ปลื้ม เมื่อเห็นผู้นำมีรสนิยม อองซานซูจีฟังวงทีพีโอ เล่นที่กรุงเนปิดอว์ โดยสุกรี เจริญสุข

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปแสดงที่พม่า เมื่อวันที่ 25-30- สิงหาคม 2559 ตามคำเชิญของสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน-พม่า สถานทูตไทยในพม่า และวงดุริยางค์ของสถานีโทรทัศน์พม่า ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมงานล่วงหน้า 6 เดือน ไปแสดงที่ย่างกุ้ง 2 ครั้ง ที่เมืองมัณฑะเลย์ 1 ครั้ง และที่กรุงเนปิดอว์อีก 1 ครั้ง นักดนตรีได้ไปเที่ยวเมืองพุกามด้วย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพระพุทธศาสนาแต่โบราณ มีเจดีย์ 3,000-4,000 องค์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ก็มีแผ่นดินไหวที่เมืองพุกาม ยอดเจดีย์หักไป 300 กว่ายอด ทุกคนที่เดินทางไปก็รู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัย

พม่ายังไม่พร้อมเรื่องเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ดนตรี วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องขนของไปเองทั้งหมด อาทิ ขาตั้งโน้ต เครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ (เชลโล ดับเบิลเบส กลองทิมปานี กลองใหญ่) เครื่องเสียง ระบบไฟ เป็นต้น ขนไปจากกรุงเทพฯ ใส่รถบรรทุกเข้าไปทางด่านแม่สอด และเปลี่ยนใส่รถบรรทุกของพม่า แล้ววิ่งตรงไปยังแต่ละเมืองที่แสดง ทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และที่กรุงเนปิดอว์

ที่ด่านข้ามแดนระหว่างไทย-พม่านั้น ต้องส่งมืออาชีพไปช่วยทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รถขนเครื่องมือและอุปกรณ์ เพราะจะได้ไม่เสียเวลาในการเดินทาง เมื่อแสดงเสร็จที่กรุงย่างกุ้ง กลางคืนก็ต้องขนของขึ้นรถต่อไปที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อแสดงที่มัณฑะเลย์เสร็จ ก็ต้องขนของขึ้นรถต่อไปที่กรุงเนปิดอว์ ทั้งนี้ ในรายการแสดงมีเพลงเปียโนคอนแชร์โตของเบโธเฟน ก็ต้องขนเปียโนใหญ่ (Grand Piano) ไปทั้ง 3 เมืองด้วย

โชคดีที่ในพม่ามีเปียโนใช้ได้อยู่หลังหนึ่ง ต้องให้ช่างตั้งเสียงเปียโนเดินทางตามเปียโนไปด้วยทั้ง 3 เมือง เล่นเสร็จเมืองหนึ่งก็ถอดขาเปียโน ขนใส่รถเดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง ทำเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีและอุปกรณ์อื่นๆ

Advertisement

ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงเก่า (ค.ศ.1885-2006) อังกฤษตั้งขึ้นเป็นเมืองหลวง ซึ่งอังกฤษได้ยึดพม่ามาปกครองในสมัยล่าอาณานิคมโดยให้ทหารอินเดียดูแล ในย่างกุ้งจึงมีพม่าเชื้อสายอินเดียเยอะ ต่อมาญี่ปุ่นยึดพม่าไว้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1945-1948) และพม่าได้อิสรภาพจากการปกครองของต่างชาติในปี ค.ศ.1948 พม่าก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองระหว่างชนเผ่า ทหารพม่าปกครองพม่าอยู่นาน พม่าล้มลุกคลุกคลานมาจนมีการเลือกตั้งและได้มีรัฐบาลพลเรือน (ออง ซาน ซูจี) เมื่อต้นปี ค.ศ.2016

