ระบาดวิทยา ของการจำกัดเสรีภาพในยุคโควิด

สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องราวของการจำกัดเสรีภาพในประเทศไทยเริ่มยกระดับความเข้มข้นมากขึ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งในชื่อกระทรวงก็ไม่ค่อยได้เกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่ แต่ทำไมยุ่งกับการเมืองเหลือเกิน) เข้ามาเกี่ยวข้องกับการออกมาเตือนดาราต่างๆ ที่เริ่มออกมา call out
วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีน

ในเวลาใกล้ๆ กันก็เกิดการออกไปร้องเรียนและดำเนินคดีกับดาราที่ call out จากทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวนายกรัฐมนตรี และกับนักร้องทางการเมืองอิสระที่โดนกระแสโต้กลับจากสังคม และโดยพรรคหลักของรัฐบาลประกาศตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว

การจำกัดเสรีภาพภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้วยเงื่อนไขสถานการณ์โควิดนั้นมีมาตั้งแต่ระลอกแรก มีการดำเนินคดีเป็นระยะ แต่ยังไม่เข้มข้นและกลายเป็นประเด็นสาธารณะจนกระทั่งระลอกล่าสุด (อาจจะเรียกได้ว่าระลอกสามหรือสี่ แล้วแต่จะนับว่านับจากความรุนแรงของโรค หรือตัวเชื้อไวรัส
สายพันธุ์หลักในแต่ละระลอก)

องค์กร CIVICUS ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมในระดับโลกที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของพลเมืองและประชาสังคมซึ่งเริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ ค.ศ.1993 และมีสำนักงานใหญ่ที่แอฟริกาใต้ ได้รวบรวมสาระสำคัญของสถานการณ์พื้นที่ของพลเมือง (civic space) ไว้ในเอกสารที่ชื่อว่า Covid-19 Brief (May 2021) ที่ชื่อว่า Freedom of Expression and the Covis-19 Pandemic: A Snapshot of Restrictions and Attacks ซึ่งได้ทำการฉายภาพสรุปแบบกระชับใจความว่าด้วยเรื่องการสร้างข้อจำกัด และการโจมตีต่อเสรีภาพในการแสดงออกในห้วงเวลาการระบาดของ Covid-19

Advertisement

ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น บางส่วนน่าสนใจและมีเพิ่มไปจากสถานการณ์โลกกันเลยทีเดียวดังที่จะอภิปรายหลังจากที่จะ “กราบเรียน” นำเสนอภาพรวมของเอกสารชิ้นนี้เสียก่อน

ใช่ว่าองค์กร CIVICUS จะไม่เข้าใจว่าการจำกัดเสรีภาพและสิทธิของประชาชนนั้นจะทำไม่ได้เสียเลย เพราะในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นก็ยินยอมให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ในห้วงเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข แต่กระนั้นก็ตาม ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศนั้นยึดถือร่วมกันนั้นก็มีความชัดเจนว่าการจำกัดสิทธินั้นจะต้องมีความได้สัดส่วน (หมายความว่าไม่ได้มากเกินไปต่อเงื่อนไขต่างๆ) เป็นไปตามความจำเป็น และบังคับใช้อย่างเท่าเทียมไม่เจาะจงใช้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ฉวยเอาโอกาสนี้มาจัดการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเสรีภาพในการแสดงออกนั้นสำคัญต่อสังคมประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนนั้นมีสิทธิที่จะแสวงหา รับรู้ และส่งต่อข้อมูลข่าวสาร

โดยภาพรวมของสถานการณ์การละเมิดเสรีภาพในด้านการแสดงออกในห้วงวิกฤตโควิดนั้น CIVICUS ชี้ว่าในโลกนี้แบ่งออกเป็นสามประเด็นใหญ่ คือ

Advertisement

1.การออก/ใช้กฎหมายเพื่อปิดปากหรือทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นเงียบลง ซึ่งรวมไปถึงการเสนอหรือออกกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ภายใต้คำอธิบายว่าต้องการจัดการกับข่าวปลอม

2.การปิดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงเข้าตรวจสอบหรือสร้างข้อจำกัดกับข่าวที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เป็นพิเศษ หรืออาจจะระงับการเผยแพร่ข่าวสารของบางสำนักข่าวด้วยข้ออ้าง/เงื่อนไขดังกล่าว

