การสื่อสารภายใต้สถานการณ์โควิด-19

การสื่อสารภายใต้สถานการณ์โควิด-19 : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

โควิด-19 ได้สอนให้เรารู้ว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความเชื่อมโยงและมีผลต่อกันอย่างไม่เคยรู้หรือเข้าใจกันมาก่อน องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่าไม่มีชีวิตของใครจะปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่าในการต่อสู้กับมหันตภัยเงียบนี้ นโยบายสาธารณะด้านสังคม (ได้แก่ นโยบายการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างานหรือสถานที่สาธารณะ และการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ) เป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ก็เป็นนโยบายที่ยากที่สุดนโยบายหนึ่ง เพราะต้องอาศัยการสื่อสารกับคนหมู่มากที่นานาจิตตัง มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องวัฒนธรรม การศึกษา รายได้ และเงื่อนไขในการครองชีพ อีกทั้งนโยบายสังคมที่กล่าวมาแล้วนี้ยังอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังผลทางเศรษฐกิจอีกด้วย

การศึกษาเรื่องการทำนายของการปฏิบัติตัวต่อผู้ติดเชื้อและผู้กักกันตัวเองของ ศ.ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นการศึกษาจำนวนตัวอย่าง 2,500 คน จากจังหวัดกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และยะลา ในช่วงระลอกแรกของการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าประชาชนมีทัศนคติในทางลบต่อผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่กักกันตนเอง เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าคนเหล่านี้ติดเชื้อมาจากกิจกรรมและการเดินทางไปในสถานที่อโคจรหรือมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่คนไทยมีจิตเอื้ออาทรต่อกัน ถึงแม้จะมีทัศนคติในทางลบต่อสาเหตุของการเจ็บป่วย แต่ก็มีทัศนคติในทางบวกค่อนข้างสูงมากต่อการดูแลและเอื้ออาทรต่อกันภายในชุมชน เห็นอกเห็นใจในยามทุกข์ยาก การติดเชื้อระลอกถัดไปความรู้สึกทางลบอาจจะลดลง เพราะสาเหตุของการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความจำเป็นที่ต้องทำมาหากิน และไม่ได้เกี่ยวกับการไปสถานที่อโคจร

การรับรู้เรื่องผลกระทบของ โควิด-19 นั้นส่วนใหญ่ได้รับรู้จากโทรทัศน์ แต่ที่น่าสนใจมากก็คือการรับรู้และทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อและผู้กักกันตนเองนั้นมาจากการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งประชากรตัวอย่างให้คะแนนสูงสุดว่าเป็นสื่อที่สำคัญ ผลการศึกษานี้พบว่าประชาชนไทยได้ก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ในด้านการสื่อสารออนไลน์แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขยังใช้สื่อดั้งเดิมคือโทรทัศน์เป็นสื่อหลัก จุดแข็งของการใช้สื่อโทรทัศน์ก็คือประชาชนรู้แน่ว่าข่าวของทางราชการจะออกเมื่อไหร่ และออกเวลาไหน แต่ข่าวสารที่สื่อผ่านทางโซเชียลมีเดียมีจุดแข็งคือมีความรวดเร็วเนื่องจากมีหลายแหล่ง หลายทิศทาง แต่ข้อเสียก็คือมีทั้งข่าวจริง ข่าวกระต่ายตื่นตูม และข่าวลวง ดังนั้น ในโซเชียลมีเดียว่าด้วยโควิด-19 จึงมีการสื่อสารที่สร้างความโกลาหลและอลวนอลเวงมาก มิหนำซ้ำสถานีโทรทัศน์เอกชนสมัยนี้ยังเอาข่าวจากโซเชียลมีเดียไปเผยแพร่ต่อบนจอโทรทัศน์อีกเพื่อเรียกแขก

ปรากฏการณ์นี้สอนให้รู้ว่ากระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องหาวิธีสื่อสารออนไลน์ยุคใหม่ และมีกลยุทธ์ตั้งรับกับข่าวลวงในโซเชียลมีเดียแล้วเพื่อให้ทันกับยุคสมัย

