ผู้นำเสียหน้า โอบามาเสียหลัก โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

ยังไม่ทันที่ first impression ของรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะจางหายไปหลังจากได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาที่สุดจากเจ้าบ้านในการเดินทางไปเยือนตุรกีล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ใครจะเชื่อว่าในอีก 10 วันต่อมา ก็ถึงคิวของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ต้องประสบพบด้วยตนเองในการเดินทางมาร่วมประชุมระดับผู้นำของกลุ่มประเทศ G20 ที่นครหางโจว ประเทศจีน จนปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลกว่า ผู้นำสหรัฐ “เสียหน้า” ไม่ได้รับการต้อนรับด้วย “พรมแดง” อย่างสมเกียรติ

ทันทีที่เครื่องบิน Air Force One แตะถึงพื้นสนามบิน ผู้นำสหรัฐย่อมคาดหวังว่าจะได้รับการต้อนรับจากเจ้าภาพอย่างสมเกียรติและสมบูรณ์แบบตามข้อปฏิบัติทางการทูต และในฐานะผู้นำประเทศมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกเสรี เป็นความประทับใจครั้งสุดท้ายก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมกราคมศกหน้า

แต่สิ่งที่บารัค โอบามา ได้รับกลับกลายเป็นตรงกันข้ามอย่างที่ไม่มีใครจะคาดคิด เมื่อปรากฏว่า ไม่มีการเคลื่อนย้ายบันไดไปเทียบรอตรงประตูขึ้นลงของเครื่องบินประจำตำแหน่งสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อให้ผู้นำผิวสีคนแรกของสหรัฐได้ก้าวลงอย่างสมเกียรติ สุดท้ายจำเป็นต้องใช้ประตูเล็ก (หรือประตูฉุกเฉิน) ก้าวลงสู่แผ่นดินมังกรเอเชียราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

โดยปกติแล้ว ผู้นำสหรัฐจะใช้ประตูทางออกหลักเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประตูเล็กที่อยู่ด้านล่างใช้น้อยครั้งมากๆ ในกรณีที่จำเป็นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้นำเป็นสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ บารัค โอบามา ก็เคยใช้ประตูเล็กเมื่อคราวเดินทางไปอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงไม่จำเป็นต้องมีการต้อนรับด้วย “พรมแดง” (ภาพที่เห็นที่เมืองจีนจึงไม่ใช่ครั้งแรกอย่างที่มีการเข้าใจผิดกัน)

Advertisement

โดยข้อเท็จจริงแล้ว จีนได้ตระเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิท G-20 มานานร่วมสองปี ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในเรื่องระเบียบทางการทูตและความปลอดภัยต้องเนี้ยบสมบูรณ์แบบให้สมกับฐานะ “มังกรแห่งเอเชีย” โดยไม่ยอมปล่อยให้อะไรเกิดขึ้นจนต้องเสียหน้าโดยเด็ดขาด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำสหรัฐในครั้งนี้เกิดคำถามว่า เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนหรือว่าเป็นความตั้งใจของเจ้าภาพที่วางแผนให้เกิดขึ้นจริงๆ?

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ “พรมดำ” ในครั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาเหตุการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องและสามารถเทียบเคียงได้ โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ “พรมดำ” แบบหักหน้าอาคันตุกะยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ อังกฤษและญี่ปุ่นเกิดขึ้นกันถ้วนๆ หน้า

Advertisement

กรณีกับสหราชอาณาจักร เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เดวิด คาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ซึ่งเดิมมีกำหนดการจะเดินทางไปเยือนจีนในเดือนพฤษภาคม 2012 แต่ถูกทางการจีนยกเลิกและแช่แข็งไม่เปิดประตูต้อนรับนานถึง 18 เดือน และเมื่อทางการจีนยินยอมให้เดินทางมาเยือนได้ ก็แจ้งให้อดีตผู้นำแห่งเกาะอังกฤษทราบล่วงหน้าเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น เรียกว่ากระชั้นชิดมากจนตั้งตัวไม่ทันแต่ก็จำยอม