3.การข่มขู่ คุกคาม ละเมิด โจมตี ทำร้าย จัดการนักข่าวที่รายงานข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ไล่ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย การคุกคาม การข่มขู่ หรือ
คุมขังตามอำเภอใจ

ในส่วนของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกนั้น CIVICUS ทำการติดตามกรณีการจำกัดเสรีภาพของ 37 ประเทศทั่วโลก ทั่วทุกภูมิภาค และพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ทางองค์กรได้ติดตามตรวจสอบนั้นมีกรณีที่รัฐบาลใช้เงื่อนไข/ข้ออ้างของภัยจากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารมาจำกัดพื้นที่ในการแสดงออกของพลเมือง โดยการออกกฎหมายมาจัดการกับประชาชนของตนเอง โดยระบุไปเลยว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด ไล่ตั้งแต่การออกกฎหมายพิเศษ กฎหมายฉุกเฉิน รวมไปถึงกฎหมายเฉพาะที่ออกมาจัดการการบิดเบือนข่าวสาร ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญ “มากกว่า” การให้หลักประกันว่าประชาชนในประเทศเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และการออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพเหล่านี้มักจะออกมาและบังคับใช้อย่างไม่ได้สัดส่วนกับการยังคงไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศเหล่านั้น ที่จะได้เข้าถึง ได้รับรู้ และส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์ของพวกเขา

ตัวอย่างคือประเทศ บอตสวานา และเอสวาตีนี (สวาซิแลนด์) ใช้กฎหมายเหล่านี้จัดการกับประชาชนของเขา ในบอตสวานาใช้กฎหมายการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งลงโทษการเผยแพร่ข่าวสารที่มีความมุ่งหมายในการหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด หรือที่เกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาล จะมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับหนึ่งหมื่นเหรียญสหรัฐ CIVICUS นับรวมประเทศไทย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ปาเลสไตน์ เซอร์เบีย ทาจิกิสถาน สเปน อาเซอร์ไบจาน โบลิเวีย บลาซิล นิการากัว เอธิโอเปีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอลจีเรีย และฟิลิปปินส์ เข้าสู่กลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วย

โดยมาตรการสำคัญในการจำกัดเสรีภาพนั้นไล่มาตั้งแต่การออกกฎหมายใหม่ การแก้กฎหมายเดิม หรือการนำเอากฎหมายเดิมมาบังคับใช้ภายใต้สถานการณ์โควิด รวมทั้งการจัดเตรียมข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย (หมายถึงยังไม่ได้ออกมาแต่อยู่ในขั้นตอนการเสนอ) และจะพบว่าขอบข่ายของการจำกัดเสรีภาพด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายเหล่านี้มักจะอยู่ภายใต้การกล่าวหาว่าเป็นเรื่องของการบิดเบือนข่าวสาร ข่าวลวง การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และที่สำคัญคือการจัดการกับข้อมูลข่าวสารออนไลน์

ในส่วนของการปิดกั้นและจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร CIVICUS พบว่ามี 28 ประเทศจาก 37 ประเทศที่พวกเขาจับตานั้นเข้าเงื่อนไขนี้ นั่นคือการที่พื้นที่ของพลเมือง (civic space) นั้นถูกปิด ถูกกดปราบ ถูกกีดกั้น หรือถูกบีบให้แคบลง อาทิ จีน เติร์กเมนิสถาน แทนซาเนีย บังกลาเทศ เอลซัลวาดอร์ เวเนซุเอลา ชิลี แอลจีเรีย จอร์แดน โมร็อกโก อิรัก อาเซอร์ไบจาน โรมาเนีย สิงคโปร์ เวียดนาม เซอร์เบีย อังกฤษ กรีซ และบอตสวานา ตั้งแต่การปิดกั้นหมดเลยหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น การปิดการนำเสนอข่าว การปิดสำนักข่าว หรือการออกกฎหมายที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ การปรับสื่อ ปิดสื่อ (ข้อนี้ต่างจากข้อที่แล้ว คือข้อที่แล้วนั้นเน้นไปที่การดำเนินคดีผู้ปล่อยข่าวไม่ให้เข้าถึงประชาชน ข้อนี้คือบีบไม่ให้คนเข้าถึง) ซึ่งเน้นไปที่เรื่องการไม่เปิดข้อมูล หรือห้ามเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิด หรือรวมไปถึงการที่สื่อเสนอข่าวสารที่มองเรื่องโควิดต่างไปจากรัฐบาล เช่น มองว่ารุนแรงแล้ว แต่รัฐบาลมองว่ายังไม่รุนแรง เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการที่รัฐบาลบางรัฐบาลเข้าไปสร้างแรงกดดันให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ความเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาล หรือห้ามให้ข้อมูลกับสื่อ ปิดกั้นการตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องโควิด-19 และการบล็อกข่าวจากต่างประเทศ หรือกระทั่งใช้การโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐในการจัดการกับสื่อต่างๆ ที่ไม่เสนอข่าวในทางเดียวกับรัฐ รวมถึงการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและสถานการณ์โควิดที่ต่างไปจากรัฐบาล หรือรัฐบาลออกคำสั่งให้เอาเนื้อหาบางส่วนที่เคยเผยแพร่นั้นลง

