สถานการณ์โควิด-19 ในพม่า เรื่องเล่าจากรัฐล้มเหลว

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่จู่โจมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าอย่างจัง จนตัวเลขผู้เสียชีวิตในอินโดนีเซียแซงประเทศที่มีการระบาดหนักๆ อย่างบราซิลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือสถานการณ์ของไทยที่ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น แม้ประเทศในอาเซียนเพิ่งได้รับบริจาควัคซีนจากโครงการ COVAX ร่วม 33 ล้านโดส มีเพียงไทย พม่า และสิงคโปร์ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว (สิงคโปร์เป็นประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่ได้ร่วมโครงการ COVAX ที่มีจุดประสงค์เพื่อบริจาควัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนา) การที่ไทยและพม่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX มาตั้งแต่บ่งชี้เป้าหมายของรัฐบาลอำนาจนิยมทั้งสองประเทศได้ดียิ่ง รัฐบาลไทยไม่ได้มีความจริงใจจัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวัคซีนประเภท mRNA ให้กับประชาชน และยังนำเข้าวัคซีนที่มีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ แต่ด้วยการกดดันของภาคประชาสังคมในไทย ก็ทำให้รัฐบาลเริ่มหาทางนำเข้าวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์และโมเดอร์นา หลังจากใช้เวลาพิจารณานานนับปี จนมีผู้กล่าวว่าสังคมไทยในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยการ “ด่า” มากกว่าอย่างอื่น

สถานการณ์ในพม่าน่าห่วงกว่าทุกประเทศ เพราะนอกจากรัฐบาลพม่าตั้งแต่ในยุครัฐบาลพลเรือน NLD จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX แล้ว สถานการณ์ด้านสาธารณสุขแย่ลงทุกมิตินับตั้งแต่เกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประท้วง และประกาศแนวทางอารยะขัดขืน คณะรัฐประหารประกาศว่าจะดำเนินคดีบุคลากรทางการแพทย์ที่ประท้วงหยุดงาน ทำให้ในปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในระบบน้อยมาก แมรี่ คัลลาฮาน (Mary Callahan) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพพม่า เขียนบทความเรื่อง “Everyone is dying : Myanmar on the brink of decimation” หรือ “ทุกคนกำลังจะตาย: เมียนมาบนปากเหวแห่งหายนะ” ลงใน Asia Times เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม คัลลาฮาน
กล่าวว่าพม่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้มากกว่าชาติอื่นๆ เพราะนอกจากจะมีโครงสร้างระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหมือนว่ารัฐบาลทหารจงใจจะฆ่าประชาชให้ตายทางอ้อม โดยการเพิกเฉยไม่จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชน แพทย์และพยาบาลที่ยังนัดหยุดงานอยู่ทำได้เพียงรักษาผู้ป่วยแบบลับๆ ต้องทำงานใต้ดินเพื่อช่วยชีวิตประชาชนให้ได้มากที่สุด ในสภาวะที่พม่าไม่มีทรัพยากรใดๆ ที่จะต่อสู้กับโควิด-19 ได้เลย ภาพผู้คนเข้าแถวยาวนานหลายชั่วโมงเพื่อซื้อถังออกซิเจนไปต่อชีวิตให้คนในครอบครัว และคนที่แห่ไปถอนเงิน เป็นภาพที่เราเห็นมากที่สุดในช่วง 2 เดือนมานี้

คัลลาฮานอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในพม่าว่าประชากรพม่าถึงร้อยละ 50 ในจำนวนประชากรทั้งหมดของพม่าราว 55 ล้านคนจะติดโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้าและอัลฟ่า ในอีกไม่เกิน 3 สัปดาห์ข้างหน้า และยังคาดกันว่าเมื่อวิกฤตโควิดครั้งนี้สงบลง อาจมีชาวพม่าเสียชีวิตไปทั้งหมด 10-15 ล้านคน เมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรทั้งหมดแล้ว พม่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มาตรการที่รัฐบาลทหารงัดมาใช้ คือการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านในยามวิกาล แต่มีประชาชนจำนวนมากที่ยอมละเมิดกฎเพื่อหาถังออกซิเจนให้กับคนในครอบครัว แม้จะรู้ว่าถังออกซิเจนทุกวันนี้หายากยิ่งกว่าเงินทองด้วยซ้ำ ภาพที่เราเห็นเกิดกับอินเดียเมื่อหลายเดือนก่อนกำลังเกิดขึ้นในพม่า แต่ก็ไม่มีมาตรการใดจากภาครัฐที่จะช่วยเหลือหรือบรรเทาความทุกข์ยากนี้ ข้อมูลหนึ่งที่คัลลาฮานนำมาเปิดเผยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เธอกล่าวว่าขณะนี้มีตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุชุด PPE หน้ากากอนามัยทั้งแบบ C95 และ N95 ที่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต้องการมากที่สุด แต่ศุลกากรไม่ยอมปล่อยตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้นออกมา และยังอยู่ในท่าเรือย่างกุ้ง ที่สำคัญในตอนนี้ พม่าไม่มีออกซิเจนเพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ชายแดนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นฝั่งจีน อินเดีย และไทยถูกตรึงแน่นหนาทุกทาง เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็เกรงว่าชาวพม่าจะนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่

วิกฤตด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในพม่าปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพม่าเป็นประเทศยากจน ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการแจกจ่ายวัคซีน COVAX และไม่มีประเทศใดที่กีดกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ มีเพียงคนในกองทัพเท่านั้นที่มีออกซิเจนเพียงพอต่อความต้องการ ผู้เขียนเองก็คิดเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้กองทัพปล่อยปละละเลยไม่ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนอกจากกองทัพต้องการแก้แค้นประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วง กระทำอารยะขัดขืน และมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่หนีเข้าไปในเขตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านรัฐประหาร การตัดสินใจทำรัฐประหารทำให้คณะรัฐประหารตกที่นั่งลำบาก เพราะชาติตะวันตกทั้งหมดต้องการคว่ำบาตรพม่า ส่วนประเทศที่เป็นมิตรกับพม่าและยึดเรื่องการค้ามากกว่าความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือไทย ก็ล้วนเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ย่ำแย่ในประเทศของตนเอง เห็นจะมีก็แต่รัสเซียที่กองทัพพม่าเข้าหาได้อย่างสนิทใจ แต่รัสเซียเองก็ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ นอกจากมอบวัคซีนสปุตนิกให้เพียง 10,000 โดส และก็ไม่มีใครทราบว่าวัคซีนชุดแรกนี้จะถึงพม่าเมื่อไหร่ และจะฉีดให้กับใครเป็นกลุ่มแรก ไม่ต้องเดาก็พอจะรู้ได้ว่าบุคคลกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนที่รัสเซียบริจาคให้พม่าคือคนในกองทัพนั่นเอง

Advertisement

ประเทศที่หลายคนมองว่ามีผลประโยชน์ในพม่ามากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างจีนกลับมีท่าทีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่างจากประเทศอื่นๆ แม้สถานการณ์ภายในประเทศของจีนจะดีขึ้นตามลำดับ จนไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว แต่จีนกลับสร้างกำแพงไฟฟ้ายาวถึง 500 กิโลเมตร เพื่อกั้นชายแดนจีนกับพม่า รัฐบาลจีนยังสั่งปิดด่านชายแดนจีน-พม่าทุกแห่ง มีเพียงพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จีนให้การสนับสนุน เช่น กลุ่มว้าแดง เท่านั้นที่จีนส่งชุดตรวจหาโควิด วัคซีน หรือทีมแพทย์เข้าไปรักษาผู้ติดโควิด-19 วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ทำให้เราเห็นประสิทธิภาพของหน่วยงานระดับนานาชาติในการเข้าไปแก้ปัญหาในพม่า สหประชาชาติและอาเซียนมีหลายหน่วยงานที่เข้าไปทำงานในพม่าโดยตรง

แต่ด้วยปัญหาที่เกี่ยวกับ “อำนาจอธิปไตย” (sovereignty) ทำให้องค์กรระหว่างประเทศไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการทำงานของคณะรัฐประหารพม่าได้ ประชาคมโลกไม่สามารถทำอะไรได้ ที่ผ่านมาแม้เราจะเห็นอกเห็นใจพม่ามากเพียงใด แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดกล้าเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในพม่าแม้แต่หน่วยงานเดียว

ลลิตา หาญวงษ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image