จลาจลในคุกกับภาพสะท้อนรัฐล้มเหลวในพม่า

เรือนจำอินเส่ง (Insein Prison) เป็นเรือนจำขนาดใหญ่ที่สุดในพม่า ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง ไม่ไกลจากสนามบินแห่งชาติย่างกุ้งนัก ในบรรดาเรือนจำทั้ง 36 แห่งทั่วพม่า อินเส่งเป็นเรือนจำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีแผนผังเป็นวงกลมแบบ “พานอปติคอน” (Panopticon) หรือ “สรรพทัศน์” (ขอยืมคำแปล Panopticon นี้จาก รศ.จารุณี วงศ์ละคร) เพื่อที่ผู้คุมจะสามารถควบคุมและเฝ้าระวังนักโทษได้รอบด้าน ตามแนวคิดว่าด้วยสถาปัตยกรรมเรือนจำของเจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ผู้คุมนักโทษอยู่บนหอคอยตรงกลาง มีห้องขังอยู่ล้อมรอบหอคอย ผู้คุมเห็นความเคลื่อนไหวของนักโทษตลอดเวลาในยุคที่โลกยังไม่มีกล้องวงจรปิด นอกจากสถาปัตยกรรมเรือนจำจากยุคอาณานิคมที่อินเส่งจะขึ้นชื่อเป็นพิเศษแล้ว เรือนจำแห่งนี้ยังมีชื่อเสีย(ง)ที่สุดในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักโทษ นักโทษการเมืองคนสำคัญๆ ในพม่าทุกคนล้วนเลยผ่านคุกอินเส่งมาก่อน แม้แต่ออง ซาน ซูจี ก็เคยถูกควบคุมตัวที่นี่ก่อนถูกย้ายไปควบคุมตัวที่บ้านพักของเธอริมทะเลสาบอินยา

เรือนจำในความหมายดั้งเดิมคือที่ที่มีไว้ “ลงโทษ” มากกว่าการ “คุมประพฤติ” และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอาชีพหรือการเปลี่ยนแปลงนักโทษให้กลับไปเป็นประชาชนที่มีคุณภาพหลังถูกปล่อยตัว เพราะสำหรับนักโทษการเมือง พวกเขาไม่ได้กระทำอาชญากรรมอุกอาจเว้นแต่เพียงประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์ของรัฐ ดังนั้น “คุก” ในความหมายของสังคมแบบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างพม่า จึงไม่ต้องการใช้คุกให้เป็นที่ดัดนิสัย แต่กลับเต็มไปด้วยความโหดร้าย การทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต่างจากวิธีการที่มาเฟียใช้ ในยุคอาณานิคม ผู้คุมนักโทษในเรือนจำทั่วพม่าส่วนมากเป็น
ชาวอินเดีย นอกจากรัฐบาลอาณานิคมจะไม่ค่อยชอบลักษณะนิสัยของคนพม่าแล้ว ยังเชื่อด้วยว่าลักษณะท่าทางของผู้คุมจากอินเดียจะทำให้นักโทษพม่าเกรงกลัวได้ วันหนึ่งในฤดูฝนของปี 1930 เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในเรือนจำย่างกุ้ง (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) มีนักโทษพม่า 400 คน ลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้คุมชาวอินเดีย เป็นเหตุให้ผู้คุมเปิดฉากยิงนักโทษ เป็นเหตุให้มีนักโทษเสียชีวิตไป 34 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบ

การประท้วงและการก่อหวอดในเรือนจำพม่าเป็นเหตุที่พบเห็นได้ทั่วไป อาจเป็นเพราะนักโทษส่วนหนึ่งเป็นนักโทษการเมือง ยกเว้นแต่ในเรือนจำอินเส่งที่นักโทษส่วนใหญ่เป็นนักโทษการเมืองชื่อดัง ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม เกิดการจลาจลในเรือนจำอินเส่งอีกครั้ง เป็นครั้งแรกตั้งแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ที่เกิดการประท้วงสเกลใหญ่ภายในเรือนจำ เหตุของการประท้วงมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ย่ำแย่ลง รัฐบาลพม่าไม่มีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในโหมดนัดหยุดงานประท้วงภายใต้แคมเปญอารยะขัดขืน และเนื่องจากที่ผ่านมา แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เป็นเป้าหมายการโจมตีของคณะรัฐประหาร มีการขู่จะทำร้ายร่างกายหรือจะถูกจับกุมหากบุคลากรเหล่านี้ไม่กลับไปทำงานตามเดิม สิ่งที่แพทย์และพยาบาลในพม่าทำในขณะนี้คือการรักษาคนไข้โควิด-19 แบบใต้ดิน เงินค่ารักษาและการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์มาจากเงินบริจาค เป็นการระดมทุนของภาคประชาชนทั้งสิ้น

