ทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิดน่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อตั้งหัวข้อบทความซึ่งแสดงถึงความตั้งใจที่จะเขียนแล้ว จึงถามตัวเองว่า ผมรู้อะไรบ้างเนี่ย? หรือจะมีใครช่วยตอบโจทย์นี้ได้บ้างไหม? แล้วจึงปลอบใจตัวเองว่า ผมตั้งใจเพียงแค่ตั้งโจทย์และชวนให้ช่วยกันตอบโจทย์ โดยไม่ขออ้างว่าผมสามารถให้คำตอบได้แต่ประการใด

ในคำนิยมของหนังสือชื่อ “โลกเปลี่ยน คนปรับ” ของสุวิทย์ เมษินทรีย์ คุณหมอประเวศ วะสีระบุว่าโลกหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม มิติต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไป เช่น จิตสำนึก การรับรู้ วิธีคิด จิตใจ ความมุ่งหมาย วิธีทำงาน โครงสร้างอำนาจ ฯลฯ โจทย์ใหญ่มี อาทิ อุดมการณ์ ศาสนา อาวุธและกำลังทหาร การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ การเมือง ฯลฯ เชื่อมโยงกันเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ใครหรือฝ่ายใดจะเข้าใจ พยากรณ์ หรือควบคุมได้ คุณหมอจึงเสนอให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ในทุกวงการและข้ามวงการ เป็นกลุ่มศึกษาและพัฒนาสังคมการเมืองไทยหลังโควิด

สุวิทย์ เมษินทรีย์ มีฉันทะและวิริยะในการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งมีชื่อรองว่า “หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน” ชื่อรองนี้น่าจะแสดงถึงความกังวลสองประการ ได้แก่เศรษฐกิจของไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ในระดับกลาง เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ยอมทะยานขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที นั่นคือประเทศติดอยู่ในกับดักระดับกลางมานาน โจทย์ก็คือทำอย่างไรจึงจะหลุดจากกับดักนี้ได้ สุวิทย์เสนอทางเลือกว่า การหลุดจากกับดักไม่ใช่มุ่งแต่จะเพิ่มรายได้ประชาชาติอย่างตะพึดตะพือ หากต้องการความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ความยั่งยืนจึงเป็นโจทย์ใหญ่อีกโจทย์หนึ่ง

สุวิทย์เสนอโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด โดยตั้งชื่อว่า BCG โมเดล สรุปโดยย่อว่า ใช้ปัจจัยเข้าสองประการคือ ปัจจัยทางอุดมการณ์ได้แก่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และปัจจัยทางความรู้คือวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, และนวตกรรม โมเดล BCG เป็นการผนึกพลังทางเศรษฐกิจ 3 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ปัจจุบันสุวิทย์ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรมแล้ว จะมีใครในคณะรัฐมนตรีที่จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหลังโควิดต่อไปในทิศทางใดหรือไม่ก็ไม่ทราบ

Advertisement

มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ Thomas Piketty เขาศึกษาและสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุดตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หนังสือเล่มล่าสุดที่เขาเขียนมีชื่อว่า Capital et Idéologie ที่แม้จะยาวมากแต่ก็น่าจะมีคนแปลเป็นภาษาไทยในไม่ช้านี้ บทสุดท้ายของหนังสือมีชื่อบทว่า “องค์ประกอบสำหรับสังคมนิยมแบบมีส่วนร่วมในคริสต์ศตวรรษที่ 21” เขาเสนอหัวข้อเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งขอนำมาเกริ่นไว้ดังนี้ (สำหรับรายละเอียดที่มีกว่า 80 หน้านั้น เกินกว่าจะนำมาย่อความได้ในที่นี้) (1) ความยุติธรรมในฐานะการมีส่วนร่วมและการถกแถลง (deliberation) (2) การก้าวพ้นทุนนิยมและทรัพย์สินส่วนบุคคล (3) การแบ่งปันอำนาจในวิสาหกิจ (4) การเก็บภาษีทรัพย์สิน มรดก รายได้ และภาษีการหมุนเวียนของทุนแบบก้าวหน้า และการบัญญัติภาษีก้าวหน้าเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญในฐานะความยุติธรรมเชิงภาษี (5) การปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง (6) ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม (7) การเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (7) การศึกษาที่โปร่งใสไม่ลวงหลอก เป็นต้น นโยบายดังกล่าวนี้มุ่งสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมกัน

สุวิทย์มีมุมมองแบบเสรีนิยมใหม่ Piketty มีแนวคิดแบบสังคมนิยมที่เน้นการมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน มีนักเศรษฐศาสตร์สองคน ประจำอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีเมสซาชูเซตส์ ซึ่งต้องการเห็นโลกที่มีความยุติธรรมและมีมนุษยธรรมมากกว่านี้ พวกเขาทุ่มเทเวลาไปกับการศึกษาข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อช่วยให้เราได้เห็นภาพกว้างของระบบขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเราอยู่ในขณะนี้ การเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะไม่ได้หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนส่วนใหญ่ ในเรื่องนี้ จอห์น กัลเบรท นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งเคยวิจารณ์แนวคิดของอดีตประธานาธิบดีโรนัล เรแกนว่า เป็นเหมือนการให้ข้าวโพดแก่ม้าจนอิ่ม แล้วหวังว่านกกระจอกจะพลอยอิ่มไปด้วยจากขี้ม้าที่ร่วงอยู่ตามถนน คำถามจึงอยู่ที่ว่า ถ้าอยากให้นกกระจอกอิ่มมากขึ้น ทำไมไม่เพิ่มเอาหารให้มัน ทำไมต้องมีตัวกลาง?

Advertisement

นักเศรษฐศาสตร์สองคนที่ผมกล่าวถึงชื่ออภิจิต บาเนอร์จี และเอสเทอร์ ดูโฟล พวกเขาเขียนหนังสือชื่อ “เศรษฐศาสตร์ที่ดีในยามยาก” (Good Economics for Hard Times) เพื่อคงไว้ซึ่งความหวัง “เพื่อบอกตัวเองถึงเรื่องที่ผิดพลาดไปและเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น … เป็นหนังสือที่พูดถึงปัญหาพอ ๆ กับหนทางที่โลกจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง … เป็นหนังสือที่บอกว่านโยบายเศรษฐกิจล้มเหลวตรงไหน อุดมการณ์ทำให้เรามืดบอดในเรื่องใด เราพลาดอะไรบ้างที่ไม่ควรพลาด เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์ที่ดีมีประโยชน์ตรงไหนและอย่างไร โดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้” วลีสุดท้ายของหนังสือสรุปเนื้อหาทั้งหมดว่า “เราทุกคนปรารถนาโลกที่ดีกว่า โลกที่มีสติและมนุษยธรรมมากกว่าทุกวันนี้ เศรษฐศาสตร์สำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นธุระของนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น”

หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญหลายประเด็น เช่น การอพยพย้ายถิ่น การค้า การเติบโต ภาวะโลกร้อน ปัญญาประดิษฐ์ ความชอบธรรมของรัฐบาล เงินและความใส่ใจ ผู้เขียนมีเรื่องเล่าประกอบที่มาจากประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมาย เพื่อชวนให้เราได้คิดและมีสติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีทางเลือกมากกว่าที่เคยคิดว่าเป็นไปได้เสมอ และไหวพริบปฏิภาณอาจช่วยให้เราตัดสินใจจากข้อมูล “จริง” ที่เรามี ได้ดีกว่าการยึดมั่นในอุดมการณ์แบบแข็งตัว แม้อุดมการณ์ในความหมายกว้าง เช่น อุดมการณ์มนุษยนิยมยังจำเป็นสำหรับทิศทางที่จะไปก็ตาม แต่ยังต้องกำกับด้วยปัญญาเสมอ

