แจงบริหารวัคซีนต้านโควิด ฉีดแล้ว-เคลียร์ปมค้างสต๊อก

หมายเหตุความเห็นนายแพทย์สาธารณสุข-นักการเมือง กรณีการจัดสรรและการฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้าทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง16 กรกฎาคม ที่ฉีดไปแล้วและที่เหลือคงคลัง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ได้รับกว่า 4 ล้านโดสแต่มีวัคซีนที่เหลือไม่ได้ฉีดอีก 1.3 ล้านโดสนั้น

นพ.เรวัต วิศรุตเวช
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย

วัคซีนฉีดไม่พอ ฉีดน้อยไป หรือฉีดไม่ทันเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและวิกฤตที่สุดแล้ว ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มวิกฤตมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น แม้จะล็อกดาวน์ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร

Advertisement

สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากวัคซีนมันจะเป็นตัวช่วย แม้จะไม่ได้ช่วยภายในวันนี้หรืออาทิตย์หน้า แต่อย่างน้อยภายใน 1 เดือน ถ้ามีวัคซีนฉีดมากพอสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น ประชาชนก็จะได้มีภูมิในระดับที่พอสมควรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยหรือป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้เตียงในโรงพยาบาลเต็มหมดแล้ว หากไม่แก้ปัญหาด้วยการระดมฉีดวัคซีนเท่ากับไม่ได้แก้อะไรเลย แม้ล็อกดาวน์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตอนนี้คนติดเชื้อกันภายในบ้าน ต่อให้ล็อกดาวน์ก็ติดกันอยู่ดี แล้วก็เอาเข้าระบบการรักษาไม่ได้ ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ทั้งนี้ เราต้องการให้หน่วยงานกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดซื้อวัคซีน ต้องเร่งซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลก คือ วัคซีน mRNA ตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ เพราะอย่างน้อยมันก็จะสู้กับสายพันธุ์เดลต้าได้ แต่หากเป็นซิโนแวคปัญหาคือถึงจะฉีดไปแต่ประสิทธิภาพกับสายพันธุ์เดลต้ามันต่ำ เมื่อต่ำก็ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน เวลานี้ประชาชนข้อมูลข่าวสารเขาดีมาก มีหลายจังหวัดที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนซิโนแวคเลย เพราะอย่างน้อยเขาก็อยากได้แอสตร้าเซนเนก้า แต่การที่ไปไขว้สูตรฉีดซิโนแวคก่อนแล้วค่อยฉีดแอสตร้าเซนเนก้า หลายคนก็ไม่อยากฉีด มีการขอแม้กระทั่งว่าขอฉีดแค่แอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ซึ่งก็น่าเห็นใจ

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งรัฐบาล ต้องเร่งทำทุกอย่างทั้งการเจรจาจัดซื้อวัคซีนโดยเร็ว หรือขอบริจาค ต้องวิ่งเต้น อยู่นิ่งๆ แบบนี้ไม่ได้ หากไม่ฉีดวัคซีนสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ดีขึ้นแน่นอน

Advertisement

ดังนั้น วัคซีนของ กทม.ที่เหลืออยู่ประมาณ 1.3 ล้านโดส ต้องเร่งระดมฉีดปูพรมให้มากที่สุด มีเท่าไรเอาออกจากคลังให้มากที่สุด ถ้าฉีดจนหมดคลังยังดีเสียกว่า เพราะสามารถช่วยให้ทุกคนปลอดภัยได้

ทุกการระบาดแต่ละระลอกคนไทยดูแลตัวเองอย่างดี ดูแลเต็มที่ แต่ปรากฏว่าขณะนี้สายพันธุ์เดลต้ามันระบาดและติดง่ายมาก เขาระมัดระวังเต็มที่มันก็หลีกเลี่ยงการติดไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งคนไทยช่วยตัวเองเต็มที่อยู่แล้ว แต่รัฐเองก็ต้องช่วยกัน รีบนำวัคซีนเข้ามาโดยเร็วเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย นอกจากนี้ ขอย้ำให้ประชาชนใส่แมสก์เต็มที่ หลีกเลี่ยงการไปเจอคนนอกบ้านแล้วเปิดแมสก์ทานข้าวด้วยกัน และต้องไม่ไปที่ชุมชนแออัดเด็ดขาด

