ที่เห็นและเป็นไป : ต้อง ‘คนที่เชื่อใจได้’

ที่เห็นและเป็นไป : ต้อง ‘คนที่เชื่อใจได้’

ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศมีความสำคัญยิ่ง

เพราะ “ความเชื่อมั่น” นำมาซึ่ง “ความเชื่อถือ” และพาไปสู่ “ความเชื่อฟัง” เกิดความยินยอมพร้อมใจที่จะทำตาม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหรือการให้ความร่วมมือ

ท่ามกลางความโกลาหลที่สารพัดเรื่องเข้ามารุมเร้า “ความเชื่อถือ” พร้อมจะทำตามมีความสำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น

หากสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมได้ก่อน จะทำให้การจัดการประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยุ่งยาก

Advertisement

“ความเชื่อมั่น” ไม่มี “ความเชื่อถือ” ก็ไม่เกิด

ขาด “ความน่าเชื่อถือ” ใครจะ “เชื่อฟัง” และ “ยินยอมทำตามอย่างพร้อมใจ”

ในคนหมู่มากที่ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดไม่เคยฝึก “วินัย” มาก่อน มีแต่ผู้บริหารที่ขาดสติ และไม่มีปัญญาเพียงพอที่จะประเมินความเป็นจริงที่เท่านั้นที่คิด และเห็นว่าการใช้อำนาจบังคับจะสร้างระเบียบให้เกิดขึ้นในสังคมของคนจำนวนมากได้

ยิ่งเป็นสังคมที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อในระบบพวกพ้อง เส้นสาย โอกาสที่ได้เปรียบของคนในชนชั้นที่เหนือกว่า

สังคมที่หลักการการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมถูกละเลย

สังคมที่ผู้คนสิ้นหวังในระบบอำนวยความยุติธรรรม

ผู้บริหารที่ถนัดแต่ใช้อำนาจ ไม่มีศิลปะในการสร้างศรัทธา ด้วยหยาบเกินกว่าจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เพราะหล่อหลอมตัวตนมาด้วยสำนึกที่ใช้การหมิ่นแคลนคนอื่นมาปกป้องตัวเองไว้ในความคิดว่าเก่งกว่า ดีกว่า เหนือกว่า คือผู้ล้มเหลวในการสร้าง “ความเชื่อมั่น” มาแต่เริ่มต้น

ถ้าเป็นห้วงยามที่การอยู่ร่วมกันยังไม่วิกฤต ผู้คนยังช่วยตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อนมากนัก แม้จะมีปัญหาเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ หรือความหวังสำหรับอนาคตที่ดีกว่า ก็ยังพอประคับประคองให้พอหาความสุขไปวันๆ ได้บ้าง ไม่สิ้นหวังอย่างสลดหดหู่ ในความน่ากลัวว่าเอาชีวิตไม่รอดจนเกินไป

หรือคนที่ไม่ไหวกับชีวิตจริงๆ เป็นคนส่วนน้อย หรือคนส่วนใหญ่ยังแสดงถึงจิตใจที่ไม่ทอดทิ้งกัน ช่วยเหลือเผื่อแผ่ให้อยู่ร่วมสังคมกันต่อไปได้

การใช้อำนาจเพื่อจัดระเบียบสังคมก็ยังพอจะให้ภาพว่าได้ผลอยู่บ้าง อย่างมากก็เห็นเป็นเรื่องตลกที่หัวเราะกันไปเป็นครั้งเป็นคราว

แต่ถึงเวลานี้ ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว

วิกฤตของชีวิตจากการระบาดของโควิดที่รัฐบาลต้องออกมาตรการรุนแรงมาควบคุมการใช้ชีวิตและการทำมาหากินจนทำให้ผู้คนในสังคมต่างรู้สึกว่าต่างคนต่างเอาตัวไม่รอด

ไม่เจ็บป่วยล้มตายจากโรคระบาด ชีวิตก็ถูกบีบถูกเค้นจากการทำมาหากินที่ฝืดเคือง ยิ่งความยากลำบากในการใช้ชีวิตกระจายไปมากขึ้น ความสามารถที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมก็น้อยลง

และนำมาซึ่งความรู้สึกนึกคิดแบบ “ตัวใคร ตัวมัน”

ต่างคนต่างดิ้นรนเอาตัวรอด ทั้งจากโรคระบาด และจากการทำมาหากิน

ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำขยายถ่างกว้างมายาวนาน “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” คือสำนึกที่กำหนดพฤติกรรมของผู้คนที่นับวันจะแสดงตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

สังคมแบบนี้ การจัดการความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นด้วยการใช้อำนาจเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะธรรมชาติของอำนาจนั้นย่อมใช้ได้กับคนที่ต่ำต้อยกว่าเท่านั้น ไม่มีทางใช้ได้เลยกับคนที่เท่าเทียมกัน และยิ่งกับคนที่เหนือกว่าการใช้อำนาจยิ่งเป็นเรื่องชวนตลกขบขัน

ในสภาพเช่นนี้ ปรากฏการณ์ของความไม่เป็นธรรม การฉกฉวยจะเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาวะวิกฤตของสถานการณ์

สภาวะที่เชื้อโรคมีความร้ายแรงเกินกว่าประชาชนจะช่วยเหลือตัวเองจากความเจ็บป่วยได้ และความตายรออยู่ตรงหน้า

การใช้อำนาจเข้าจัดการที่สะท้อนชัดเจนขึ้นเรื่อยว่าถูกกดข่มให้ยอมรับความไม่เป็นธรรม

วัคซีนไม่มีสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่มีเหลือเฟือสำหรับคนบางกลุ่มบางพวก เช่นเดียวกับยาที่ดี เตียงในโรงพยาบาล การทุ่มเทบุคลากรทางการแพทย์

ลามมาถึงการเยียวยาชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการทำมาหากิน

สะท้อนจากการจัดสรรงบประมาณ และสรรพกำลังเพื่อบริหารจัดการวิกฤต

ใครตาย ใครรอด ตายแบบไหน รอดอย่างไร มีภาพให้เห็น มีเรื่องให้ดูตำตาอยู่ทุกวัน ท่ามกลางสถิติที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง และข่าวคราวเบื้องหน้าเบื้องหลังสารพัดที่ชวนให้สลดหดหูต่อสำนึกการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมมากขึ้น

สถานการณ์เช่นนี้คือหายนะ หากการบริหารจัดการยังเป็นไปโดยคณะที่ไร้ศิลปะในการสร้างความน่าศรัทธา ขาดซึ่งความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่น

ทางรอดที่เร็วที่สุดคือ ต้องพลิกฟื้น “ความเชื่อมั่นมาให้ได้” เพื่อให้ “ความเชื่อถือ” เกิดขึ้น และอาศัยให้เกิด “ความเชื่อฟัง” เพื่อความพร้อมใจในการทำตาม

คำตอบว่า “ทำไมต้องเปลี่ยน”

คือ “ทำไมถึงไม่เปลี่ยนเสียก่อนที่ประเทศชาติจะหายนะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image