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ขอถือโอกาสแนะนำในบทความนี้เขียนโดยคนฝรั่งเศสสามคนชื่อฟิลิปป์ อากีอ็อง, เซลีน อังโตแน็ง, และซีม็อง บูแนล ชื่อของหนังสือคือ “พลังของการทำลายเชิงสร้างสรรค์” (le Pouvoir de la Destruction Créatrice”) แนวคิดเรื่องการทำลายเชิงสร้างสรรค์มาจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียชื่อ โจแซฟ ชุมปีเตอร์ (Schumpeter) ที่พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นจากการศึกษาข้อเขียนของคาร์ล มาร์กซ์ ที่เสนอว่าทุนนิยมจะทำลายตนเองแล้ววิวัฒนาการเป็นทุนนิยมที่เข้มแข็งขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นสังคมนิยม ทั้งนี้ เมื่อเผชิญกับวิกฤตและต้องการการปรับตัว

ก่อนอื่น เราอาจถามว่าการทำลายเชิงสร้างสรรค์หมายถึงอะไร ทำลายอะไร คำตอบอาจเป็นว่าทำลายอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดการว่างงานและความเหลื่อมล้ำ เพื่อก้าวข้ามการชะงักงันที่ยืนยาว (secular stagnation) … แล้วสร้างสรรค์ล่ะ น่าจะหมายความว่า เมื่อทำลายเศรษฐกิจที่ “ล้าหลัง” แล้ว ยังต้องสร้างเศรษฐกิจหรือวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนตอบสนองความต้องการและยังประโยชน์แก่คนหมู่มากได้มากขึ้นด้วย … แล้วทำได้อย่างไร?

ข้อเสนอหลัก ๆ ของหนังสือเล่มนี้มี อาทิ 1) นวตกรรม (หมายรวมถึงการจดสิทธิบัตร) และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (คนไทยจดสิทธิบัตรน้อยมาก สงสัยจะต้องตามเขามากกว่ากระมัง) 2) การแข่งขัน เพื่อป้องกันการมีอิทธิพลเหนือตลาด 3) การป้องกันการตักตวงผลประโยชน์ (rente) เกินควร รวมทั้งป้องกันการใช้ผลประโยชน์ที่ตักตวงไว้ไปกีดกันคู่แข่งที่เป็นหน่อใหม่ 4) การกำกับทุนนิยมและมีระเบียบการเงินที่เข้มงวดเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และการเอารัดเอาเปรียบของทุนขนาดใหญ่ 5) การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค เป็นต้น

ผู้เขียนเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ในเดือน พฤศจิกายน 2562 เพียงไม่กี่เดือนก่อนวิกฤตโควิด และสามารถตอบโจทย์วิกฤตโควิดได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยสำหรับคนที่เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง และการเติบโตหมายถึงการตายไปของวิสาหกิจที่ขาดประสิทธิภาพเพื่อเปิดพื้นที่ให้วิสาหกิจใหม่ที่รับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น อย่างเช่นวิกฤตโควิด ได้ดีกว่า

ผมมิบังอาจแสดงความเห็นเชิงเปรียบเทียบว่า แนวทางของสุวิทย์ในเรื่องโมเดล BCG หรือข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ Piketty หรือแนวทางปัญญาปฏิบัติของ อภิจิต และเอสเทอร์ หรือการมุ่งที่ “นวตกรรม” เพื่อให้เกิดการทำลายเชิงสร้างสรรค์ เหล่านี้ แนวทางไหนดีกว่าหรือเหมาะแก่สังคมไทยในยามวิกฤตโควิดมากน้อยกว่ากันอย่างไร การแนะนำหนังสือข้างต้นนี้มีความมุ่งหวังให้เกิดการถกแถลงในสังคม เพื่อจะได้มีนโยบายที่แยบคายมากขึ้น หรือสะเปะสะปะน้อยลงนั่นเอง

โคทม อารียา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image