ในด้านของการคุกคามนักข่าว CIVICUS พบสถานการณ์ดังกล่าวถึง 24 กรณี/ประเทศจาก 37 ประเทศที่จับตาดู และพบว่านักข่าวจะโดนเล่นงานในประเทศที่พื้นที่พลเมืองนั้นอยู่ในสถานะที่โดนกีดกั้น (obstructed) และในบางประเทศที่พื้นที่พลเมืองไม่ได้ถูกกีดกั้น ก็เจอกรณีนี้เหมือนกัน ไล่เรียงมาตั้งแต่การบุกเข้าไปจัดการทีมรายงานข่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การที่นักข่าวถูกทำร้ายขณะพยายามสัมภาษณ์ประชาชน การถูกจัดการโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การยึดอุปกรณ์สื่อสาร การรายงานข่าวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของสถานการณ์โควิด แต่รวมไปถึงความเห็นของประชาชน สถานการณ์การกระจาย
อุปกรณ์ในการรักษา รวมทั้งการรายงานข่าวการชุมนุมประท้วงของผู้คนที่ไม่พอใจรัฐบาลในการบริหารสถานการณ์ จนบางสำนักข่าวต้องปิดชื่อ และเอาโลโก้ช่องลงเพื่อความปลอดภัยในการนำเสนอข่าวที่ต่างไปจากรัฐบาล หรือในบางกรณีเช่นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่นก็ไม่ยอมให้นักข่าวเข้าไปรายงานสถานการณ์โควิดในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ รวมทั้งการรายงานสถานการณ์ของคนงานต่างด้าวที่โดนล็อกในพื้นที่ในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ และบางประเทศยังรวมไปถึงการจับกุมคุมขังนักข่าวและทีมข่าวที่เสนอรายงานด้วย

ประเทศที่อยู่ในข่ายของการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งข้างบนนั้นมีตั้งแต่ เซเนกัล โคโซโว กัวเตมาลา เซียราลีโอน ชาด กานา ไลบีเรีย ปารากวัย ทาจิกิสถาน ยูกานดา เนปาล บังกลาเทศ เฮติ เอกวาดอร์ สโลวาเนีย อิตาลี โครเอเชีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา ปานามา ปาเลสไตน์ เนเธอร์แลนด์ บราซิล มาเลเซีย อิหร่าน ชิลี โคลอมเบีย โคโซโว เปรู รวันดา แกมเบีย จีน คาซัคสถาน และจอร์แดน
ในตอนท้ายของรายงานนั้น CIVICUS เสนอว่า การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลนั้นไม่ควรทำเกินหลักการได้สัดส่วน การไม่ใช้เฉพาะเจาะจงกับบางกลุ่ม ใช้ตามความจำเป็น และไม่มีอคติ ต่อเชื้อชาติ เพศ อัตลักษณ์ ภาษา ศาสนา และสังคม รวมทั้งใช้ในเงื่อนเวลาที่จำกัดและมีการตรวจสอบโดยรัฐสภาและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม มีองค์กรที่เป็นกลางในการตรวจสอบ มีกระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ อิงกับหลักการสากล รวมทั้งสร้างหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา

นอกจากนี้จะต้องยกเลิกการบัญญัติข้อกล่าวหาที่มีความคลุมเครือเช่นข่าวสารที่บิดเบือน ในกรณีของโควิด-19 เพราะมักจะมีความคลุมเครือในเรื่องของความครบถ้วนตามเงื่อนไขของกฎหมาย และการได้สัดส่วน นอกจากนี้นักข่าวจะต้องได้รับความคุ้มครอง

ส่วนในกรณีของประเทศไทยนั้น ผมคิดว่ารายงานฉบับนี้ของ CIVICUS นั้นยังมีจุดอ่อนอยู่มาก เพราะไม่เข้าใจสภาวะ/บริบททางการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมในประเทศตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ที่มีความขัดแย้งไม่เฉพาะระหว่างประชาชนกับรัฐบาล แต่ยังมีความขัดแย้งกันเองระหว่างประชาชนด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ได้ยืนตรงข้ามกับประชาชนทุกคน แต่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลและพร้อมเป็นเกราะป้องกันรัฐบาลไม่ว่าความจริงของสถานการณ์จะเป็นเช่นไร และบ่อยครั้งที่รัฐบาลใช้เงื่อนไขดังกล่าวในการดำรงอยู่ และใช้การสนับสนุนดังกล่าวในการเผชิญหน้ากับประชาชน ทั้งที่หากใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมินตัวเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารแล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มเหล่านั้น แถมยังใช้คนหลายคนในกลุ่มเหล่านั้นในการดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้าม

ในอีกส่วนที่สำคัญก็คือในกรณีของประเทศไทยนั้น การเผชิญหน้าทางการเมืองและการลงถนนนั้นไม่ใช่เกิดเฉพาะกับเงื่อนไขการบริหารประเทศผิดพลาดในยุคโควิด แต่เป็นเรื่องของการปิดกั้นทางการเมืองที่ยาวนาน และปัญหาการไม่ยอมรับความชอบธรรมของระบอบการเมืองทั้งระบอบที่เกิดมาก่อนการระบาดของโควิด และเมื่อมีโควิดนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทวีความรุนแรงขึ้นมาเป็นลำดับ และทำให้ความขัดแย้งนั้นจึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ และฝ่ายที่ไม่ยอมรับรัฐบาลและกรอบการเมืองในภาพรวมนั้นก็ได้แนวร่วมมากขึ้น อย่างน้อยในระดับของความไม่พอใจต่อตัวรัฐบาลเอง ดังจะเห็นจากความเข้มข้นของกระแสความไม่พอใจของรัฐบาลในโลกออนไลน์ที่ลุกลามไปถึงการที่ผู้มีอิทธิพลทางสังคมเช่น ดารากลายเป็นแถวหน้าในการแสดงความเห็นมากกว่านักข่าวในกรณีต่างประเทศ และพวกเขาโดนทั้งแรงกดดันทางสังคมให้ออกมาแสดงจุดยืน และพวกที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล หรือ ความกังวลต่อสถานการณ์ที่มักเชื่อมโยงไปถึงการด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล และพวกเขาก็ถูกเตือนโดยรัฐบาล และโดนร้องเรียนจากฝ่ายที่ีสนับสนุนรัฐบาล

สุดท้ายนี้ เรายังมองไม่เห็นว่าวิกฤตการระบาดของโควิดในประเทศไทยจะจบลงเมื่อไหร่ แต่เราเริ่มเห็นความพยายามของรัฐในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและการสร้างความสงบต่อบ้านเมืองเป็นข้อกล่าวหาหลัก แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลก็เผชิญหน้ากับความถดถอยของความชอบธรรมในการปกครองและบริหารประเทศมากขึ้น

ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่ารัฐบาลนี้คงไปก่อนโควิด-19 จบ เพราะสถานการณ์การระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และไวรัสก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ แต่ถามว่าระบอบการเมืองนี้จะเปลี่ยนไหม และรัฐบาลนี้จะกลับมามีอำนาจต่อไหม หากไม่ถูกไล่ลง หรือหมดวาระในปีกว่าๆ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปครับ

ว่าถึงตอนนั้นบ้านเมืองนี้จะเหลืออะไรบ้าง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image