เมืองทนไฟและปลอดภัยจากโควิด

ปัญหาไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเรื่องที่อาจจะเลือนไปจากความทรงจำอย่างรวดเร็ว ด้วยว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดนั้นหนักหน่วงยิ่ง และเริ่มมีการล็อกดาวน์กันอีกรอบหนึ่ง

คำถามที่ท้าทายพวกเราจึงอยู่ที่ว่า เมืองนั้นจะทนไฟ และจะปลอดภัยจากโควิดไหม

คิดอีกด้านหนึ่งก็คือ เราควรจะตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเมืองของเราทนไฟและปลอดภัยจากภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเราพูดถึงการล็อกดาวน์นั้น เมืองของเราพร้อมจะรับมือกับการล็อกดาวน์มากน้อยแค่ไหน

ผมลองชวนคิดง่ายๆ นะครับ ลองดูประสบการณ์ของหลายประเทศในช่วงล็อกดาวน์ อย่างกรณีอู่ฮั่น เราจะเห็นภาพของการห้ามออกจากบ้าน แล้วมีช่วงเวลาให้ออกมาซื้อของได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหมายถึงว่าประชาชนสามารถ “เดิน” ไปซื้อของในละแวกบ้านได้ หรือในกรณีเมืองอื่นๆ ในยุโรปเราก็สามารถที่จะเดินไปซื้อของได้ หรือในกรณีของอเมริกา ถ้าอยู่ชานเมืองก็อาจจะขับรถไปซื้อของได้ตามที่ตั้งของร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ส่วนในเมืองก็จะมีร้านที่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก

Advertisement

คำถามก็คือเวลาที่ล็อกดาวน์ในบ้านเรานั้น เรามักจะสนใจแต่ว่าเขาห้ามไปไหนบ้าง ที่ไหนปิดบ้าง แต่ไม่ค่อยได้ถามว่าเมื่อปิดแล้ว ประชาชนแต่ละคนจะเข้าถึงบริการต่างๆ ได้แค่ไหน

เรื่องนี้รวมไปถึงเรื่องของการขนส่งสาธารณะต่างๆ ด้วย มีการประกาศลดเที่ยวเดินรถต่างๆ คำถามคือมีการศึกษาไหมว่าเขาเดินทางไปไหนกัน และมีความจำเป็นต้องใช้บริการสาธารณะนี้แค่ไหน การเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ทั้งพื้นที่ปลอดภัย บริการด้านสุขภาพ การซื้อของใช้ต่างๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติ

ย้อนกลับมาเรื่องของไฟไหม้โรงงานเม็ดพลาสติกที่บางพลี เอาเข้าจริงโดยส่วนตัวผมก็กลายเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน ทั้งที่ตอนแรกนั้นก็ยังไม่เชื่อว่าจะเกี่ยวข้อง เพราะตอนแรกลองเช็กระยะห่างจากบ้านกับที่เกิดเหตุ คำถามแรกที่เจอก็คือ จะเช็กอย่างไร ซึ่งก็ลองทำได้โดยใช้แอพพลิเคชั่นกูเกิลแมป โดยลองกำหนดปลายทางไปในที่เกิดเหตุ แต่ด้วยว่าโปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมเพื่อช่วยการเดินทาง ดังนั้น จึงไม่ได้ให้ข้อมูลในแง่รัศมีของการแพร่กระจายของควันและสารพิษ

Advertisement

จนในช่วงหลังได้มีข้อมูลจากแอพพ์ที่เฉพาะเจาะจง ทำให้เห็นว่ารัศมีหนึ่งกิโล ห้ากิโล และสิบกิโล มันครอบคลุมแค่ไหน อย่างในกรณีของผมนั้นก็เกินจากขอบ 10 กิโลมากิโลเดียว จึงรีบออกไปหาที่พักที่อื่นอยู่สองวัน

ผังเมืองสมุทรปราการ

วกมาเรื่องของปัญหาไฟไหม้ที่โรงงานพลาสติกที่บางพลี มีหลายเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกต

