การผ่อนผันแรงงาน จากประเทศเพื่อนบ้าน

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก่อนประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด (20 ก.ค.-2 ส.ค.) ทำให้นึกย้อนหลังไปถึงการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างซึ่งมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และความกังวลว่าคลัสเตอร์แรงงานดังกล่าวจะทำให้การระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงประกาศให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่ 10 จังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส เป็นเวลา 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

หลังจากคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างทุกแห่ง แรงงานต่างด้าวทั้งเมียนมาและกัมพูชา ต่างพากันเก็บข้าวของขึ้นรถบรรทุก เดินทางออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับภูมิลำเนากันเป็นจำนวนมาก แม้ว่ารัฐจะจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องอยู่ภายในแคมป์ห้ามออกไปไหน จึงเดินทางกลับไปอยู่ที่บ้านชั่วคราว นอกจากนี้ยังพบว่ามีนายจ้างบางรายนำแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชามาส่งทิ้งตามข้างทางเพื่อให้เดินทางต่อกันเองเพื่อข้ามจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง ต้องกวาดต้อนไปรวมไว้ที่ข้าง สนง.ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง เพราะเกรงว่าจะมีแรงงานที่ติดเชื้อปะปนมาด้วย

ปฏิกิริยาของแรงงานข้ามชาติดังกล่าวอาจมีส่วนทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยิ่งเลวร้ายขึ้นรวมทั้งการหยุดชะงักของโครงการก่อสร้างต่างๆ

เพื่อช่วยภาครัฐหาทางออกในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ เช่น Migrant Working Group, LPN, MWRN, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตลอดจนภาคเอกชนในกิจการก่อสร้างและสภาอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ประชุมออนไลน์ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโสของสถาบันได้สรุปข้อเสนอ 6 มาตรการด้านแรงงานข้ามชาติในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในแคมป์ก่อสร้างและเผยแพร่ในสื่อมวลชนแล้ว

Advertisement

หนึ่งในมาตรการคือการเสนอให้มีการผ่อนผันการจับกุม “เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งปิดตัว ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา และนโยบายปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายในมาเลเซีย ทำให้แรงงานบางส่วนไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศไทย หลายคนต้องเปลี่ยนนายจ้าง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หลุดออกจากระบบ หมดสิทธิประกันสังคมและประกันสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิดในคนกลุ่มนี้ ภาครัฐควรผ่อนผันเรื่องการจับกุม โดยที่ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้าสู่ระบบพร้อมการตรวจโรค ซื้อประกันสุขภาพ และทำใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ มาตรการผ่อนผันและเปิดโอกาสให้เข้าสู่ระบบต้องทำด้วยความรัดกุม ไม่ให้นำไปสู่การเกิดวัฏจักรการลักลอบเข้าเมือง-จับกุม-ผ่อนผัน แบบเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนเรื่องการนำเข้าแรงงานที่สะดวกและไม่เกิดค่าใช้จ่ายนอกระบบที่สูงมากแบบทุกวันนี้ โดยการปรับกฎเกณฑ์ในการอนุญาตนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ควบคู่กับการเอาจริงกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งจะนำเสนอในมาตรการระยะยาวต่อไป”

ข้อแม้ที่สำคัญของมาตรการการผ่อนผันฯที่เสนอคือความเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดวัฏจักรการลักลอบเข้าเมือง-จับกุม-ผ่อนผัน ไม่สิ้นสุด กล่าวง่ายๆ คือการผ่อนผันจะให้ท้ายอาชญากรนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวโยงกับการค้ามนุษย์และการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง คณะผู้เขียนจึงย้ำว่ามาตรการผ่อนผันการจับกุมนี้เป็นมาตรการระยะสั้นโดยได้เกริ่นมาตรการระยะยาวไว้เช่น
“การลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและออกใบอนุญาตทำงาน การถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเชื่อมต่อกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานและการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ”

มาตรการระยะยาวดังกล่าวยังเป็นแค่ประเด็นตั้งต้นและจะต้องมีการศึกษาให้รอบคอบโดยเร็วต่อไป

Advertisement

ผู้เขียนเห็นด้วยทั้งมาตรการผ่อนผันการจับกุมและการเตรียมมาตรการระยะยาว แต่การผ่อนผันแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของภาครัฐ เพราะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว

การผ่อนผันแรงงานผิดกฎหมายไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องซ้ำซากที่ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ เคยเขียนไว้ในบทความชื่อ “ปัญหาซ้ำซากแรงงานเถื่อน! ช่องโหว่! เจ้าหน้าที่รัฐ-นายหน้า” ลงในเดลินิวส์ วันที่ 1 มกราคม ปีนี้ ในขณะที่ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ก็เคยเขียนลงในกรุงเทพฯธุรกิจเมื่อวันที่ 16 มกราคม เรื่อง “ปมแรงงานต่างด้าว: คนข้ามแดนผิดกฎหมาย เหตุ” โควิด “แพร่กระจายรอบสอง” และในมติชน วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เรื่อง “ปัญหา-แนวทางแก้ไข แรงงานต่างด้าวในวิกฤตโควิด” ซึ่งข้อเสนอของ ดร.นิพนธ์และคณะนับได้ว่าช่วยตอกย้ำให้เห็นแนวทางแก้ไขมากขึ้นโดยสะท้อนเสียงของประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

ผู้เขียนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการนโยบายและบริหารแรงงานต่างด้าวก็ทราบปัญหานี้ดีและเคยมีดำริที่จะยกเลิกการขึ้นทะเบียนแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายและใช้วิธีการนำเข้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทาง (Memorandum of Understanding: MOU) อย่างเดียว แต่ก็ทำไม่ได้เพราะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการห้ามเดินทาง ในปีที่ผ่านมาส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างหรือใบอนุญาตหมดอายุแต่เดินทางกลับประเทศไม่ได้ ต้องตกค้างอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีงานทำและรายได้ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้เปิดให้แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตหมดอายุได้อยู่ต่อไป รวมทั้งวิธี MOU ก็ยังมีปัญหา

ปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองเป็นงานยากระดับโลก ขนาดสหรัฐอเมริกาลงทุนสร้างกำแพงชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกยาวกว่า 3 พันกิโลเมตร ก็ยังแก้ไม่ได้ และไม่ได้มีแต่ประเทศไทยที่ประสบปัญหานี้แต่หลายประเทศทั่วโลกก็มีปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศแถบเอเชียที่นำเข้าแรงงานข้ามชาติ อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้

ถ้ายังจำได้สมัยที่ คสช.เข้าบริหารประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 และมีนายทหารระดับรัฐมนตรีออกมาเปรยว่ารัฐจะใช้มาตรการปราบปรามแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างจริงจังและเฉียบขาด แค่นั้นเองแรงงานกัมพูชายกพวกกลับบ้านเป็นแสนๆ และภาคธุรกิจก็เดือดร้อน โดยเฉพาะงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเกือบทั้งหมด สุดท้ายรัฐบาลต้องรีบเชิญแรงงานดังกล่าวกลับเข้ามาโดยเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จให้ลงทะเบียนเกือบทั่วประเทศและยอมให้แรงงานที่ไม่มีหลักฐานการเข้าเมืองได้ขึ้นทะเบียน

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้มีการออกกฎหมายการบริหารจัดการแรงงานแรงงานข้ามชาติ โดยออกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2560 ซึ่งก็มีเงื่อนไขและบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง การประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลทำให้แรงงาน 3 สัญชาติจำนวนหนึ่งเดินทางกลับประเทศต้นทางในทันทีและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เห็นพ้องด้วยอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะจากภาคเอกชน

จากแรงกดดันของภาคเอกชน รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 โดยให้เหตุผลว่า

พ.ร.ก.ฉบับ 2560 “มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้ระบบอนุญาตเกินความจำเป็นไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษในอัตรารุนแรงเช่นเดียวกับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ แม้การใช้แรงงานต่างด้าวโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชกำหนดนี้จะมิได้กระทำโดยมีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ก็ตามทำให้เกิดความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม ภาคผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคการค้าและอุตสาหกรรม จนกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดดังกล่าวโดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็นและกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน การทำงานของคนต่างด้าว การรับคนต่างด้าวเข้าทำงานให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบรวม ทั้งปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสม”

ครับ เท้าความมานิดหน่อยเพื่อให้เห็นว่ามาตรการระยะยาวยังมีเรื่องต้องทำอีกมากและต้องพยายามทำต่อไปโดยทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน
เพื่อให้ทราบปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศอื่น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเล่าประสบการณ์การขึ้นทะเบียนผ่อนผันแรงงานข้ามชาติในประเทศมาเลเซียมีปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายไม่น้อยกว่าไทย โดยมาเลเซียมีแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายประมาณ 2 ล้านคน และแรงงานผิดกฎหมายเกือบ 3 ล้านคน (The Straits Times 18/2/2021) และกำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 รุนแรงกว่าไทยและมาเลเซียเพิ่งโดนรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐลดระดับลงมาอยู่ต่ำสุดคือ เทียร์ 3 (TIP Report 2021)

ไว้โอกาสหน้าครับ

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image