อาการ การเมือง อาการ ‘นักเลือกตั้ง’ พรรค ‘เลือกตั้ง’

ทั้งๆ ที่การแตะของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.เข้าไปยัง “พรรคการเมือง” เป็นไปอย่างแผ่วเบา

นั่นก็คือ ในเรื่อง “รีเซต” จำนวน “สมาชิก”

เหตุใด “ปฏิกิริยา” อันสะท้อนมาจากแต่ละพรรคการเมือง ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา

เอะอะ โวยวาย รุนแรง อย่างยิ่ง

Advertisement

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สมาชิกพรรคคือ “รากฐาน” อย่างแท้จริงของทุกพรรคการเมือง แล้วทำไมแต่ละพรรคการเมืองจึงต้องเดือดร้อนในเรื่องนี้อย่างร้อนรน

แค่เน้นในเรื่อง “ค่าบำรุงพรรค” ก็ค้านว่า “เป็นไปไม่ได้”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หากแต่ละพรรคสามารถระดม “เงินทุน” จากสมาชิกพรรคได้อย่างเป็นก้อนเป็นกำ โอกาสที่พรรคจะถูกยึดหรือเขมือบโดย “ขาใหญ่” ภายในก็เป็นไปได้ยาก

Advertisement

การแตะของ “สปท.” จึงเท่ากับเป็นการแหย่เข้าไปใน “จุดอ่อน”

เป็นจุดอ่อนซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนานของเกือบทุกพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอ้างความเป็น “สถาบัน” เพราะตั้งมาเก่าแก่ยาวนานตั้งแต่เมื่อปี 2489

ทำไม และ อะไร

ระยะแห่งการพัฒนาประชาธิปไตยไทยก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อันถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาชน” จะประกาศและบังคับใช้

มี “วลี” 1 ในทางการเมืองได้รับการเอ่ยถึงอย่างถี่ยิบเป็นพิเศษ

นั่นก็คือ วลีว่าด้วย “นักเลือกตั้ง” อันถือว่าเป็นนักการเมืองพันธุ์ 1 ซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนานนับแต่สังคมประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

ที่เรียกว่า “นักเลือกตั้ง” เพราะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการสร้าง “ชัยชนะ” ให้กับการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นในยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 อันถือว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าต่อจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ล้วนเป็นแหล่งผลิต “นักเลือกตั้ง” ทั้งสิ้น

กำเนิดแห่งพรรคการเมือง คือ แหล่งรวมของ “นักเลือกตั้ง”

นักทฤษฎีลัทธิประชาธิปไตยบางคนจึงเรียกสภาผู้แทนราษฎรของไทยว่าเป็น “สภา” อันเป็นแหล่งรวมของ “นักเลือกตั้ง”

พัฒนาการของพรรคการเมืองจึงเป็นพัฒนาการเพื่อเป้าหมายให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง

มิได้เป็นพรรคการเมืองอันเป็น “พรรคมวลชน” ที่เติบใหญ่เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในทางสังคมอย่างเป็นจริง หากมุ่งเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเป็นสำคัญ พรรคการเมืองเช่นนี้จึงรวมตัวกันอย่างหลวมๆ มิได้มีการจัดตั้งอย่างแข็งแกร่ง

เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นคุณ ไม่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็ยุติบทบาท ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ข้อสังเกตจากกรรมาธิการแห่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยด้านการเมืองต่อรูปแบบและโครงสร้างของพรรคการเมืองจึงถูกต้อง

เพียง “แตะ” เข้าไปเบาๆ แต่ละพรรคก็ดิ้นเร่า ทุรนทุราย

ทั้งๆ ที่หากพิจารณาข้อเสนอในเรื่อง “สมาชิกพรรค” อย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจัง นี่คือช่องทางที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคการเมืองได้อย่างยั่งยืน

ยิ่งสมาชิกพรรคมี “คุณภาพ” ยิ่งทำให้พรรคมี “อนาคต”

ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองอาจมีประโยชน์ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถามว่าเป็นรัฐบาลที่มีอนาคตและแข็งหรือไม่

อาจมิใช่

ดูตัวอย่างชัยชนะของพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548 ดูเถิด ดูตัวอย่างชัยชนะของพรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2550 ดูตัวอย่างชัยชนะของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2554 ดูเถิด

เมื่อประสบกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไปไม่เป็น

เมื่อประสบกับมาตรการ “ชัตดาวน์” อันมาจาก “กปปส.” ก็ไปไม่เป็น

ยิ่งประสบกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยิ่งกลับบ้านไม่ถูก ยิ่งประสบกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งกลับบ้านไม่ถูก

เพราะขาดฐาน “มวลชน” เพราะมิได้เป็น “พรรคมวลชน” อย่างแท้จริง

หากพรรคการเมืองต้องการสร้างความเข้มแข็ง ต้องการพัฒนาพรรคการเมืองอย่างมีอนาคตและยั่งยืน

พรรคการเมืองต้องค่อยๆ แปรเปลี่ยนคุณภาพภายในของตนจากพรรคการเมืองของ “นักเลือกตั้ง” ให้เป็นพรรคที่แนบแน่นอยู่กับประชาชน ให้กลายเป็น “พรรคมวลชน” อย่างเป็นจริง

พรรคมวลชนอาจทำด้วยความยากลำบาก แต่ก็ทรงความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image