1.เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องผังเมือง และสิทธิที่จะอยู่ก่อนหรือหลังในพื้นที่ เพราะเอาเข้าจริงโรงงานเขามาก่อน แล้วเมืองก็ตามมา เลยเกิดคำถามมากมายว่าจะจัดการอย่างไร

เรื่องนี้ซับซ้อนพอสมควร เพราะการเข้ามาก่อนหรือหลังนั้นไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาที่ดินอย่างเข้มข้นก้าวกระโดดด้วยเงื่อนไขสำคัญสองประการ ได้แก่การเปิดขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิที่ติดกับพื้นที่ตรงนั้น และการเปลี่ยนแปลงผังเมือง หรือผังการใช้ที่ดิน ซึ่งในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนมาเป็นพาณิชยกรรม ขณะที่รอยต่อของพื้นที่นั้นเป็นเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลางเท่านั้น

เอาเข้าจริงในพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมอะไร แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัยที่หนาแน่นเสียมากกว่า แต่ด้วยการที่เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมโดยทั่วไปก็มีนัยยะของการอนุญาตให้ทำอะไรได้มากกว่ากิจกรรมพาณิชยกรรมอยู่แล้ว อีกทั้งพื้นที่สีแดงของสมุทรปราการนั้น ก็ไม่ได้เข้มงวดเรื่องการห้ามกิจกรรมต่างๆ เท่ากับพื้นที่สีแดงของกรุงเทพมหานคร

ว่าไปแล้วเรื่องน่าประหลาดใจก็คือ พื้นที่ข้างสนามบินสุวรรณภูมิกลับเป็นพื้นที่สีแดงที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ ใหญ่กว่าตัวเมืองสมุทรปราการเอง เมื่อพิจารณาจากผังเมืองรวม

เพิ่มเติมก็คือ ในพื้นที่สมุทรปราการนั้น บริเวณพื้นที่ที่เป็นพาณิชยกรรมซึ่งอธิบายด้วยความเข้าใจทั่วไปคือพื้นที่ใจกลางเมือง ใจกลางย่านการค้า มันก็ควรจะสอดคล้องกับระบบการปกครองท้องถิ่นที่เป็นเทศบาล เช่นในพื้นที่เขตเมืองสมุทรปราการก็จะเป็นพื้นที่ของเทศบาลนคร

พื้นที่สีแดง – ผังเมืองสมุทรปราการ

ขณะที่พื้นที่ในบริเวณสีแดงที่ใหญ่ที่สุดของสมุทรปราการอันเป็นพื้นที่เกิดเหตุนั้น กลับเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล และมีพื้นที่ใกล้เคียงส่วนมากเป็นพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสียเป็นส่วนมาก เว้นแต่เทศบาลตำบลบางพลีซึ่งพื้นที่เล็กมากในตำบลนั้น (ตำบลบางพลีใหญ่) และเทศบาลเมืองบางแก้วของตำบลบางแก้วซึ่งไม่ได้อยู่ในตำบลเดียวกัน  (และไม่ได้เกี่ยวข้องในเชิงพื้นที่ เพราะเป็นส่วนต่อขยายของเมืองมาจากสำโรง)

ต่อคำถามที่ว่าผังเมืองคือปัญหาหลักไหม ก็ขอตอบว่าใช่และไม่ใช่ ผังเมืองไม่ใช่จำเลยทั้งหมด แต่ไม่มีใครไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา โรงงานมีปัญหาในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย แต่เขาอยู่มาก่อน บ้านจัดสรรซึ่งมีอยู่มากมายและมาทีหลังแล้วได้รับความเสียหายมาก ตามหน้าข่าวก็ต้องถามว่ารู้หรือไม่รู้ถึงความเสี่ยงในพื้นที่

ที่สำคัญคือชุมชนที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างโรงงานกับบ้านจัดสรรนั้น พวกเขาเดือดร้อนหนัก ชีวิตเปลี่ยน เข้าบ้านไม่ได้ และต้องไปอยู่ตามศูนย์พักพิง พวกเขาอาจจะเป็นกลุ่มที่อยู่มาก่อน หรือเข้ามาอยู่ด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่

