วลาดิมีร์ ปูตินกับการฟื้นฟู อุดมการณ์ใหม่ของรัสเซีย โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

 


ตราแผ่นดินของสหพันธรัฐรัสเซีย 

อุดมการณ์ (Ideology) คือ ความเชื่อทางการเมืองชุดหนึ่งที่ตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิดโดยนำไปใช้ปฏิบัติจริง มีอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมือง ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐ และการให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาล เพราะคนโดยทั่วไปมักจะคิดว่าความเชื่อของตนนั้นถูกต้องแล้ว

ดังนั้นศาสนาจึงเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองชนิดหนึ่งด้วย อุดมการณ์ทางการเมืองจึงมิใช่เป็นเพียงปรัชญาการเมืองเท่านั้นเนื่องจากมีอุดมการณ์แล้วต้องปฏิบัติด้วยไม่ใช่แค่คิด นอกจากนี้อุดมการณ์ทางการเมืองยังสะท้อนสภาพของสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละชุมชนที่นำไปปฏิบัติจริงด้วย นอกจากนี้อุดมการณ์ทางการเมืองยังเป็นความคิดชุดหนึ่งที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหรือการปกป้องโครงสร้างของการเมืองที่มีอยู่ รวมทั้งเรื่องทางการเมืองอื่นๆ อาทิเรื่องการกระจายอำนาจทางการเมือง และมีลักษณะเป็นข้อถกเถียงเชิงบรรทัดฐานที่สนับสนุนโครงสร้างการปฏิรูป หรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเรียกร้องให้มีการกระทำอย่างต่อเนื่อง อุดมการณ์ทางการเมืองมักจะเชื่อมโยงกับกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษเช่นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ สมาชิกกลุ่มศิวะเสนาของอินเดีย เป็นต้น


สีเขียวคือกลุ่มประเทศที่เป็นคริสเตียน ออร์โธดอกซ์ 

ประเทศรัสเซียถูกสถาปนาขึ้นภายหลังการล่มสลายของประเทศสหภาพโซเวียตเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งอุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตคือลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เสื่อมสลายไปพร้อมกับการล่มสลายของประเทศสหภาพโซเวียตเมื่อ พ.ศ.2534 ดังนั้นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในฐานะผู้ครองอำนาจสูงสุดแห่งรัสเซียมาแล้วถึง 16 ปี โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 ครั้งจนปัจจุบันนี้ต้องการที่จะฟื้นฟูอุดมการณ์ใหม่ของรัสเซียซึ่งแสดงออกอย่างชัดแจ้งทางปรากฏการณ์ที่ชาวโลกอาจจะมองข้ามไป คือ การที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้พยายามเดินทางไปยังภูเขาแอทอส ซึ่งเป็นภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของคริสตจักรออร์โธดอกซ์ (The Orthodox Church) บนคาบสมุทรทางตอนเหนือของประเทศกรีซถึง 4 ครั้งด้วยกันนับตั้งแต่เริ่มสหัสวรรษ 2000 นี้ ภูเขาแอทอสนี้เปรียบเสมือนกรุงวาติกันของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั่นเอง

Advertisement

สำหรับคริสตจักรออร์โธดอกซ์ นี้เป็นคริสตจักรที่ใหญ่เป็นอันดับสองในโลกรองจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก คริสตจักรออร์โธดอกซ์ ปฏิบัติตามหลักคำสอนของบรรดาสาวกสายตรงของพระเยซูอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เริ่มมีศาสนาคริสต์ยุคแรก คริสตจักรออร์โธดอกซ์แบ่งเป็นคริสตจักรย่อยๆ แต่ละคริสตจักรมีมุขนายกเป็นของตนเอง ผู้มีหน้าที่เป็นผู้ปกครองของศาสนจักร และสามารถสืบสายกลับไปได้ถึงสาวกสายตรงของพระเยซูคือนักบุญแอนดรูว์เลยทีเดียว


ปูตินขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้แห่งจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ 

ครับ ! อุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ที่ประธานาธิบดีปูตินได้นำกลับมาใช้สำหรับประเทศรัสเซียคือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของจักรวรรดิรัสเซียเมื่อพันกว่าปีมาแล้วแต่ได้ถูกอุดมการณ์ทางการเมืองของลัทธิคอมมิวนิสต์เบียดตกลงไปจากเวทีการเมืองของรัสเซียและการกลับมายึดเอาศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์บวกกับลัทธิชาตินิยมมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทำให้สถานะทางการเมืองของปูตินเข้มแข็งขึ้นเพราะทางฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นถึงอย่างไรก็ต่อต้านการปกครองของปูตินที่มีลักษณะเผด็จการอยู่แล้ว แต่ปูตินก็จะได้การสนับสนุนจากชาวรัสเซียส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์และได้ประมุขและบรรดาพระของคริสตจักรออร์โธดอกซ์ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซียปัจจุบัน

ท่านผู้อ่านที่เคารพหลายท่านคงจะเคยเห็นผ่านตาสัญลักษณ์นกอินทรี 2 หัวซึ่งเป็นตราแผ่นดินของรัสเซีย โดยอินทรีสองหัวซึ่งตราแผ่นดินนี้มีต้นแบบมาจากตราแผ่นดินของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ล่มสลายไปใน พ.ศ.1996 (สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา) ทำให้กษัตริย์อีวานที่ 3 แห่งรัสเซีย ผู้ได้สมรสกับหลานสาวของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ประกาศสถาปนากรุงมอสโกเป็นกรุงโรมที่ 3 สืบเนื่องจากกรุงโรมที่ 1 (ในอิตาลี) กรุงโรมที่ 2 คือกรุงคอนสแตนติโนเปิล (ในจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์) และเริ่มใช้ตราแผ่นดินนกอินทรี 2 หัวของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาเป็นตราแผ่นดินของรัสเซียตั้งแต่นั้นมา

Advertisement

ครั้นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี พ.ศ.2535 ได้มีการฟื้นฟูตราแผ่นดินนกอินทรี 2 หัวนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2543 ได้มีการบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งการนำสัญลักษณ์นกอินทรี 2 หัวกลับมาเป็นตราแผ่นดินของรัสเซียใหม่นั้นเป็นการกระตุ้นความภาคภูมิและความรักชาติให้กับชาวรัสเซียที่ให้ย้อนระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของชาติรัสเซียสมัยพระเจ้าซาร์ที่หลังจากสมัยนโปเลียนแล้วรัสเซียก็เคยได้รับการยกย่องเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image