เล่าเรื่องหนัง : Mrs.America ยุคที่ ‘สตรี’ เบ่งบานในภูมิทัศน์สังคม-การเมืองอเมริกา

เล่าเรื่องหนัง : Mrs.America ยุคที่ ‘สตรี’ เบ่งบานในภูมิทัศน์สังคม-การเมืองอเมริกา

มินิซีรีส์ดราม่าการเมืองสุดเข้มข้น “Mrs.America” ที่เล่าเรื่องจริงในยุคที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของเหล่าผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาเกิดการขยับกระเพื่อมและเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษ 70 ด้วยเรื่องจริงในยุคของการผลักดันกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ Equal Rights Amendment หรือร่างกฎหมายอีอาร์เอ (ERA) ที่ผลักดันโดยกลุ่มสตรีนิยม (เฟมินิสต์) จากหลากหลายทั้งในฝั่งการเมือง ตั้งแต่ในทำเนียบขาว รัฐสภา มาจนถึงนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม สื่อสายลิเบอรัล และคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนการเปิดโอกาสในเรื่องเพศทางเลือก ซึ่งเรื่องราวจะเล่ากินเวลากว่า 1 ทศวรรษของการต่อสู้ผลักดันกฎหมายนี้ ขณะเดียวกันก็จะเล่าคู่ขนานถึงการต่อต้านกฎหมายนี้โดยกลุ่มสตรีสายอนุรักษ์ที่ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านชนชั้นกลางที่รวมตัวออกมาเคลื่อนไหว และร่วมถกประเด็นดีเบตกฎหมายอีอาร์เอกันคนละมุมฝั่งความคิด

ซีรีส์เรื่องนี้แม้จะเติมแต่งเรื่องราวบางเรื่องบางตัวละครเพื่อเสริมอรรถรสในการรับชม แต่โดยภาพรวมแก่นหลักอิงอยู่บนพื้นฐานเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ ตัวละครหลักในเรื่องก็มีตัวตนจริง ซึ่งการได้รับชม Mrs.America เสมือนได้ย้อนรอยไปดูการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหญ่ของกลุ่มสตรีในสหรัฐที่ถูกเล่าไว้ใน 9 ตอนจบ

เรื่องราวการผลักดันกฎหมายเสมอภาคทางเพศในสังคมสหรัฐอเมริกา และกินเวลายาวนานหลายปี จุดเริ่มต้นขบวนการนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปลายยุค 60 หลังสงครามเวียดนามและการต่อสู้เรื่องสีผิวที่ก่อให้เกิดขบวนการสิทธิพลเมืองที่เบ่งบาน และขยายประเด็นออกไป หนึ่งในนั้นคือเกิดความเคลื่อนไหวมโหฬารในการรวมกลุ่มสตรีนิยมที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เพื่อเรียกร้องกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ

Advertisement

ความสนุกของมินิซีรีส์ “Mrs.America” คือการจับเอาเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างความพยายามผลักดันกฎหมายอีอาร์เอ ซึ่งโดยมากผู้สนับสนุนก็จะเป็นกลุ่มผู้หญิง นักกิจกรรม นักการเมืองสตรีทั้งในพรรคเดโมแครตและรีพลับลิกัน แต่กลับปรากฏว่ามีกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคัดค้านและหยุดกฎหมายนี้ นำโดยแม่บ้านชนชั้นกลาง “ฟิลลิส ชลาฟลี” ผู้มีตัวตนจริงในการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายนี้ ซึ่งต้องมาประฝีปากและฝีมือกับเหล่าเฟมินิสต์คนดัง และแกนนำขบวนการสตรีในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็น “กลอเรีย สไตเนม” “เชอร์ลีย์ คริสโฮล์ม” “เบลล่า แอ็บซัค” และ “เบ็ตตี้ ฟรีแดน” เป็นต้น

ซีรีส์เล่าแบบให้คนดูได้ทำความเข้าใจ นิสัยใจคอ ทัศนคติ แบ๊กกราวด์ของตัวละครหลักไปทีละตอน เพื่อให้เห็นมิติของสตรีในบริบทต่างๆ และเหตุใดพวกเธอจึงคิดเช่นนั้น อาทิ ในตอนที่เป็นเรื่องราวของ “ฟิลลิส ชลาฟลี” นั้นก็มีมิติที่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นว่าแม่บ้านที่ใฝ่รู้ ฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณไหวพริบ เล่าเรียนมาในระดับที่เป็นนักการเมืองหญิงได้ แต่เชื่อในมุมมองว่า ผู้หญิงทุกคนควรมีความสุข มีชีวิตที่สุขสบาย และภูมิใจในบทบาทแม่บ้านที่มีสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกรอบความคิดที่จำกัดบทบาทผู้หญิงในสังคมและอาชีพการงานอย่างมาก

