แนวโน้ม การเมือง แนวโน้ม ความเป็นไปได้ ในการ ‘ปรับ ครม.’

ข่าว “ปรับ ครม.” ที่เริ่มโชยมาในเบื้องต้น และทวีความรุนแรง เชี่ยวกราก มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับมี “สาเหตุ” ที่แน่นอนอย่างยิ่ง

1 จากการเปลี่ยนแปลง “ภายใน” กระทรวงไอซีที

เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้าน “โครงสร้าง” เพื่อรับและสนองกับแนวทางนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มาพร้อมกับกระแส 4.0

จำเป็นต้องมี “ชื่อใหม่” ให้ “ทันสมัย”

Advertisement

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งเป็นปัจจัยอันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางการปรับ ครม.ของรัฐบาลในกาลอดีต

รัฐบาลก่อนหน้านี้ปรับ ครม.เพราะความขัดแย้ง “ภายใน”

รัฐบาลก่อนหน้านี้ปรับ ครม.เพราะมีความจำเป็นต้องเอาบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปแทนที่และแก้ไขจุดอ่อน ความบกพร่อง

Advertisement

แต่ปัจจุบันน่าจะมาจาก “ความมั่นใจ”

เป็นความมั่นใจจากชัยชนะอันท่วมท้นด้วยคะแนนเสียงกว่า 16 ล้านเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความมั่นใจจากผลโพลสำนักแล้วสำนักเล่าที่ออกมา

“ความมั่นใจ” นี่แหละที่จำเป็นต้อง “ต่อยอด”

 

พลันที่มีความมั่นใจในคะแนนนิยมและความสำเร็จของรัฐบาลก็นำไปสู่การทบทวนรากที่มาของคะแนนอย่างเอาจริงเอาจัง

ตรวจสอบผ่าน “กองเชียร์” ก็จะสัมผัสได้

1 บางสื่อให้คะแนนความพยายามเต็ม 10 ร้อยละร้อย 1 คะแนนด้านความมั่นคงก็น่าจะเต็ม 10 ร้อยละร้อย 1 คะแนนความสงบเรียบร้อยก็น่าจะเต็ม 10 ร้อยละร้อย

กระแสคัดค้าน กระแสต่อต้าน อาจมีแต่ก็ไม่ได้ใหญ่โต

กระนั้น เมื่อสำรวจลงไปในพรมแดนทางด้าน “เศรษฐกิจ” ก็เริ่มจะมองเห็นปัญหาว่าไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างที่วาดหวังไว้

สภาพแทบไม่แตกต่างไปจากยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ความสันทัดจัดเจนทางด้าน “การตลาด” ทางด้าน “การประชาสัมพันธ์” อาจจะคึกคักและดูสดใสงามตามากกว่า

เพราะแต่ละคนล้วนเป็น “ดร.” ทางด้าน “การตลาด” มา

แต่จากเดือนสิงหาคม 2558 ผ่านเดือนสิงหาคม 2559 ทำท่าว่าอาการยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก จะตกลงไปในร่องเดียวกันกับยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เพราะเริ่มเห็นอาการ “เกาเหลา” ผุดโผล่ขึ้นมาระหว่าง “ทีมเศรษฐกิจ” อย่างน่าใจหาย

ยากยิ่งจะใช้ศาสตร์ “การตลาด” มาแก้ไขได้

 

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่กำลังกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” คือ การต่อกันไม่ติดระหวางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับรองนายกรัฐมนตรีที่เป็น “หัวหน้าทีม” เศรษฐกิจ

จำเป็นต้อง “ปรับ” จำเป็นต้อง “เปลี่ยน”

นั่นก็คือ มีคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง มารับผิดชอบในการกำกับและดูแลแทน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ทั้งๆ ที่คำสั่งนี้นำไปสู่ “จุดอ่อน” อย่างสำคัญ

นั่นก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความจำเป็นต้องประสานและร่วมมือกันกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด

เพื่อจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยางพารา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าวโพด

หาก 2 กระทรวงนี้ไม่เชื่อมต่อกันแล้วก็จะเกิดการสะดุด

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงสภาพลักลั่นระหว่างกระทรวงคมนาคมกับรองนายกรัฐมนตรี หรือสภาพลักลั่นระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารกับรองนายกรัฐมนตรี

ตรงนี้แหละที่เริ่มเป็น “ปัจจัย” กดดัน “หนักหนาขึ้นเป็นลำดับ”

แรกที่มองเห็นปัญหาอาจยังไม่แน่ใจ แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งพร้อมกับมีปัจจัยแห่งความสำเร็จต่างๆ เข้ามาเสริมจึงเริ่มมั่นใจ

กลายเป็นความพร้อมในการบริหารและจัดการ

 

หากศึกษา “สภาพการณ์” ตลอด 2 ปีเศษของรัฐบาลก็จะประจักษ์ใน “ความจำเป็น” ของการปรับ ครม.

น่าเชื่อว่า แม้จะเริ่มต้นจากกระทรวงไอซีทีซึ่งเป็นกระทรวงเล็กๆ แต่ก็อาจทะยานไปสู่การปรับใหญ่ เพื่อกระชับพื้นที่และเสริมความมั่นใจให้กับรัฐบาล

ก่อนจะจัดแถวและเข้าสู่ “การเลือกตั้ง” ในปลายปี 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image