ว่าด้วยเรื่อง ‘โมเดล’ทางการเมือง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้มีการพูดถึง “เปรมโมเดล” กันอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็มีการอธิบายว่า จะเหมือน หรือต่างจาก “ประยุทธ์โมเดล” หรือ “ประวิตรโมเดล” หรือ “ประยุทธ์+ประวิตรโมเดล” อย่างไร

คนส่วนใหญ่อาจจะสนใจวิเคราะห์ลักษณะของ “ตัวผู้นำ” “บุคลิกภาพ” หรือ “ภาวะผู้นำ” (leadership) ของพลเอกเปรม พลเอกประยุทธ์ หรือ พลเอกประวิตร แต่ในฐานะของนักรัฐศาสตร์ สิ่งที่ควรจะสนใจนอกเหนือจากบุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ รวมไปถึง “พื้นดวง” ของบุคคลเหล่านี้แล้ว นักรัฐศาสตร์อาจจะต้องสนใจเป็นพิเศษถึงคำว่า “โมเดล” ที่มีการพูดถึงกันนั่นแหละครับ

คำว่า โมเดล หรือ model นี้ไม่ใช่คำที่ใช้กันในทางรัฐศาสตร์โดยตรง แต่อาจจะมีคำที่เกี่ยวเนื่องอยู่สักสามคำ คือ “รัฐบาล” (government) “ระบอบการเมือง” (political regime หรือเรียกสั้นๆ ว่า regime) และคำที่ดูเหมือนจะง่ายแต่ยุ่งยากที่สุดในการอธิบาย และอาจจะเข้าใจไม่ตรงกันที่สุดคือ “รัฐ” (state)

ที่ยุ่งยากเพราะคำว่ารัฐในบางครั้งอาจไม่ถึงเพียงรัฐบาล บางครั้งอาจหมายถึงระบอบการเมือง บางครั้งอาจหมายถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มากกว่าเรื่องของการเมืองไปสู่เรื่องทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม หรือบางครั้งอาจหมายถึงหน่วยทางการเมืองที่เราเข้าใจกันในนามของประเทศ ทั้งนี้คำว่ารัฐนั้นที่แตกต่างกันมาก เพราะมีการทำความเข้าใจรัฐจากหลายสำนักคิดนั่นแหละครับ

Advertisement

บีบให้แคบลงมาอีกหน่อย เมื่อพูดถึงรัฐศาสตร์แล้ว ลงมาที่สาขาการเมืองเปรียบเทียบ อาจจะกล่าวได้ว่า คำว่าระบอบการเมืองนั้นเป็นคำและแนวคิดที่มีการใช้กันมากที่สุดในฐานะกิจการหลักของสาขาวิชา ด้วยว่าจะต้องทำการเปรียบเทียบกันระหว่างระบอบการเมืองต่างๆ หรือระบอบเดียวกันแต่เปรียบเทียบข้ามช่วงเวลา

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์สาขาการเมืองเปรียบเทียบ ก็คือ การแยกแยะสิ่งที่เรียกว่าระบบการเมือง (political system) และระบอบการเมือง (political regime) ซึ่งถ้าจะกล่าวอย่างรวบรัดแล้ว ระบบการเมืองนั้นสนใจเรื่องราวของการกำหนดขอบข่ายของสาขาวิชารัฐศาสตร์ หรือกำหนดว่าอะไรคือความเป็นการเมือง และการสอดประสานขององคาพยพต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง

ในขณะที่เมื่อพูดถึงระบอบการเมือง สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เรื่องของการกำหนดขอบเขตของสาขาวิชา (ว่าการเมืองต่างและสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ และ สังคมอย่างไร) แต่หมายถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของระบบการเมืองนั้น ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กับประชาชน ทั้งในระดับที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

Advertisement

และนอกเหนือไปจากเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์แล้ว ยังหมายถึงเรื่องของวิถีชีวิตและความนึกคิดของสังคมที่มีต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลอีกด้วย

หมายถึงว่าระบอบการเมืองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองนั่นแหละครับ