เมื่อเดินทางมาถึงแผ่นดินจีนในเดือนธันวาคม 2013 หลายสิ่งหลายอย่างก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คาดหวัง กำหนดการเดิมๆ หลายๆ อย่างถูกเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายกำหนดการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการโดยผู้นำจีนที่ถือว่าสำคัญมากๆ ก็ถูกยกเลิกโดยกะทันหัน ขณะเดียวกัน สถานที่จัดเลี้ยงอาหารต้อนรับให้แก่บรรดาคณะนักธุรกิจจากเกาะอังกฤษที่ร่วมเดินทางมาด้วยก็ถูกเปลี่ยนแปลงจากกรุงปักกิ่งเป็นนครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงการลดจำนวนแขกรับเชิญแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ว่ากันว่า การที่ผู้นำแห่งเกาะอังกฤษถูกสั่งสอนและลงโทษทางการทูตจนไม่อาจลืมเลือนได้ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปิดประตูพบปะกับ ดาไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบตอย่างโจ่งแจ้งชนิดที่ผู้นำสหรัฐยังไม่กล้าทำ จนสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก

กรณีญี่ปุ่น เกิดขึ้นในการประชุมกลุ่มประเทศ APEC ณ ประเทศจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2014 โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แสดงออกทางภาษากายที่เรียกว่าเย็นชาสุดสุด ต่อการการพบปะ (นอกรอบ)กับนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่จีนเป็นเจ้าภาพและเป็นการพบปะเป็นครั้งแรกของสองผู้นำยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ท่าทีที่แสดงออกซึ่งความไม่ยินดียินร้าย ไม่ต้อนรับ ไม่มีแม้กระทั่งรอยยิ้มใดๆ ให้แก่ผู้นำญี่ปุ่น ย่อมทำให้ผู้นำญี่ปุ่น “เสียหน้า” ในสายตาของชาวโลกอย่างแน่นอน

ว่ากันว่า เรื่องที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับผู้นำจีนมากที่สุด ก็คือประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่อ่อนไหวและยืดเยื้อมานานกว่าสามทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่นายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะกลายเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกในรอบ 7 ปีที่เดินทางไปเคารพดวงวิญญาณของอาชญากรสงคราม (ที่มีส่วนต่อการรุกรานและสังหารชาวจีนจำนวนมากในยุคสงครามโลก) ณ ศาลเจ้ายาสุคินิ ดังนั้น ปฏิบัติการสั่งสอนทางการทูตต่อผู้นำญี่ปุ่นจึงต้องเกิดขึ้นเพื่อให้หลาบจำ

กรณีสหรัฐ เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2012 เมื่อ ฮิลลารี คลินตัน เดินทางมาเยือนจีนเป็นครั้งที่ 5 และถือเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งในอีกห้าเดือนข้างหน้า โดยมีกำหนดการที่จะพบปะรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน แต่สุดท้ายหมายกำหนดการถูกยกเลิกอย่างกะทันหัน โดยทางการจีนอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพของท่านผู้นำคนใหม่ที่กำหนดจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในอีกสองเดือน ถึงแม้กำหนดการพบปะกับผู้นำสิงคโปร์และผู้นำเดนมาร์กของว่าที่ผู้นำจีนคนใหม่จะถูกยกเลิกเช่นกัน แต่ดูเหมือนฝ่ายสหรัฐจะปักใจเชื่อว่าเป็นการยกเลิกแบบมีเจตนาเพื่อ “หักหน้า”

ว่ากันว่า รัฐบาลจีนไม่พึงพอใจบทบาทท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคนนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ การยกเลิกหมายกำหนดการเดิมถูกตีความว่าเป็นบทลงโทษต่อทัศนคติและท่าที “สายเหยี่ยว” ของฮิลลารี คลินตัน ที่มีต่อประเทศจีน

ในความเป็นจริงแล้ว จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม “หน้า” และให้ความสำคัญกับเรื่องการ “รักษาหน้า” เป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็พิสูจน์และพร้อมที่จะทำให้ใครก็ตาม “เสียหน้า” ได้ทุกเมื่อเช่นกัน หากว่ามีความจำเป็น (ที่ต้องการตอบโต้) เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีของผู้นำยักษ์ใหญ่ทั้งสามประเทศ

