รัฐบาลเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

คำตอบของผมคือ ค่อนไปทางเผด็จการ สิ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือ ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนการปกครองนั้นสลับไปมาระหว่าง (1) รัฐบาลทหารที่ได้อำนาจมาจากการสถาปนาตนเองเป็นองค์อธิปัตย์ โดยทหารได้ใช้อาวุธเข้ายึดและใช้อำนาจรัฐผ่านระบบข้าราชการ จึงอาจเรียกได้ว่า เรามีรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่หลายปีมาก (2) รัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือนที่ได้อำนาจมาจากรัฐสภา แต่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงไม่สามารถรวมตัวกันได้ดีเท่ากับสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง เช่น เมื่อมี ส.ส. ประเภทสองที่มาจากการแต่งตั้ง (กรณีรัฐธรรมนูญ 2475) หรือเมื่อผู้นำทหารมีบารมีมาก (กรณีรัฐธรรมนูญ 2521 หลังสิ้นสุดบทเฉพาะกาล) หรือเมื่อ ส.ว. ที่แต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ (กรณีที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2521 และ 2560 มีผลบังคับใช้) 3) รัฐบาลพลเรือนในระบอบรัฐสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี

องค์กรต่างประเทศ ได้แก่ Freedom House มีเกณฑ์วัดความเป็นประชาธิปไตยจากระดับขั้นความเสรีของประชาชน ข้อค้นพบคือจำนวนการปกครองที่ไม่เสรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับการระบาดของโควิดที่เริ่มในปี 2563 หรือไม่) ดังนี้

ล่าสุด Freedom House ให้คะแนนการปกครองของไทยเท่ากับ 30 คะแนน สำหรับคะแนนเต็ม 100 คะแนน และจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มการปกครองไม่เสรี ผมเดาว่าเขาแบ่งกลุ่มโดยถือเกณฑ์หนึ่งในสามคือ ถ้าคะแนนสูงกว่า 2/3 หรือ 67 คะแนน ถือว่าเสรี ถ้าอยู่ระหว่าง 34 ถึง 66 คะแนนถือว่ากึ่งเสรี แสดงว่าการปกครองของไทยที่ว่าไม่เสรีนั้น อันที่จริงจะว่าคาบเส้นก็พอได้ ถ้ารัฐบาลพยายามอีกสักนิด เอื้ออำนวยต่อเสรีภาพและความเสมอภาคอีกสักหน่อย เช่น จัดให้มีการแจกจ่ายถุงยังชีพให้ถึงมือผู้อดอยากจากการขาดรายได้เพราะโควิดอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น ฯลฯ เราก็จะขึ้นไปอยู่ท้าย ๆ ของกลุ่มกึ่งเสรี แต่ต้องพยายามอีกมากเพื่อเข้าสู่กลุ่มประชาธิปไตยเสรี

Advertisement

ในเมื่อการปกครองไม่เสรีเช่นนี้ ผู้ที่รักประชาธิปไตยควรทำอย่างไร ในเรื่องนี้มีทางเลือกหลายทาง เช่น

1) อยู่เฉย ๆ รออีกจนกว่า ส.ว. (ที่เป็นฐานเสียงให้อดีต คสช.) จะหมดอายุตามวาระ (เข้าใจว่า ส.ว. ชุดนี้จะอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567) หลังจากนั้นการปกครองจะมาอยู่ในระบอบรัฐสภาปกติ เพราะ ส.ว. รุ่นถัดไปไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี (เว้นแต่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอายุบทเฉพาะกาล)

2) รณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี (เรื่องนี้ถูก ส.ว. ปัดตกมาสองครั้งแล้ว)

Advertisement

3) รณรงค์ขับไล่นายกรัฐมนตรี ให้ลาออก (แต่ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ยังต้องพึ่งเสียงจาก ส.ว. ที่รู้คุณผู้ที่แต่งตั้งพวกเขาเข้ามาอยู่ดี)

4) รณรงค์ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมาชิก (สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้งนี้ อาจเริ่มด้วยการมีประชามติเพื่อสถาปนาอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 166 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนู

หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับใหม่บัญญัติว่า นอกเหนือจากดำริของคณะรัฐมนตรีเองแล้ว รัฐสภา (โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาที่ประชุมแยกกันและต่างก็เห็นพ้องกัน) มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 166 ดังกล่าว หรืออีกทางหนึ่งคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกันเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 166

5) มีกลุ่มทหารประชาธิปไตย ที่เห็นว่ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพ แต่ผูกขาดอำนาจ อีกทั้งดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้เกิดผลเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงก่อการรัฐประหารเพื่อนำประเทศเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตย เพื่อที่จะปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของสังคมได้เต็มตามศักยภาพมากขึ้น หากทหารกลุ่มนี้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่จริงแท้ รวมทั้งมีปณิธานการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าของหมู่คณะ ก็อาจเป็นความเป็นไปได้ทางหนึ่ง ตามคติที่ว่า “การเมืองคือศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นไปได้” นั่นเอง

เพื่อเป็นการขยายความในข้อ 5) ข้างต้น ขอยกตัวอย่างของการปฏิวัติดอกคาร์เนชันของประเทศโปรตุเกสมาเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย ทั้งนี้ โดยสรุปความจากบทท้าย ๆ ของหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์โปรตุเกส” ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

โปรตุเกสแม้มีขนาดเล็ก แต่ถือได้ว่าเป็นเจ้าอาณานิคมที่สำคัญประเทศหนึ่ง หลังจากการเสื่อมความนิยมในระบอบกษัตริย์ มีการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐครั้งแรกในปี ค.ศ. 1910 แต่การเมืองขาดเสถียรภาพ ในช่วงเวลา 16 ปีของสาธารณรัฐครั้งแรก มีประธานาธิบดี 8 คนและคณะรัฐมนตรี 43 ชุด มีการวางระเบิดก่อการร้าย 325 ครั้ง