เวลานี้ปัญหาหนักที่สุดคือเมื่อป่วยแล้วหาเตียงไม่ได้ ส่วนตัวเคยเสนอไปทุกกรมของกระทรวงสาธารณสุขขอให้ช่วยกันเต็มที่โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้ ที่ผ่านมากระทรวงมีชื่อเสียงในการป้องกันและควบคุมโรค เราทำได้ดีทุกครั้ง

แต่ครั้งนี้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างของอำนาจรวมศูนย์ ทำให้การใช้ระบบระบาดวิทยาโดยวิชาการทางการแพทย์ไม่เป็นอิสระ จึงทำให้การควบคุมโรคมีปัญหามาก

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา

การระดมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ได้วางเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปในจังหวัดนครราชสีมา อยู่ที่ 2,116,700 ราย ซึ่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 248,291 ราย คิดเป็น 11.73 % ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 128,730 ราย คิดเป็น 6.08% รวมฉีดวัคซีนไปแล้ว 377,021 โดส

ขณะที่การจัดสรรวัคซีนให้กับจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า นครราชสีมาได้รับ 369,240 โดส จากข้อมูลระบบ MOPHIC วันที่ 16 กรกฎาคม มีวัคซีนเหลือคงคลังอยู่ 166,453 โดส ฉีดวัคซีนไปแล้ว 202,787 โดส

เมื่อคิดสัดส่วนการฉีดเทียบกับวัคซีนที่ได้รับจัดสรร คิดเป็น 54.9% และสัดส่วนวัคซีนคงคลัง เทียบกับผลการฉีดวัคซีน อยู่ที่ 82.08% นั้น

ขอชี้แจงว่า เดิมวัคซีนซิโนแวคที่ได้รับจัดสรรมา ได้ทยอยแจกจ่ายไปให้ รพ.ต่างๆ ฉีดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนตามแผนที่วางไว้

แต่เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด

โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ซึ่งจะกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วขึ้น

ต่อมา 18 กรกฎาคม กรมการแพทย์ประกาศฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อ โดยคนที่ได้เข็ม 1 เป็นซิโนแวค ช่วงต้นกรกฎาคม 2564 จะได้รับเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไปนั้น

ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ไม่มีปัญหาเรื่องของการฉีด และพร้อมตามนโยบายดังกล่าวโดยเร็ว แต่ห้วงที่ผ่านมาวัคซีนแอสตร้าฯมีไม่เพียงพอสำหรับการสลับฉีดรูปแบบใหม่

จึงขยับฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ออกไปก่อน เพื่อรอวัคซีนแอสตร้าฯเข้ามาให้พร้อมสำรองไว้ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ได้ทันช่วงเวลาที่กำหนด ให้ฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์นั่นเอง

พรุ่งนี้ (21 กรกฎาคม) จุดบริการฉีดวัคซีนของ รพ.มหาราชฯ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่านครราชสีมา จะเริ่มกลับมาฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อีกครั้ง ในรูปแบบวัคซีนสลับ

ส่วนกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป กับกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ยังคงเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา จะดำเนินการเช่นกัน พร้อมกับติดตาม-ประเมินผลการให้วัคซีนแบบสลับชนิดอย่างเป็นระบบ