เมื่อเราพูดถึงระบอบการเมืองในระดับที่ง่าย เราอาจจะเข้าใจว่า การศึกษาระบอบการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการศึกษาและจำแนกแยกแยะระบอบการเมืองของแต่ละประเทศออกเป็น เผด็จการ และประชาธิปไตย และที่ยากขึ้นมาหน่อยก็คือ การวิเคราะห์ลักษณะลูกผสมของระบอบการเมืองหนึ่งๆ

แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าการแยกแยะประเภทของระบอบการเมือง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เราควรจะศึกษาแนวคิดว่าด้วยระบอบการเมืองให้ลึกซึ้งก่อนที่จะเริ่มเปรียบเทียบระหว่างระบอบการเมืองต่างๆ เพราะการเข้าใจว่าเมื่อเราพูดถึง “ระบอบการเมือง” ในฐานะ “โมเดล” นั้น เราจะได้ตั้งคำถามต่อไปได้ ว่าระบอบการเมืองในแต่ละช่วงเวลาที่เรานำมาเปรียบเทียบกันนั้น มันไม่ใช่เรื่องแค่ว่า จะเปรียบเทียบตัวพลเอกเปรม กับพลเอกประยุทธ์ หรือพลเอกประวิตร แต่จะต้องเข้าใจอะไรมากกว่าตัวบุคคล บุคลิกภาพ และภาวะผู้นำของผู้นำทางการเมืองเหล่านั้น

นอกเหนือจากการเข้าใจว่า “ระบอบการเมืองมีเรื่องที่จะต้องคิดมากกว่าตัวผู้นำทางการเมือง/ผู้นำรัฐบาล” แล้ว เมื่อศึกษาเรื่องระบอบการเมือง สิ่งที่เกี่ยวเนื่องมาด้วยก็คือเรื่องของการศึกษาทั้งการก่อตัวของระบอบการเมือง การทำงานของระบอบการเมือง และ “การเปลี่ยนระบอบการเมือง” (regime change) นั่นแหละครับ

พูดแบบที่บ้านเราเข้าใจได้ไม่ยากก็คือ ระบอบทางการเมืองนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ได้อย่างไรนั่นแหละครับ

ทีนี้มาเริ่มกันที่รายละเอียดของการนิยามว่าอะไรคือระบอบการเมืองกันล่ะครับ เรื่องแรกก็คือเราจะต้องไม่สับสนระหว่างการกำหนดระบอบการเมือง กับการเพียงแค่เอาตัวแสดงทางการเมืองมาตั้งชื่อระบอบการเมือง เพราะสิ่งที่เราสนใจในการวิเคราะห์นั้นไม่ใช่แค่ตัวแสดงทางการเมือง แต่ต้องรวมไปถึงสถาบันทางการเมืองและการทำงานของสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นในระบอบการเมืองหนึ่งๆ ด้วย ซึ่งในแง่นี้ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สนใจตัวแสดงทางการเมือง แต่เราต้องศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างตัวแสดงทางการเมือง กลุ่มพลังทางการเมือง และสถาบันทางการเมืองด้วย

หรือบางทีก็มัวแต่ศึกษาทั้งคนหน้าฉากและหลังฉาก แต่อาจไม่ได้อธิบายถึงแบบแผนความสัมพันธ์เหล่านั้นอย่างเป็นระบบ และศึกษาความเชื่อมโยงของฉากเหล่านั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือเชื่อว่า ถ้าอยู่ในโครงสร้างแบบเดียวกันแล้ว ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็น่าจะทำงานเหมือนกัน

ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะเริ่มเข้าใจเมื่อต้องการศึกษาและเปรียบเทียบระบอบการเมืองก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างระบอบการเมืองกับการปกครองในระดับสถาบัน หรือการมีกฎเกณฑ์ในระดับสถาบัน (institutional rule) หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ เราจะต้องดูว่าคำสั่งในการปกครองนั้นออกมาในรูปแบบใด และมีแบบแผนอย่างไร ไม่ใช่พูดแต่ว่าพลเอกคนนั้นสั่งพลเอกคนนี้มีคำสั่งเมื่อวันที่ แต่เราต้องดูว่าทำไมในยุคพลเอกเปรม คำสั่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ คำสั่งยุคจอมพลสฤษดิ์นั้นอิงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ส่วนพลเอกประยุทธ์นั้นอิงกับมาตรา 44

