เปรียบเทียบอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กับอดีตประธานาธิบดีซูมาแห่งแอฟริกาใต้

อดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา

ผู้เขียนเป็นแฟนคอลัมน์ของ นายกวินน์ ไดย์เออร์ นักหนังสือพิมพ์คอลัมนิสต์อิสระ ผู้เขียนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ 175 ฉบับใน 45 ประเทศและเคยเป็นนักประวัติศาสตร์การทหารผู้สอนวิชาสงครามศึกษาที่ราชวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิสต์ระหว่าง พ.ศ.2516-2530 แล้วจึงยึดอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์คอลัมนิสต์จนปัจจุบัน มีอายุ 78 ปี

นายกวินน์ ไดย์เออร์

นายกวินน์ ไดย์เออร์ ได้เขียนบทความเปรียบเทียบ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อายุ 75 ปี แห่งสหรัฐอเมริกากับ อดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา อายุ 79 ปี แห่งประเทศแอฟริกาใต้ในกรณีที่บุคคลทั้ง 2 นี้เคยเป็นทั้งประมุขและผู้บริหารสูงสุดของประเทศเหมือนกันคือทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลา 4 ปีและนายจาค็อบ ซูมาเป็นประธานาธิบดี 9 ปีเรียกว่าดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศนานเหมือนกัน

ทั้งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ และอดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมาต่างก็โดนฟ้องร้องด้วยคดีต่างๆ ทั้งคดีแพ่ง และอาญารวมทั้งคดีข่มขืน คอร์รัปชั่น ให้และรับสินบน การฟอกเงิน หลีกเลี่ยงและโกงภาษี ฯลฯ หลายร้อยคดีแต่ทั้ง 2 อดีตประธานาธิบดีก็เหมือนกันคือ ปฏิเสธและไม่ยอมไปปรากฏตัวที่ศาลตามที่ถูกฟ้องร้องกล่าวหาเลย แม้แต่คดีเดียว

ประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมาได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญคือในสมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดี แห่งแอฟริกาใต้อยู่นั้นเขาได้ร่วมมือกับนักธุรกิจตระกูลคุปตะที่เป็นชาวอินเดียเป็นหลักและนักการเมืองที่เป็นลูกสมุนของเขาทำการ “ยึดรัฐ (state capture)” ซึ่งเป็นการทุจริตทางการเมืองอย่างเป็นระบบชนิดหนึ่ง ซึ่งผลประโยชน์ของเอกชนมีอิทธิพลต่อกระบวนการวินิจฉัยสั่งการของรัฐอย่างมาก เพื่อประโยชน์ส่วนตนธนาคารโลกเป็นผู้นำคำว่าการยึดรัฐนี้มาใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2543 เพื่ออธิบายสถานการณ์ของบางประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางที่กำลังเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจออกจากคอมมิวนิสต์โซเวียต โดยใช้กับสถานการณ์ที่กลุ่มทุจริตกลุ่มเล็กๆ ใช้อิทธิพลที่มีเหนือข้าราชการในการเข้าควบคุมการวินิจฉัยสั่งการของรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตน กลุ่มคนพวกนี้ก็คือคณะบุคคลที่เข้ามายึดรัฐที่เรียกว่า “คณาธิปัตย์” นั่นเอง

Advertisement
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นิยามของ “การยึดรัฐ” คือ วิธีการที่กระบวนวิธีดำเนินการอย่างเป็นทางการ เช่น ทางกฎหมายและบรรทัดฐานของสังคม และระบบข้าราชการประจำของรัฐบาลจะถูกชักใยโดยข้าราชการ บริษัทที่รัฐบาลสนับสนุน บริษัทเอกชน หรือปัจเจกบุคคล เพื่อมีอิทธิพลต่อนโยบายและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตน

การยึดรัฐมุ่งมีอิทธิพลต่อการร่างกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมตัวแสดงที่มีอิทธิพลและผลประโยชน์ของตัวแสดงดังกล่าว ในความหมายนี้ การยึดรัฐจึงต่างจากการทุจริตทางการเมืองแบบอื่น ซึ่งมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายบางส่วนที่มีอยู่ก่อนแล้ว ประมาณกันว่าอดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมาใช้วิธีการยึดรัฐนี้ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้สูญเสียเงินงบประมาณไปร่วม 2.7 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

การที่นายจาค็อบ ซูมาไม่ยอมไปขึ้นศาลเลยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญของแอฟริกาใต้พิพากษาว่าเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศาลโดยปราศจากข้อสงสัยเพราะทำให้กระบวนการและความชอบธรรมในการไต่สวนของศาลเสียหาย นอกจากนี้ ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่านายซูมาได้ทำการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อป้ายสีให้ร้ายคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต และกระบวนการยุติธรรม และยังได้กล่าวซ้ำหลายครั้งว่าจะยอมติดคุกมากกว่าการยอมไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการไต่สวน จึงได้สรุปคำพิพากษาว่า

Advertisement

“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหรืออยู่ในสภาวะใด การขัดขืนและไม่เคารพคำสั่งในกระบวนการยุติธรรมสามารถนำไปสู่วิกฤตต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการสมควรที่ผู้ถูกฟ้องสามารถทำอะไรหรือไม่ทำอะไรตามอำเภอใจการกระทำเช่นนั้นจะทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่กระดาษเปล่า”

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาจำคุกนายจาค็อบ ซูมา 15 เดือนโดยไม่รอลงอาญาส่วนคดีอื่นๆ ก็ให้ดำเนินต่อไปโดยศาลยุติธรรม เมื่อนายจาค็อบ ซูมาต้องเข้าคุกแล้วเขาก็มั่นใจว่าชาวเผ่าซูลูของเขา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแอฟริกาใต้ (ประมาณ 22% ของประชากรแอฟริกาใต้) จะก่อการจลาจลเพื่อบีบรัฐบาลแอฟริกาใต้เลิกล้มที่จะดำเนินคดีกับเขาอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นความจริงโดยชาวซูลูออกมาปล้นสะดมและเผาร้านสะดวกซื้อและธุรกิจต่างๆ ประมาณ 200 แห่ง มีคนตาย 75 คนและถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดีกว่า 1,700 คน แต่รัฐบาลแอฟริกาใต้ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินคดีต่างๆ ของนายจาค็อบ ซูมาต่อไป

ครับ ! นายกวินน์ ไดย์เออร์ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ “Today it’s Zuma, tomorrow it could be Trump” ว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็คงมั่นใจเหมือนกับนายจาค็อบ ซูมานั่นแหละว่า หากเขาถูกศาลพิพากษาจำคุกจากคดีความนับร้อยๆ คดีแล้ว ชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาคือบรรดาคนผิวขาวที่ที่อาศัยอยู่ในชนบทอเมริกา ซึ่งมีประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาที่ถือว่านายทรัมป์ คือผู้นำที่แท้จริงของเขาก็จะออกมาก่อการจลาจลบีบให้รัฐบาลอเมริกันต้องเลิกล้มการดำเนินคดีกับเขาเช่นเดียวกันกับที่นายจาค็อบ ซูมาที่เชื่อมั่นเช่นนั้น

นายกวินน์ ไดย์เออร์ ก็คาดการณ์ว่าในที่สุดอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต้องติดคุกหัวโตอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้นั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image