นพ.เอกชัย คำลือ
นายแพทย์ สสจ.แม่ฮ่องสอน

รัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนให้ จ.แม่ฮ่องสอน คือซิโนแวคและแอสตร้าฯ โดยทยอยให้เป็นรายสัปดาห์ ล่าสุดยอดที่ได้รับ 34,160 โดส ถ้าเป็นแอสตร้าฯจะฉีดห่างกัน 12-16 สัปดาห์ ถ้าเป็นซีโนแวคจะฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นซีโนแวคส่งมาถ้าได้เท่าไรก็จะแบ่งครึ่งโดยเก็บไว้ครึ่งหนึ่ง เผื่อว่าถึง 3 สัปดาห์แล้วของใหม่ไม่มาก็จะใช้ของที่เหลือฉีดให้กับผู้ที่ได้นัดไว้เพื่อไม่ให้มีปัญหากับการนัด ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมที่เหลือไม่ฉีดให้ประชาชนเก็บไว้ทำไม เหตุผลก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับผู้ที่ฉีดเข้มแรกไปแล้วแต่เข็มสองไม่ได้ฉีด

แต่ถ้าเป็นแอสตร้าฯจะฉีดให้ทั้งหมดที่รับมา จะไม่เก็บตุนไว้ เพราะแอสตร้าฯมีระยะเวลาของการฉีดเข็มสอง เวลานาน 12-16 สัปดาห์ โดยวัคซีนทั้งหมด 34,160 โดส ฉีดไปแล้ว 23,000 โดส ถ้านับเฉพาะเข็มที่หนึ่งก็ได้ไปแล้ว 17,000 คน ถือว่าภาพรวมทั้งจังหวัด ที่ผู้ว่าฯอยากให้ได้ 70% อยู่ที่ 17,000 คน

แม่ฮ่องสอนก็น่าจะได้ 10% ของประชาชนทั้งหมดที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือด้วยกัน

สำหรับปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงการเดินทางของประชาชนค่อนข้างลำบาก ยิ่งเข้าสู่ฤดูฝนยิ่งลำบาก เพราะต้องตั้งรับอยู่ในพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้ออกไปบริการเหมือนการฉีดวัคซีนประเภทอื่นๆ ซึ่งเรามีบริการในพื้นที่ทั้งหมด 7 แห่ง ของโรงพยาบาลประจำอำเภอ ดังนั้น ต้องให้ประชาชนเดินทางไปยังจุดที่ให้บริการเท่านั้น

ขณะนี้แม่ฮ่องสอนมีผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้ออยู่โรงพยาบาล 31 คน และตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 83 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 52 ราย ในจำนวน 31 รายที่ตรวจพบนั้น เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัดที่ขอกลับมารักษาที่บ้าน 27 ราย ส่วนอีก 4 ราย เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัด

ซึ่งขณะนี้แม่ฮ่องสอนยังไม่มีการระบาดในพื้นที่แต่อย่างใด

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตได้รับการจัดสรรวัคซีน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน 2564 กว่า 3 แสนโดส เพิ่งเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 392,522 คน คิดเป็น 73% ของประชากร

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนให้กับจังหวัดภูเก็ตเดือนกรกฎาคมนี้อีก 200,000 โดส ในจำนวน 100,000 คน โดยจะฉีดให้เพิ่มเติมในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน อาทิ นักเรียนที่อายุเกิน 18 ปี คาดว่ามีจำนวนประมาณกว่า 3,000 คน ครูอาจารย์ที่ยังไม่ได้ฉีด 139 คน นัดฉีดในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนเข้ามาทาง www.ภูเก็ตต้องชนะ.com โดยใช้ศูนย์ฉีดที่สะพานหินแห่งเดียว จะเปิดฉีดไปเรื่อยๆ สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน และเสริมในกลุ่มนักเรียนรวมถึงคนภูเก็ตที่ยังไม่ได้ฉีด ขอให้เข้ามาฉีดเพื่อลดอัตราการป่วย เจ็บ เสียชีวิตได้

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 การฉีดวัคซีนจังหวัดภูเก็ต เป้าหมายที่วางไว้ 466,587 คน ผู้ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 404,590 คน คิดเป็น 87% ผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็ม 318,046 คน คิดเป็น 68%