โรงละครแห่งชาติของย่างกุ้งมีที่นั่ง 1,441 ที่นั่ง สร้างโดยรัฐบาลจีน ดูดี แต่ไม่ได้รับการดูแลแต่อย่างใด ชำรุดทรุดโทรม ระบบเสียงไม่ดี เก้าอี้เก่า เวที ฉาก แสงสีเสียงใช้การไม่ได้ ที่ซ้ำร้ายก็คือ ระบบปรับอากาศไม่ทำงาน ส่วนคนที่ทำงานในโรงละครแห่งชาติก็ขาดความรู้ขาดความสามารถในการทำงานในหน้าที่ วงทีพีโอต้องเตรียมคนและอุปกรณ์ไปเอง จึงต้องใช้คนทำงานเพิ่มอีก 25 คน และนักดนตรี 95 คน

วันที่ 25 สิงหาคม 2559 วงเครื่องสาย 5 คน ได้แสดงที่บ้านเอกอัครราชทูตไทย (พิษณุ สุวรรณะชฎ) ประจำประเทศพม่า เพื่อเลี้ยงขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการแถลงข่าววงทีพีโอมาแสดงที่พม่าทั้ง 3 เมือง

Advertisement

คืนที่สอง ซึ่งเป็นวันสำคัญ วันที่ 26 สิงหาคม 2559 วงทีพีโอได้แสดงที่โรงละครแห่งชาติ ในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ขยายทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้รถติดอย่างมาก การแสดงของทีพีโอเริ่มที่ 1 ทุ่ม ครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์พม่า คนที่มาชมทีพีโอเป็นบัตรเชิญทั้งหมด มีนักการเมือง นายทหาร นักธุรกิจ ผู้มีเกียรติ และบุคคลสำคัญ ทำให้คนทั่วไปที่อยากฟังเพลงก็ลำบากเพราะไม่มีบัตรเข้าชม

มีผู้ชมเนืองแน่น เมื่อเครื่องปรับอากาศเสีย อากาศร้อนและอึดอัด นักดนตรีต้องเล่นในสถานการณ์ที่ยากลำบาก อากาศร้อนไม่สบายก็อย่างหนึ่ง เครื่องดนตรีเมื่อเจออากาศร้อน เสียงก็จะเปลี่ยนไปด้วย ยากแก่การเล่นให้ตรงเสียง ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงโทรศัพท์ ผู้ชมพูดโทรศัพท์ คนเดินไปเดินมา ช่างภาพถ่ายภาพถ่ายรูปตลอดเวลา ช่างกล้องโทรทัศน์ก็เดินถ่ายภาพกันทั่ว เพื่อจะให้ได้ภาพที่ต้องการ

เมื่อมีถ่ายทอดสด ก็ต้องมีโฆษกอธิบายเพลง ทำให้รายการแสดงล่าช้า กว่าจะแสดงเสร็จก็ปาเข้าไปสี่ทุ่มกว่า แต่ทุกคนก็มีความสุข

เสร็จจากนครย่างกุ้ง ก็ต้องเก็บของและกลับที่พักทันที เพราะวันรุ่งขึ้นจะต้องเดินทางไปเมืองมัณฑะเลย์ ขึ้นเครื่อง 08.05 น. ทุกคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ทานอาหารเช้า 6 โมง ออกเดินทางจากโรงแรม 6 โมงครึ่ง เพื่อหนีรถติด คำว่ารถติดเพิ่งเป็นคำใหม่ในพม่า แต่ก็ติดจนน่ากลัวทีเดียว ระยะทางจากเมืองไปสนามบินประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเดินทางเวลาไหน

ที่สนามบินย่างกุ้ง โดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศ ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีก เพราะว่าวงทีพีโอมีคนร้อยกว่าคน พนักงานยังต้องจัดการด้วยระบบนับด้วยมืออยู่ มีพนักงานอยู่มากเพียงพอ แต่ก็จัดการได้ช้า เมื่อบินไปถึงสนามบินเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งนา ห่างจากตัวเมือง 45 กิโลเมตร ก็ต้องนั่งรถเข้าเมือง ใช้เวลาเดินทางเป็นส่วนใหญ่ ทานอาหารเสร็จจึงเข้าที่พัก ฝ่ายเวทีและฝ่ายเครื่องดนตรีก็ต้องไปจัดเวที จัดเครื่องดนตรีก่อน แล้วนักดนตรีจึงไปซ้อมและเตรียมพร้อมเพื่อการแสดง