นี่คือส่วนหนึ่งของการพิจารณาคำสั่ง แต่ถ้าจะเข้าใจคำว่า “กฎเกณฑ์ทางการปกครอง” อย่างเป็นระบบแล้ว เราคงจะต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่ระบอบนั้นทำก็คือความสามารถในการสร้างกฎเกณฑ์ในระดับสถาบัน (ไม่ใช่ตามอำเภอใจ) ที่เรียกร้อง ห้าม หรืออนุญาตให้เกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

และต้องเข้าใจด้วยว่า การสร้างกฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีแต่ในระดับลายลักษณ์อักษรเท่านั้น และที่สำคัญก็คือ เมื่อเราพูดถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เป็นด้านตรงข้ามของความสามารถในการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็คือ การสร้างการยอมรับของประชาชนต่อกฎเกณฑ์เหล่านั้น และนี่คือที่มาของการที่เมื่อเราพูดถึงเรื่องของระบอบการเมือง สิ่งที่เราพึงสนใจนอกเหนือไปจากตัวบุคคล หรือคณะบุคคลที่อยู่ในอำนาจ รวมทั้งรูปแบบและแบบแผนการสร้างกฎเกณฑ์แล้ว เราจะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความชอบธรรม” ของระบอบการเมืองนั้นๆ ด้วย ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องความชอบธรรมแล้ว เราก็จะต้องสามารถเปรียบเทียบทั้งรูปแบบของความชอบธรรม และระดับของความชอบธรรมได้ด้วย

โดยจะขอขยายความว่า ผมได้พาท่านผู้อ่านมาเข้าใจระบอบการเมืองทั้งในระดับของ “กฎเกณฑ์” และระดับของ “พฤติกรรม” ที่เกิดขึ้น และกำลังพาท่านก้าวสู่การทำความเข้าใจระบอบการเมืองในระดับ “ทัศนคติและชุดความคิด” แต่ทั้งนี้เราจะต้องเข้าใจว่า การพูดถึงเรื่องของทัศนคติและชุดความคิดนั้นไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าชุดความคิดนั้นมีความสำคัญมากกว่าการทำความเข้าใจระบอบการเมืองในระดับกฎเกณฑ์และพฤติกรรม

ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่การตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่เมื่อประชาชนรู้สึกว่าระบอบการเมืองที่ปกครองเข้าอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม แล้วประชาชนจะลุกขึ้นโค่นล้มระบอบ คำตอบก็คือว่า การไม่โค่นล้มระบอบอาจจะไม่ได้ขึ้นกับเงื่อนไขความไม่ชอบธรรมโดยตรง แต่อาจจะขึ้นอยู่กับการขาดแคลนตัวแบบทางเลือก (เช่นไม่ชอบ หรือไม่เชื่อว่าเป็นไปได้) ดังนั้นแม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบและไม่ได้ยินยอมที่จะอยู่ในระบอบการเมืองนั้นอย่างเต็มใจ แต่เขาก็อาจจะไม่ได้มีพฤติกรรมที่ออกมาต่อต้านกับระบอบนั้นอย่างตรงไปตรงมา และอาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในระบอบนั้น หรือโค่นล้มระบอบนั้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง

กล่าวโดยสรุป ระบอบการเมืองนั้นหมายถึงชุดของกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสถาบัน (คือมีแบบแผนที่เข้าใจกัน และสืบทอดต่อกันมา) ทั้งในแง่ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (คือไม่ได้เขียนเอาไว้แต่ “เข้าใจตรงกันนะ”) ซึ่งจะระบุว่าใครมีอำนาจ และใครสามารถตัดสินใจในเรื่องหนึ่งๆ (หรือแบบแผนในการตัดสินใจนั้นมีใครร่วมตัดสินใจบ้าง ตัวผู้นำคนเดียว หรือมีหลังฉาก หรือมีคณะที่ร่วมตัดสินใจ เช่น ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจมีกลุ่มไหนบ้าง มีสำนักงานไหนบ้าง หรือในการตัดสินใจนั้นมีใครร่วมตัดสินใจบ้าง หรือแม้กระทั่งใครมีอำนาจในการทำให้การตัดสินใจเกิดขึ้นไม่ได้ หรือ ใครมีอำนาจในระดับการกำหนดว่าเรื่องไหนเป็นประเด็นที่เราควรจะตัดสินใจ หรือไม่ต้องคิดถึงมัน ซึ่งหมายถึงอำนาจในระดับอุดมการณ์)