การรัฐประหารที่มีขึ้นสองครั้งซ้อนในปี ค.ศ. 1926 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1911 และได้สถาปนา “ยุคเผด็จการแห่งชาติ” ขึ้น โดยมีนโยบายอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาแต่ไม่มีความประสงค์ชัดเจนในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ ดาวเด่นทางการเมืองของโปรตุเกสยุคนี้มีชื่อว่า โอลิไวรา ซาลาซาร์ เขาจบปริญญาเอกและเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ (แสดงว่านักวิชาการกลายเป็นเผด็จการได้ไม่แพ้กัน) เขาเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในปี ค.ศ. 1928 และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยทำให้งบประมาณเกินดุลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี และสามารถรีดโภคทรัพย์จากอาณานิคมได้ รวมทั้งกีดกันธุรกิจต่างชาติ และขยายการปลูกฝ้ายในแองโกลาและโมซัมบิก พร้อมทั้งกระตุ้นให้มีการอพยพไปยังอาณานิคมแอฟริกาแทนบราซิล เป็นต้น ซาลาซาร์จึงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากนายทุน ชนชั้นกลางและชาวคาทอลิก โดยศัตรูทางการเมืองของเขาคือฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยและฝ่ายสังคมนิยมถูกทำให้อ่อนแอลง เขานำหลักการฟาสซิตม์ของอิตาลีมาใช้กับโปรตุเกสและมีการปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามอย่างหนักภายใต้หลักการ “นวรัฐ” นั่นคือ รัฐเข้มแข็ง ชาติมั่นคงรอบคอบ และสมานฉันท์ มรรควิธีคือ “ครอบครัว ศีลธรรม สหกรณ์”

จากแรงส่งที่เนื่องมาแต่ความสำเร็จและความนิยมของประชาชนในตอนต้น ประกอบกับการมีสารพัดเหลี่ยมคูทางการเมืองเพื่อจัดการกับฝ่ายค้าน ซาลาซาร์จึงสามารถกุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยปราศจากคู่แข่งเป็นเวลา 40 ปี แต่อยู่ ๆ ในปี ค.ศ. 1968 เมื่ออายุ 79 ปี เขานั่งบนเก้าอี้ เก้าอี้เกิดหัก เขาล้มลงหัวกระแทกพื้น เส้นโลหิตในสมองแตก เขาเสียชีวิตในสองปีต่อมา โดยที่ยังเข้าใจว่าตนยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โปรตุเกสเข้าสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทางทหารสูงมาก เพราะต้องส่งกองทัพไปทำสงครามกับกองกำลังปลดแอกอาณานิคม โปรตุเกสส่ง พล.ต. อังตอนียู ดือ สปีโนลาไปเป็นผู้ว่าราชการทหารประจำกินีบิซเซา ทหารปราบปรามขบวนการเอกราชอย่างโหดเหี้ยม เช่น การสังหารหมู่ชาวบ้าน 400 คนที่หมู่บ้านวิริยามา แต่ขบวนการกลับขยายตัวและควบคุมพื้นที่เกือบทั้งหมด ยกเว้นเมืองไม่กี่แห่ง สปีโนลาจึงเสนอให้เจรจากับขบวนการและจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ข้อเสนอของเขาถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้งบประมาณ 40% ในการทำสงครามในแองโกลาและโมซัมบิกโดยไม่เห็นหนทางชัยชนะ สปีโนลาคัดค้านนโยบายนี้และถูกปลดออกจากกองทัพในปี ค.ศ. 1974

มีทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและได้ตั้งองค์กรลับขึ้น มีชื่อว่า “ขบวนการกำลังอาวุธ” หรือ “เอ็มเอฟอา” ผู้มีบทบาทสำคัญมียศพันตรีสองคนและยศร้อยเอกสองคน พวกเขาเคยผ่านประสบการณ์การสู้รบในอาณานิคมมาแล้ว เอ็มเอฟอาเคลื่อนกำลังเข้ายึดอำนาจในคืนวันที่ 24 ถึงเช้าตรู่วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1974 ได้สำเร็จ ต่อมาเอ็มเอฟอาได้สนับสนุน พล.อ. สปีโนลาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรักษาการ ขณะนั้นเป็นฤดูดอกคาร์เนชัน ประชาชนจำนวนมากได้นำดอกคาร์เนชันมามอบให้ทหารที่ทำรัฐประหาร สื่อมวลชนจึงตั้งชื่อการโค่นล้มระบอบเผด็จการในครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติคาร์เนชัน” การทำรัฐประหารของกลุ่มทหารหนุ่มเอ็มเอฟอา ได้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบมา

ประเทศไทยจะก้าวออกจากการปกครองที่ไม่เสรี โดยวิธีใดใน 5 วิธีที่กล่าวถึงข้างต้น หรือจะเป็นวิธีอื่นที่ยังคิดกันไปไม่ถึง ก็ไม่ทราบได้ ผมขอเสนอเพิ่มเติมสักเล็กน้อยว่า 1) ขอให้ช่วยกันคิดยุทธศาสตร์หลักที่ชัดเจนและเป็นระบบ 2) ขอให้ระวังวังวน อย่าให้เป็นเพียงการแทนที่เผด็จการรูปแบบหนึ่งโดยอีกรูปแบบหนึ่ง 3) ขอให้ใช้สันติวิธี หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด การระบาดของโควิดน่าจะช่วยให้เราเห็นความเป็นอนิจจังและความมีค่าของชีวิตที่ต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image