คงไม่ต้องเดาให้ยากว่าความเป็นอยู่ภายในเรือนจำอินเส่งย่ำแย่แค่ไหน ในสถานการณ์ปกติ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องโทษก็ลำบากอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดโรคระบาดภายในเรือนจำนักโทษส่วนใหญ่ติดโควิด-19 และไม่ได้รับการรักษา ผู้ประท้วงในเรือนจำตะโกนสโลแกนต่อต้านเผด็จการ และสนับสนุนการปฏิวัติของประชาชน มีผู้อัดคลิปการประท้วงในเรือนจำอินเส่งและนำมาเผยแพร่จนกลายเป็นคลิปไวรัลในสื่อโซเชียลมีเดียของพม่า หลังเกิดเหตุการณ์นี้ มีผู้เห็นเหตุการณ์รายงานว่ารถทหารเข้าไปในเรือนจำ หลังจากนี้ไม่มีใครทราบว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น หรือมีนักโทษถูกซ้อมทรมานหรือเสียชีวิตหรือไม่ สมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รายงานว่าการประท้วงของนักโทษในเรือนจำอินเส่งมาจากส่วนของนักโทษหญิง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การประท้วงแพร่ไปทั้งเรือนจำเพราะมีผู้คุมนักโทษจำนวนมากที่เห็นอกเห็นใจนักโทษการเมือง ทั้งเจ้าหน้าที่และนักโทษยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่วนนักโทษที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สถานทูตของหลายประเทศ ได้แก่ สถานทูตอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรป ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อเรียกร้องให้ทางการพม่าแก้ปัญหาภายในเรือนจำโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติกับนักโทษทุกคนอย่างเท่าเทียม

Advertisement
เรือนจำอินเส่ง (ภาพจาก CNN)

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพม่าขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต หลายวันที่ผ่านมามีรายงานเคสใหม่กว่า 2 หมื่นเคส และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 22-16 กรกฎาคม สูงถึง 1,297 ราย ยอดผู้เสียชีวิตในพม่ารวมๆ กันพุ่งไปเกิน 7,500 คนแล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตราววันละ 300 คน ไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขของทางการ เฉพาะผู้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลหรืออยู่ในระบบของรัฐ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตนอกระบบมีเป็นจำนวนมาก ภาคประชาสังคมพม่ารายงานว่าแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตในบ้านของตัวเองราว 1,000 คน เฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ดังนั้น ยอดของทั้งประเทศน่าจะมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน พม่าเพิ่งได้รับบริจาควัคซีนซิโนฟาร์มจากจีนราว 7.3 แสนโดส แต่ทางการจีนบริจาควัคซีนส่วนนี้ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนจีนกับพม่า เพื่อทำให้การค้าระหว่างสองชาติดำเนินต่อไปได้ มีรายงานมาก่อนหน้านี้ว่าทางการจีนเคยนำบุคลากรทางการแพทย์ของตนเข้าไปตรวจและฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในเขตของว้าติดชายแดนจีนมาแล้ว มีรายงานเพิ่มเติมอีกว่ารัฐบาลรัฐประหารเจรจาซื้อวัคซีน 4 ล้านโดส และน่าจะมาถึงภายในเดือนนี้ หรือเดือนสิงหาคม วัคซีน 1 ล้านโดสแรกมาถึงพม่าตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม

การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่ล้มเหลวเป็นภาพสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ หากได้ติดตามข่าวในรอบเดือนจากพม่า ก็คงจะทราบกันว่าสถานการณ์โควิด-19 นั้นวิกฤตอย่างหนัก ไม่ใช่เพราะระบบสาธารณสุขล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่วิกฤตนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมประท้วงรัฐประหารที่ยืดเยื้อ ก่อนหน้านี้กองทัพพม่าประกาศกับชาวโลกไปแล้วว่าต้องการคบหากับเพื่อนแท้เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น การคว่ำบาตรจากทั่วโลกยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านสาธารณสุขแย่ลง ประชาชนทยอยล้มตายเป็นใบไม้ร่วง โดยญาติสนิทมิตรสหายไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีแม้แต่ถังบรรจุออกซิเจนเหลือ สถานการณ์เช่นนี้คงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน

ลลิตา หาญวงษ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image