สิ่งที่ขาดในพื้นที่แน่นอนว่าเราไม่มีผังในการใช้พื้นที่จริงในเขตนั้นของบางพลี และในบางพลีทั้งหมด ผังสีมีระดับ (scale) ในระดับจังหวัด แต่ในความจริงในพื้นที่หนึ่งมีกิจกรรมและใช้ที่ดินที่หลากหลาย มีชีวิตที่เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกัน

นึกถึงที่ผมชวนคิดในช่วงต้น เรื่องของการเดินในละแวกบ้าน และเมืองที่พร้อมจะอยู่กับวิกฤต/ภัยพิบัติสุขภาพ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องคิดว่าเมือง (บางพลี) และพื้นที่ตรงนั้นมันพร้อมที่จะทำให้เราอยู่รอดไหม

ในกรณีของบางพลีนั้น ไม่ได้ขาดแค่ผังเมืองบางพลีหรอกครับ แต่ขาด “ชุมชน” ที่เรียกว่า planning community and policy community หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ จะมีแผนหรือผังได้นั้นก็ต้องมีชุมชน หรือความเป็นชุมชนก่อน

เราคงมีผังที่ดีที่สุดตรงนั้นไม่ได้หรอกครับ ถ้าคนในพื้นนี้นั้นเขาไม่คุยกัน เขาไม่รู้จักกัน เขาไม่เข้าใจกัน

เขตเทศบาลในจังหวัดสมุทรปราการ

2.ในแง่นี้ก่อนจะมาเถียงกันว่าควรจะมีผังเมืองในพื้นที่อย่างไร ควรจะทำความเข้าใจว่าผังเมืองนั้นควรจะประกอบด้วยเงื่อนไข/หน้าที่สำคัญ 3 ประการ

หนึ่ง ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตรงไหนจะพัฒนา ตรงไหนจะอนุรักษ์ ตรงไหนจะทำแค่ไหน ในแง่นี้คำว่าผังเมืองนั้นต้องอย่ามองแคบไป เพราะคำว่า plan นั้นเป็นทั้งผังและแผน คือต้องมีทั้งความคิดเรื่องทิศทางให้มันชัดเจน บางทีไม่ใช่แค่ผัง อาจจะเป็นแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์

สอง ทำหน้าที่ในการควบคุมการพัฒนา มีเงื่อนไขการห้าม มีเงื่อนไขการลงโทษ และมีเหตุผลในการบังคับใช้ระเบียบเหล่านี้

สาม ทำหน้าที่ในการลดความขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามว่าอะไรคือผังที่ดีที่สุดโดยไม่เข้าใจว่าคนที่อยู่ตรงนั้นมีหลากหลาย บางครั้งด้วยความเชื่อของนักผังเมืองในแง่ความรู้และความเชี่ยวชาญ เราจึงเชื่อว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในพื้นที่ แต่เราอาจไม่ทราบว่าผลของสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดนั้นอาจเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่ หรือเบียดขับผู้คนจำนวนหนึ่งออกจากพื้นที่ ดังนั้น นักผังเมืองจึงต้องเข้าใจถึงความละเอียดอ่อน และเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเข้าใจว่าลูกค้าของเราคือคนทั้งหมดที่อยู่ตรงนั้น ซึ่งมีสิทธิที่จะอยู่และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city) ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีโฉนดเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผังเมืองนอกจากจะมีหน้าที่สามอย่างนี้แล้ว ยังต้องมีอีก 2 สถานะ นั่นก็คือ

สถานะแรก เป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” รองรับอำนาจสูงสุดของประชาชนในการร่วมกันทำพันธสัญญาใช้กำหนดทิศทาง กำกับดูแล และสร้างความเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ของคนในพื้นที่

สถานะที่สอง เป็น “หลักเมือง” เพื่อให้คนเข้าใจและเชื่อมั่นว่าผังเมืองนั้นจะคุ้มครองชีวิตของพวกเขาได้ อำนาจของผังเมืองจึงเป็นอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์มาจากสัญญาประชาคมและบังคับทุกคนเท่ากัน