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงมีเหตุผลและเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ให้เชื่อในระดับหนึ่งว่า การ “ฉีกหน้า” ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้เสื่อมเสียทางการทูต รวมทั้งเหตุการณ์การโต้เถียงอย่างวุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ณ บริเวณจุดต้อนรับผู้นำสหรัฐ จนเกิดเป็นวาทกรรมสนั่นโลกว่า “This is our country! This is our airport!” นั้น เป็นความตั้งใจ(?) ซึ่งอดีตเอกอัครราชทูตเม็กซิกันประจำประเทศจีนดูเหมือนจะสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดนี้ เพราะเชื่อมั่นจากประสบการณ์ทางการทูตกว่าหกปีในช่วงระหว่างปี 2007-2013

ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นในปี 2016 จึงเป็นภาพตรงกันข้ามกับภาพแห่งความประทับใจในอดีตเมื่อคราวที่บารัค โอบามา เดินทางมาเยือนประเทศจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2009 เป็นภาพที่ชาวจีนประทับใจเมื่อได้เห็นผู้นำสหรัฐถือร่มด้วยตนเองท่ามกลางสายฝนขณะก้าวลงบันไดสู่แผ่นดินจีน

ในอนาคต ไม่ว่า ฮิลลารี คลินตัน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ปฏิบัติการ “เอาคืน” ทางการทูต ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทางการจีนต้องเตรียมตั้งรับไว้เลยก็เป็นได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2006 เมื่อรัฐบาลสหรัฐ (เจตนา) จัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่อดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา แทนที่จะเป็นการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการให้สมเกียรติสมฐานะของผู้นำจีนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ น่าเชื่อว่า มูลเหตุจูงใจ (ที่ต้องทำให้ผู้นำสหรัฐขายหน้าในสายตาชาวโลก) มาจากการที่รัฐบาลจีนไม่พึงพอใจสหรัฐเป็นที่สุดและเชื่อว่า “ทำเนียบขาว”อยู่เบื้องหลังหรือเกี่ยวข้องกับการที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะคดีข้อพิพาททะเลจีนใต้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นั่นคือจีนไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด

ดังนั้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนเป็นความโชคร้ายที่ประเด็นเรื่องบันไดโดดเด่นจนบดบังความสำคัญและข้อเท็จจริงอื่นๆ ไปอย่างน่าเสียดาย จนโฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีนต้องแถลงด้วยความเชื่อว่า “เรื่องเล็ก” ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็น “เรื่องใหญ่” โดยใช่เหตุนี้เพราะสื่อตะวันตกที่ขาดความเป็นมืออาชีพใส่สีตีข่าว (เรื่องบันได) จนเกินเหตุ

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ยังมี “พรมแดง” อีกหลายๆ อย่างที่ถูกมองข้ามไม่เป็นที่กล่าวถึงไม่ปรากฏเป็นภาพให้ชาวโลกได้ประจักษ์แจ้ง ว่าอย่างน้อยที่สุดผู้นำสหรัฐได้รับการปฏิบัติทางการทูตเป็นอย่างดีจากเจ้าภาพเหมือนเช่นผู้นำประเทศอื่นๆ ที่เดินทางมาร่วมประชุม G20 ในครั้งนี้ นั่นคือ หนึ่ง มีกองทหารเกียรติยศตั้งแถวต้อนรับ สอง ได้รับมอบช่อดอกไม้จากเด็กหญิงที่รอต้อนรับอยู่ที่ขอบบันได และสาม มีการปูพรมแดงต้อนรับบนพื้นสนามบินจากขอบบันไดไปจนถึงรถลิมูซีนสีดำคันใหญ่ที่จอดรอท่าอยู่ใกล้ๆ เป็นพรมแดงที่มีความหมายเป็น “พรมแดง” ทางการทูตจริงๆ

อย่างน้อยที่สุด การพบปะเป็นครั้งที่ 8 (ซึ่งถือเป็นเลขมงคลของจีน) และครั้งสุดท้ายระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในครั้งนี้ ก็ยังมีร่องรอยแห่งความประทับใจบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการทูตระหว่างสองประเทศไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image