Advertisement

5.เมื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2008 และจะถ่ายโอนหน้าที่การบริหารรัฐให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

หากตัดโรดแมปที่เกี่ยวกับโควิด-19 ออกไป โรคแมปฉบับนี้มีคีเวิร์ดอยู่ 3 คำ ได้แก่ การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 และวิถีทางประชาธิปไตย ผู้เขียนมองว่าคณะรัฐประหารพยายามเน้นที่คำว่าประชาธิปไตยเป็นพิเศษ และต้องการส่งเมสเสจออกไปว่าตนไม่มีความต้องการจะอยู่นาน หากแต่อยากจัดให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าคนที่จะเข้ามากำหนดกติกาทั้งหมดจะต้องเป็นคนที่กองทัพ/คณะรัฐประหารเลือกเข้ามาด้วยตัวเอง และก็ไม่พ้นพรรค USDP พรรคการเมืองที่กองทัพตั้งขึ้นมาเป็นนอมินีเพื่อเป็นคู่แข่งกับพรรค NLD โดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี 2010 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้เห็นพรรค USDP กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงอีก ว่าผู้นำระดับสูงในกองทัพจะเลือกผู้นำคนใหม่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่หัวหน้าพรรค USDP คนปัจจุบันอย่าง ถั่น เท (Than Htay) เพราะผู้นำประเทศที่ดีตามจินตนาการของกองทัพพม่าต้องเป็นผู้อาวุโส ที่มีบุคลิกออกไปทางเงียบขรึม โลว์โปรไฟล์ เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด หรือพูดง่ายๆ คือมีบุคลิกคล้ายๆ กับอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่กองทัพเคยเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่าหลังการเลือกตั้งปี 2012 มาแล้ว

ในปัจจุบัน ท่าทีของกองทัพพม่าเริ่มอ่อนลงไปบ้าง มีข่าวการใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงน้อยลงไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพม่าก็ไม่สู้ดีนัก และหัวหอกกลุ่มผู้ประท้วงหลักก็เข้าป่าไปเข้าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force หรือ PDF) เกือบหมดแล้ว ในขณะที่มีแอ๊กทิวิสต์และฝ่ายตรงข้ามคณะรัฐประหารที่ถูกจับกุมไปนับพันคน ข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เราอาจถือได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกที่คณะรัฐประหารทำหลังออกโรดแมป 5 ข้อนี้ออกมาคือการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 2,000 คน ที่ถูกจับกุมนับตั้งแต่มีรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา

สำนักข่าวอิรวดีสัมภาษณ์อดีตนักโทษการเมืองที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกมา 5 คน ถ้อยแถลงของคนเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะชี้ให้เห็นความรุนแรงและการซ้อมทรมานเพื่อเค้นหาข้อมูลจากประชาชน นักข่าว
คนหนึ่งจาก Ayeyarwaddy Times ให้สัมภาษณ์ว่าเขาถูกซ้อมทรมานระหว่างการสืบสวนโดยทหารที่ “กำลังเมาได้ที่” และถูกขังเดี่ยวเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ทั้งๆ ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกซ้อม คำให้การของ
นักข่าวอีกหลายคนที่สำนักข่าวอิรวดีสัมภาษณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือทหารเป็นผู้ซ้อมนักโทษเป็นหลัก บ่อยครั้งที่ทหารปลอมตัวเป็นตำรวจ และเข้ามาแทรกแซงกระบวนการสืบสวนของตำรวจ

อีกเหตุผลหลักที่ทหารต้องปลอมตัวเป็นตำรวจเพราะตำรวจเห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้ประท้วงมากกว่า และพยายามที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ประท้วงเท่าที่อำนาจของตำรวจจะทำได้ แต่ด้วยการแทรกแซงจากกองทัพ ตำรวจมีความสำคัญน้อยลงไปและไม่สามารถสืบสวนตามกระบวนการที่ควรจะเป็น

อดีตนักโทษการเมืองเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญว่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยคนจากกองทัพพม่า ไม่ว่าจะเป็นการซ้อม การทรมานทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม จึงไม่ยากนักหากจะคาดการณ์ต่อว่าสถานการณ์นับแต่นี้กองทัพและคณะรัฐประหารจะพยายามบอกชาวโลกว่าตนกำลังเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งแบบที่กองทัพต้องการต้องไม่มี NLD อยู่ในนั้น ออง ซาน ซูจี
และคนในพรรค NLD อาจถูกดำเนินคดีและสถานการณ์ก็จะกลับไปเป็นเหมือนหลังปี 1988 อีกครั้ง เพียงแต่กองทัพสามารถอ้างว่าพม่ามีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่ดีเพราะมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้น เผด็จการทุกแห่งในสากลโลกเกลียดชังระบอบประชาธิปไตย เพราะรู้ดีว่าหากต่อสู้กันตามวิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ตนเอง วงศ์วานว่านเครือ และเครือข่าย
อีลิท ตลอดจนนักธุรกิจที่สนับสนุนตนจะไม่มีที่ยืนอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image