Advertisement

การศึกษานี้ยังได้ใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์บุคลากรในระดับต่างๆ ในการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 จากเมืองหลวงจนถึงชนบท และมีข้อเสนอว่าเรามักพูดกันถึงการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จะต้องเป็น single command แต่ที่จริงแล้วที่สำคัญมากก็คือจะต้องมี single message ที่ตรงกันและชัดเจนเพื่อที่จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีเอกภาพ

แม้ว่าการสื่อสารเกี่ยวกับวัคซีนยังไม่ได้อยู่ในการศึกษาที่กล่าวมาแล้ว แต่สภาพที่เรารับรู้ทุกวันนี้ก็เป็นประจักษ์พยานว่าการสื่อสารของผู้นำระดับต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ การสื่อ “สาร” ที่ไม่ตรงกันแสดงว่าไม่มีการประสานงานหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากกัน หรือขาดฐานข้อมูลที่โปร่งใส ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ อีกทั้งการวางแผนโดยไม่ได้มองความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นระบบ บางครั้งก็รวมศูนย์ บางครั้งก็เทกระจาด ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของความไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงทำให้เกิดความรู้สึกถึงความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมากขึ้น เช่น ทำไมบุคคลบางอาชีพ เช่น ดาราและนักร้องได้ฉีดก่อน (ซึ่งข่าวสารพวกนี้มาในโซเชียลมีเดียทั้งนั้น) หรือจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยได้วัคซีนมาก เรื่องนี้ยังตอกย้ำว่าการบริหารจัดการ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด นอกจากการสื่อสารที่เป๊ะแล้วยังต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ต้องมองปัญหาระยะยาวให้ครบจบกระบวนการ ข้อสำคัญที่สุดคืออย่าเอาชีวิตของคนไทยมาเป็นประเด็นการเมือง

ในการศึกษานี้ยังพบว่าคนไทยคิดว่าผลกระทบโดยตรงต่อครอบครัว ต่อการศึกษา และต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 นั้นสูงกว่าผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ส่วนผลกระทบจากมาตรการของรัฐมีผลกระทบต่อผู้ตอบมากกว่าผลกระทบโดยตรงจากการระบาดในด้านกิจวัตรประจำวัน วิถีชีวิตและสุขภาพทั้งกายและใจ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและยะลา ผลกระทบของนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์กับมีผลกระทบใกล้เคียงและมากกว่าผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจเล็กน้อย สาเหตุเป็นเพราะการที่ให้เด็กเรียนอยู่ที่บ้านทำให้พ่อแม่ไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย พ่อแม่ต้องผลัดกันไปทำงานวันเว้นวัน อีกทั้งยังต้องหาอุปกรณ์มือถือให้กับเด็กๆ และยังมีค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้หรือเทียบกันเงินเยียวยาที่ได้จากรัฐ

Advertisement

บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นจะต้องมี WI-FI ฟรีสำหรับชุมชนแออัด ในอนาคต โรงเรียนก็ควรมีข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของแต่ละครอบครัวในกรณีต้องศึกษาออนไลน์ และต้องพัฒนารูปแบบการสอนออนไลน์ไฮบริดที่มีประสิทธิภาพ เพราะโควิด-19 อาจจะอยู่กับเราต่อไปอีกประมาณปีหรือสองปีก็เป็นได้

การศึกษานี้ยังเสนอว่าการจัดการโรคระบาดในชุมชนจะต้องมีฐานข้อมูลชุมชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ควรสนับสนุนให้ผู้นำชุมชนมีฐานข้อมูลหรือแผนที่ที่แสดงถึงครัวเรือนเปราะบางในชุมชน เช่น ครัวเรือนที่มีคนชราและผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรต่างๆ ที่ชุมชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจและทางสังคมในกรณีมีปัญหา

ในอนาคตอันใกล้นี้ วิถีปกติใหม่ของไทยคงจะเป็นวิถีที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 เราต้องไม่ประมาท และควรต้องมีการจัดระบบการกระจายอำนาจที่ดี มีการบริหารจัดการโครงข่ายและเครือข่ายเพื่อรองรับผลกระทบจากชุมชน แล้วเราถึงจะชนะไปด้วยกัน

อยากให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุขอีกครั้งค่ะ ว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image