นอกจากนั้นระบอบการเมืองยังหมายถึงกฎเกณฑ์เงื่อนไขในการที่ใครจะก้าวขึ้นมามีอำนาจในตำแหน่งต่างๆ และการกำหนดสิทธิทางการเมืองของผู้คน ว่ามีสิทธิมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการที่สถาบันทางการเมืองและตัวแสดงทางการเมืองที่ถืออำนาจเอาไว้นั้นจะมีความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างไร เช่นต้องแบ่งอำนาจกันอย่างไร หรือสามารถคานอำนาจ ตรวจสอบอำนาจกันอย่างไร และมีอิสระจากการควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน

ในแง่นี้ระบอบการเมืองนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีอายุยืนยาวกว่ารัฐบาลหนึ่งๆ แต่อาจจะไม่ได้ยืนยาวเท่าการวิเคราะห์สิ่งที่เราเรียกว่ารัฐ (ซึ่งคำจำกัดความนั้นซับซ้อนและซ้อนกันมาก ขึ้นกับสำนักคิด) แต่ถ้าจะย้ำเน้นง่ายๆ เราเข้าใจว่าระบอบการเมืองนั้นหมายถึงการอธิบายว่า ในการเมืองนั้นเขามี “มรรควิธีทางการปกครอง” อย่างไรนั่นแหละครับ

จากการศึกษาเรื่องของคำจำกัดความแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะสนใจก็คือ พลวัตของระบอบการเมือง เพราะเราจะได้เข้าใจว่า เมื่อเปรียบเทียบระบอบการเมืองแล้วนั้น เราเปรียบกันในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ โดยอาจแบ่งช่วงเวลาของการทำงานของระบอบการเมือง (Regime Phases) ออกเป็นคร่าวๆ 4 ช่วงเวลา นั่นก็คือ

1. ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน (Transition)

2. ช่วงเวลาของการลงหลักปักฐานของระบอบ (Installation)

3. ช่วงเวลาของปฏิบัติการของระบอบ (Operation)

4. หลังจากการปฏิบัติการของระบอบแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเกิด

4.1 วิกฤต

4.2 สถานการณ์ที่ทรงตัว คือยังมีความขัดแย้งอยู่ แต่ไม่ได้ปะทุออกมา หรือไม่มีผลที่นำไปสู่การล้มลงของระบอบ

4.3 การผนึกอำนาจและปฏิบัติตามกฎกติกาของระบอบ (Consolidation)

เพื่อให้เข้าใจพลวัตของระบอบการเมืองต่อไป เราอาจจะพบว่า เมื่อเกิด 4.1 คือ วิกฤต สิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นการเปลี่ยนผ่าน การปรับปรุง หรือสภาวะทรงตัวต่อไป

ขณะที่เมื่อเกิด 4.2 สภาวะทรงตัว สิ่งที่อาจเกิดตามมาคือ วิกฤตในรอบต่อไป หรืออาจจะนำไปสู่การผนึกอำนาจและยอมรับกฎเกณฑ์ก็ได้

ในขณะที่เมื่อเกิด 4.3 คือ การยอมรับกฎเกณฑ์ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปอาจจะมีลักษณะของสภาวะทรงตัวของสถานการณ์ทางการเมือง (ปัญหายังไม่ปะทุ) หรือเกิดความแข็งแกร่งสืบเนื่องของระบอบการเมืองในระยะยาวก็อาจเป็นได้

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ต้องการให้เห็นว่าเมื่อพูดถึงโมเดลหนึ่งๆ นั้น เราไม่ควรพิจารณาแค่ตัวบุคคล แต่มีเรื่องที่ควรพิจารณาอีกมากมายหากเราพิจารณาว่าโมเดลนั้นหมายถึงระบอบการเมืองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image