Advertisement

แต่ด้วยความยึดมั่นของ “ฟิลลิส” ที่แม้จะเป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่เธอรับมือและวางตัว วางกลยุทธ์ต่างๆ ในดงนักการเมือง และแก๊งชายเป็นใหญ่ในฝั่งการเมืองได้ รวมทั้งความสามารถระดับพรสวรรค์ในการพูดโน้มน้าวในที่สาธารณะ ตลอดจนการมีทักษะในการเขียนเพื่อชวนเชื่อต่อต้านกฎหมายอีอาร์เอ แต่เธอก็เลือกวางบทบาทให้ตัวเองในฐานะแม่บ้านชนชั้นกลางที่เชิดชูสถาบันครอบครัว แต่เจือปนความทะเยอทะยานที่จะเข้าสู่วงการการเมือง นั่นทำให้แก่นแท้ของฟิลลิสก็เป็นผู้หญิงแถวหน้าคนหนึ่งในยุคสตรีนิยมเฟื่องฟู แม้จะสวนทางว่าเธอไม่สนับสนุนประเด็นใดๆ ที่มีความเป็นลิเบอรัลจากฝั่งสตรีนิยมเลยก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลสเบี้ยน การทำแท้ง และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าเธอไม่สนับสนุนกฎหมายเสมอภาคทางเพศ ด้วยเธอยังติดอยู่กับกรอบมายาคติชุดเดิมของคำว่า ภรรยา แม่ และครอบครัว ทั้งที่การเคลื่อนไหวเป็นแกนนำคัดค้านกฎหมายอีอาร์เอของ “ฟิลลิส” นั้น นัยหนึ่งก็ถือเป็นการออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงทางการเมืองเช่นกัน แม้เป้าหมายจะแตกต่างกันก็ตาม

เรื่องราวของ “ฟิลลิส ชลาฟลี” ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์นี้ถูกสวมบทบาทอย่างมีอรรถรสตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องที่ชวนน่าเห็นใจ โดยนักแสดงหญิงมากฝีมือ “เคท บลานเซ็ตต์” ที่ให้การแสดงบทบาทหญิงแม่บ้านที่กัดไม่ปล่อยสู้ไม่ถอยในประเด็นที่สวนทางผู้หญิงหมู่มากในสังคม เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวของแม่บ้านชนชั้นกลางบางคน ที่แม้จะเป็นสมาชิกในกลุ่มคัดค้านกฎหมายอีอาร์เอร่วมกับ “ฟิลลิส” แต่ที่สุดด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องการถูกจำกัดชีวิต มีอิสรเสรีภาพเลือกทำตามสิ่งที่คิดที่ชอบ ไม่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันของความเป็นภรรยา แม่ และลูกสาว แต่สามารถเลือกทำตามความต้องการตัวเองได้ ถึงพวกเธอจะไม่เชื่อว่านั่นคือหนึ่งในความเสมอภาคทางเพศ แต่ที่สุดก็จะมีเสียงเรียกร้องจากข้างในออกมาเองไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว

ขณะที่ในฟากของกลุ่มเฟมินิสต์ที่ขนนักแสดงหญิงมากฝีมือหลายคนมารวมตัวกันในบทบาทของขบวนการสตรีนิยมนั้นก็ทำได้ลงตัวมาก และสะท้อนให้เห็นกระบวนการทำงานเบื้องหลัง ความเคลื่อนไหว แรงกดดัน ความพยายามผลักดันประเด็นยากๆ ให้สำเร็จ บนเส้นทางเดียวกันแต่มีทางแยกและความคิดที่แตกแขนงหลากหลาย เราจึงได้เห็นทั้งความสัมพันธ์ที่น่าชื่นชมของพวกเธอพอๆ กับที่เวลากลุ่มนักสตรีนิยมเถียงกันเอาเป็นเอาตายและไม่ลงรอยกันในหลายประเด็น แต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงวิถีทางการแสดงออกในโลกประชาธิปไตย ซึ่งซีรีส์ Mrs.America ก็สะท้อนให้เห็นภาพของขบวนการสตรีนิยมที่บางครั้งก็ผลักแนวร่วมออกจากพวกเธอไปเพียงเพราะให้ความสำคัญกับบางประเด็น และเลือกที่จะเมินเฉยหรือไม่พูดถึงในบางประเด็น รวมทั้งจังหวะก้าวการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองที่ทำให้กฎหมายอีอาร์เอเพื่อความเสมอภาคทางเพศต้องใช้เวลาเดินทางอันยาวนาน

“Mrs.America” จัดเป็นมินิซีรีส์ที่อิงเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองเล่าเรื่องช่วงยุคทองที่สุดของเหล่าสตรีในอเมริกาไม่ว่าจะกลุ่มเฟมินิสต์ ลิเบอรัล และกลุ่มสตรีและแม่บ้านในฝั่งอนุรักษนิยม ท่ามกลางยุคสมัยที่ประเด็นสิทธิพลเมืองถูกพูดอภิปรายและดีเบตกันมากมายในภูมิทัศน์การเมือง-สังคมอเมริกา เป็นสิ่งที่ซีรีส์สรุปไว้ท้ายเรื่องว่าจนถึงวันนี้ขบวนการสิทธิสตรีที่เบ่งบานที่สุดจุดประกายในสังคม ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในห้วงทศวรรษ 70 นั่นเอง

(ภาพประกอบ Youtube Video / BBC / FX)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image