เมื่อเราเข้าใจมิติของพื้นที่และหน้าที่ของผังเมืองแล้ว เราจึงมาทำความเข้าใจกันว่า สองเรื่องที่พูดมานั้นมันจะทำงานจริงได้อย่างไร ซึ่งเรื่องสำคัญก็คือ ผังเมืองนั้นจะทำงานได้เมื่อเรามีชุมชนที่ต้องการและเชื่อมั่นกับผัง/แผน และเชื่อว่าจะคุ้มครองให้ชีวิตในชุมชนนั้นมีความสุข ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้เราเริ่มคิดกันต่อว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องทำหน้าที่ในส่วนนี้มากขึ้นกว่าการจัดทำผังเมืองให้จบ และรอคนมาร้องเรียนในช่วงกระบวนการทำแผน ซึ่งเรื่องนี้มักจะเป็นไปในระดับจังหวัด แต่เอาเข้าจริงในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นควรจะเริ่มขยับได้มากขึ้น และถ้าไม่ได้ทำผังเฉพาะ ก็ควรเริ่มสร้างความร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ให้ทุกฝ่ายรู้จักกัน และคิดหาพื้นที่และแผนการในการรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้เสมอ

นอกจากนั้นแล้วเราจะต้องเข้าใจด้วยว่าคำถามว่าใครจะจ่ายในการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ง่าย รัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องออกมาจ่าย หรือมาใช้อำนาจในการบังคับว่าใครควรอยู่ใครควรไป เว้นแต่ผิดเงื่อนไขด้านความปลอดภัย กลไกอื่นในการจัดการเรื่องนี้คือเรื่องของภาษี และการสร้างแรงจูงใจ กล่าวคือ เมื่อมีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ เราอาจจะต้องเก็บภาษีที่ดินให้เพิ่มขึ้น และไม่ใช่การเก็บแต่โรงงาน แต่บ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ในพื้นที่พาณิชยกรรมเองก็ต้องจ่ายให้มากเช่นกัน เพราะตัวเองก็ได้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งหากมีการพัฒนาที่ดินใหม่ๆ ก็ไม่ควรมองแค่ว่านักพัฒนาที่ดินจะได้ประโยชน์อะไรในพื้นที่อย่างเดียว แต่ต้องมองว่านักพัฒนาที่ดินจะต้องนำเสนอประโยชน์อะไรในพื้นที่เหล่านั้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับชีวิตที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน

เราไม่ควรมองว่าใครเป็นเหยื่อใครเป็นผู้ร้ายง่ายๆ บ้านจัดสรรเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า peri urban อย่างบางพลี คือพื้นที่ที่มีเมืองและชนบทผสมกันจนเป็นเมืองซ่อนรูปในพื้นที่ (ต่างจากพื้นที่ชานเมือง suburban) แบบเดิม บางครั้งก็สร้างปัญหาในพื้นที่เช่นกัน เพราะใช้น้ำมาก สร้างมลพิษของเสีย ทำให้รถติด และ สร้างมลพิษในการก่อสร้าง ของเหล่านี้ก็จะต้องถูกจัดการและเสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน และแม้จะพยายามจะมีการอ้างอิงว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ข้างสนามบินมาเป็นย่านพาณิชยกรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างนครสนามบิน (Aerotropolis) สิ่งที่สำคัญก็คือต้องชี้ชวนให้ชุมชนแถวนั้นเข้าใจก่อนว่าเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ และจะต้องมีราคาการใช้จ่ายอะไรบ้าง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เราจะพบว่า เราคงจะย้อนเวลากลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ และชีวิตวิถีใหม่นั้นยังไงก็ต้องมาถึง เราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการตั้งหลักช่วยกันคิดว่าเราจะอยู่รอดอย่างไร และจะอยู่ร่วมกันอย่างไรไปพร้อมๆ กันครับ

หมายเหตุ ขอขอบคุณความเห็นจาก รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ และ อาจารย์ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ แห่งภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตย กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสนทนากันในหลายๆ ครั้งในช่วงนี้

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image