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์
นายแพทย์ สสจ.ประจวบคีรีขันธ์

ภาพรวม จ.ประจวบคีรีขันธ์ฉีดวัคซีนแล้ว 106,015 โดส สำหรับตัวเลขที่ยังค้างฉีดมีประมาณ 14,000 โดส จะฉีดให้เสร็จภายในวันที่ 20 กรกฎาคม แต่หลังจากนี้อาจมีตัวเลขค้างประมาณ 1,000 โดส เนื่องจากผู้ลงทะเบียนไม่มาฉีดตามคิว เนื่องจากมีภารกิจจำเป็นเร่งด่วน หากแจ้งเหตุผลให้ทราบ เจ้าหน้าที่จะเลื่อนคิวฉีดให้ตามความเหมาะสม สำหรับผู้ที่ไม่แจ้งเหตุผล ก็จะเลื่อนฉีดบุคคลอื่นเป็นคิวถัดไป

การบริหารการฉีดไม่มีปัญหา หากวัคซีนได้รับจัดสรรเพียงพอตามเป้าหมาย ยกเว้นผู้ลงทะเบียนในหมอพร้อมเดิมหรือหมอประจวบพร้อม ปฏิเสธวัคซีน

ล่าสุดหลังจากนัดหมายผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ฉีดวัคซีนซีโนแวค เข็มที่ 1 จำนวน 14,274 โดส ในโรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง พบว่ามีผู้จองคิวผ่านระบบหมอพร้อม ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีน 10% ตามสูตรการฉีดแบบใหม่ โดยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 จากนั้น 3 สัปดาห์จะนัดเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2

แต่หลังจากนี้ ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาหรือมีความเสี่ยงการติดเชื้อกลายพันธุ์

ขณะที่ภาครัฐพยายามสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน และตั้งใจจะฉีดครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในช่วงแรกให้มากที่สุด ขณะที่คิวหมอพร้อมล่าสุดเหลือ 25,000 โดส แผนเดิมจะฉีดครบตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2564

แต่ต่อมามีการปรับแผนวัคซีนไปช่วยใน กทม.และปริมณฑล และคาดว่าช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 จะทยอยฉีดให้ครบ ยกเว้นว่าบางรายมีการเทคิว เนื่องจากคนอายุ 60 ปีขึ้นไปบางราย ลูกหลานไม่ต้องการให้ฉีดซิโนแวคเข็ม 1 มีการอ้างข้อมูลเก่าขององค์การอนามัยโลกจากกรณีการใช้วัคซีนลูกผสม แต่สำหรับเป้าหมายในจังหวัดได้บอกไปแล้วว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค

ก่อนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้การจัดสรรวัคซีน ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากแผนเดิมที่วางไว้ไม่มีการระบาดใหญ่ที่ กทม. และการฉีดเข็ม 2 จะฉีดได้ในเดือนกันยายน 2564 โดยอัพเกรดให้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้วัคซีนก่อนจังหวัดอื่น เนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยวมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านยาวที่สุดก็จะได้รับสนับสนุนวัคซีนมากสุดในเดือนสิงหาคม 2564 กระทั่งครบตามเป้าหมาย

แต่เมื่อมีการระบาดใหญ่ใน กทม.ในการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ทำให้มีการดึงวัคซีนกลับไปบริหารใหม่ใน กทม.และปริมณฑล จึงคาดว่าวัคซีนที่จะได้รับอาจพอดีในเดือนกันยายน 2564 หรืออาจล่วงเลย ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้

ขณะที่ส่วนกลางได้สั่งซื้อวัคซีนทางเลือกอีกหลายยี่ห้อ เชื่อว่าจะนำมาเติมในส่วนที่ขาด อาจเป็นไปได้ที่จะพอดีเวลาก่อนถึงช่วงเปิดเมืองในไตรมาสสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image