วันที่ 27 สิงหาคม 2559 แสดงที่โรงละครแห่งชาติเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า มีกษัตริย์อยู่ 2 พระองค์ มีพระเจ้ามินดง (Mindon Min ค.ศ.1853-1878) กับพระเจ้าธีบอ (Thibaw Min ค.ศ.1878-1885) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ก่อนอังกฤษจะเข้าไปปกครองพม่า ในปี ค.ศ.1885 ต่อมาอังกฤษได้ย้ายเมืองหลวงจากมัณฑะเลย์ไปอยู่ที่ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองท่าเพราะอยู่ใกล้ทะเล มีเรือสินค้าและเรือรบอังกฤษ สามารถเข้าถึงได้สะดวก ทำให้เมืองมัณฑะเลย์ถูกทิ้งร้าง

โรงละครแห่งชาติเมืองมัณฑะเลย์ สร้างอยู่ตรงข้ามกับพระราชวัง การแสดงวันนั้นใช้รายการเดิมและมีการถ่ายทอดสดด้วย ดำเนินรายการโทรทัศน์ให้ผู้ชมที่อยู่ทางบ้านได้ดู ผู้ฟังที่เมืองมัณฑะเลย์ มีความรู้ดนตรีดีมาก มีมารยาทในการฟังดนตรี มีวัฒนธรรมสูง มีผู้คนมาฟังเต็มโรง (1,194 ที่นั่ง)

บทเพลงพม่าที่เรียบเรียงโดยพันโท ประทีป สุพรรณโรจน์ ทำให้ผู้ฟังพม่าถึงกับน้ำตาซึม ผู้ประพันธ์เพลงเกิดที่เมืองมัณฑะเลย์ (เสียชีวิตแล้ว) ลูกชาย (Myoma) ได้มาร่วมฟังเพลงอยู่ด้วย เขาก็ดีใจมากที่บทเพลงของพ่อเป็นที่รู้จักของคนพม่าทั้งประเทศ แล้วถูกนำมาบรรเลงโดยวงทีพีโอ

วันที่ 28 สิงหาคม 2559 ทุกคนก็ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทัศนศึกษาที่เมืองพุกาม ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมงโดยรถบัส ความจริงระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร แต่ด้วยถนนที่แคบ ต้องผ่านหมู่บ้านและถนนที่ไม่ค่อยจะดีมากนัก นักดนตรีได้มีโอกาสเห็นความเป็นอยู่ของชาวพม่า เห็นการไถนาด้วยวัว การใช้วัวเทียมเกวียนเพื่อขนข้าว ขนหญ้า ขนผลผลิตการเกษตร นักดนตรีชาวตะวันตกก็จะชอบการเดินทางแบบนี้มาก

วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ออกเดินทางจากเมืองพุกามแต่เช้า เพื่อไปแสดงอีกครั้งที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ (ก่อตั้ง ค.ศ.2006) ระยะทาง 240 กิโลเมตร ก็ต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมง เส้นทางก็เป็นทางหลวงชนบท รถวิ่งได้ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กรุงเนปิดอว์ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งกว้าง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีเมือง ไม่มีชุมชน ไม่มีผู้คน รัฐบาลมีกุศโลบายเพื่อการปกครอง เพื่อให้เมืองหลวงอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของประเทศ เพราะเชื่อว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มี 7-8 กลุ่มใหญ่ๆ สามารถเข้าถึงรัฐบาลได้ง่ายกว่าที่จะไปถึงนครย่างกุ้ง ดังนั้น การย้ายเมืองหลวง การเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่าเป็นเมียนมา (Burma/Myanmar) จึงเป็นสาระสำคัญทางการเมือง

กรุงเนปิดอว์ มีโรงแรม 5-6 ดาว จำนวนมาก ราคาค่าที่พักก็แพง สร้างเพื่อเป็นที่พักของชาวต่างประเทศ นักธุรกิจ พ่อค้า ข้าราชการสถานทูตทั้งหลาย มีคนนินทากันว่า รัฐบาลพม่าได้ขายก๊าซให้แก่บริษัทประเทศไทย รัฐบาลทหารได้เงินมหาศาล ที่เหลือก็เอาไปสร้างกรุงเนปิดอว์ ถนนบางสายมีข้างละ 10 ช่องทางจราจร

นางออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณชาวพม่า เธอเดินทางมาฟังดนตรีด้วย เธอโดดเด่นประดุจนางฟ้า โดยบุคลิกแล้ว เธอมีความสง่างาม มีบารมีสูง แม้อายุ 71 ปีแล้ว เธอแข็งแรงปราดเปรียว ว่องไวดูดี เธอยืนตัวตรงฟังเพลงชาติพม่า ซึ่งบรรเลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะเล่นเพลงอื่น ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความเคารพเจ้าของประเทศด้วยบทเพลง แต่เนื่องจากเพลงชาติพม่าไม่ได้มีโน้ตเพลงบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้ามาก่อน จึงต้องเรียบเรียงขึ้นใหม่

เพลงชาติพม่าเดิมเป็นบทเพลงสากล เขียนขึ้นโดยนักดนตรีชาวพม่า (Saya Tin ค.ศ.1948) ต่อมาเมื่อรัฐบาลทหารปกครอง ก็ได้เพิ่มเพลงชาติท่อนแรกเป็นบทเพลงพม่าที่เล่นโดยเครื่องดนตรีพม่า แล้วเอาบทเพลงทั้ง 2 ท่อน มาต่อกัน มีคนนินทากันว่า “แต่ก่อนเมื่อชาวพม่ายืนฟังเพลงชาติพม่าแล้วก็จะยืนก้มหน้างอ” เพราะไม่ชอบเพลงชาติที่ทำขึ้นโดยทหาร หน้าที่ของวงทีพีโอก็ต้องทำเพลงชาติพม่าทั้ง 2 ท่อนให้เป็นเพลงเดียวกัน

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้ พันโท ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยนำบทเพลงทั้ง 2 ท่อน มาเรียบเรียงทำให้เป็นเพลงเดียวกัน ด้วยความไพเราะ การแสดงทุกเมืองที่เริ่มด้วยการบรรเลงเพลงชาติ ชาวพม่าที่นั่งอยู่ก็ลุกขึ้นยืน จบเพลงก็ปรบมือกันทุกคน ต่างก็บอกว่า “ฟังแล้วขนลุก”

นางออง ซาน ซูจี ได้ลุกขึ้นยืนฟังเพลงชาติพม่าอย่างตั้งใจ และยังกล่าวขอโทษถึง 6 ครั้ง เพราะว่ามีเด็กที่เข้ามาฟังการแสดงดนตรีครั้งนี้จำนวนมาก ส่งเสียงดัง เธอบอกว่า “ฉันอายมากเลยที่มีเด็กมาส่งเสียงดังในการแสดงดนตรี” เธอบอกขอบคุณวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย และเชิญให้ไปแสดงอีก เธอยังขอโทษที่อยู่ได้เพียงครึ่งเดียว เพราะจะต้องเข้าประชุมกับกลุ่มชาติพันธุ์ (ปางโหลง) ในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 เมื่อการบรรเลงจบครึ่งแรก เธอได้มอบดอกไม้ให้แก่วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ในการแสดงครั้งนี้มีคณะรัฐมนตรีมาร่วมฟัง 12 ท่าน และมีผู้ฟังเข้าชมเต็มโรง (1,778 ที่นั่ง)

การปรากฏตัวของผู้นำพม่านั่งฟังเพลงคลาสสิก เป็นสื่อบอกให้โลกรับรู้ว่า เธอเป็นผู้นำที่มีรสนิยม เป็นผู้นำที่มีวัฒนธรรม เป็นผู้นำที่มีการศึกษา โดยไม่ต้องพูด ไม่ต้องอธิบาย เธอมีบารมีและความน่าเชื่อถือ ทำให้เธอได้รับความร่วมมือจากคนทั้งประเทศอย่างท่วมท้น

ผู้นำอย่างเธอ ทำให้คนเห็นว่าพม่าเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image