แผนที่ภาษีในฐานะเครื่องมือบริหารท้องถิ่นยุคใหม่ กรณีศึกษาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

แผนที่ภาษีเป็นเครื่องมือการบริหารของท้องถิ่นมาเป็นเวลานานร่วมยี่สิบปี ขณะนี้อยู่ในการช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ สาเหตุคือกฎหมายใหม่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้เทศบาล อบต. กทม. และเมืองพัทยาต้องปรับปรุงวิธีการบันทึกข้อมูลที่ดินและสิ่งก่อสร้างขนานใหญ่ในทุกๆ เมือง ในโอกาสนี้ขอนำตัวอย่างการจัดทำแผนที่ภาษีในเทศบาลชั้นนำ สะท้อนความก้าวหน้าการพัฒนาข้อมูลสนเทศ แผนที่ภาษีไม่เพียงแต่มีประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารท้องถิ่นเท่านั้น ยังสามารถนำมาขยายองค์ความรู้ได้หลายสาขา ขอนำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในเทศบาลชั้นนำของประเทศให้ความกรุณาทีมวิจัยเข้าถึงฐานข้อมูลโดยมิได้เปิดเผยข้อมูลเป็นรายบุคคล เทศบาลกาฬสินธุ์ดูแลประชาชน 32,521 คนในอาณาเขตความรับผิดชอบ 16.96 ตารางกิโลเมตร มีบุคลากรในสังกัดจำนวน 701 คน (ข้าราชการหรือพนักงาน 250 คน ลูกจ้าง 451 คน ในปี 2563) พื้นที่เมืองจำแนกออกเป็น 7 โซน เพื่อเหตุผลการบริหาร ดูแผนที่เมืองประกอบ

แผนที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แตกต่างจากภาษีดั้งเดิม คือภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ใช้มานานหลายสิบปีจัดเก็บตาม “ค่ารายปี” พูดง่ายๆ คือรายได้ค่าเช่า หรือผลตอบแทนเชิงพาณิชย์จากโรงเรือนและที่ดิน ถ้าหากเจ้าของอยู่เองหรือปล่อยทิ้งร้างไว้ ได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษี ดังนั้น หน่วยงานท้องถิ่นจะให้ความสำคัญกับแปลงที่ดินที่มีโรงเรือนตั้งอยู่ ส่วนแปลงที่ดินอื่นๆ ซึ่งไม่ได้สร้างรายได้ อาจจะไม่ให้ความสนใจหรือสนใจน้อยกว่า แต่ภายใต้ภาษีตัวใหม่-เทศบาลมีหน้าที่บันทึกข้อมูลประเมินราคาที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างหักค่าเสื่อมราคา นำมาเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่จะใช้คำนวณภาษี และต้องรายงานให้เจ้าของทรัพย์สินทราบ (เปิดโอกาสแย้งหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประเมิน) หน่วยงานท้องถิ่นชั้นนำจึงเร่งรัดพัฒนาฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์สมัยใหม่ (โดรน) และพัฒนานักวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีใหม่ ช่วยให้สำรวจการใช้พื้นที่ในเมืองอย่างรวดเร็วแม่นยำ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และอีกหลายหัวเมืองที่ไม่ได้เอ่ยนามได้พัฒนาระบบข้อมูลแผนที่ภาษีที่น่าชื่นชม

แผนที่ภาษีเป็นการบันทึกข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) บันทึกเป็นรายแปลง นอกจากแสดงขนาดพื้นที่ ประเภทการใช้ที่ดิน (เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ฯลฯ) ระบุราคาประเมิน (ราคากลางของกรมธนารักษ์) ยังแสดงข้อมูลสิ่งปลูกสร้าง (วัดขนาดกว้าง ยาว) ปีที่ใช้งาน ค่าเสื่อมราคา ระบุทำเลที่ตั้ง (หมู่บ้านหรือถนน) ซึ่งนำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (land use change) เป็นหัวข้อวิจัยที่หลายศาสตร์สนใจไม่ว่าจะเป็นนักสถาปนิก นักวางผังเมือง นักสังคมศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์เมือง
รูปภาพที่ 1 แสดงข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองกาฬสินธุ์จำแนกตามโซน (7 โซน) ระบุจำนวนแปลงที่ดิน เช่น โซน 4 ประกอบด้วยบ้านเรือน 1641 หลังคาเรือน การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 1,222 ราย ที่ดินการเกษตร 61 แปลง ใช้ที่ดินเพื่อนอเนกประสงค์ 409 ราย แปลงที่ดินเปล่าหรือไม่ใช้ประโยชน์จำนวน 363 ราย ดั้งเดิมมักจะแสดงในรูปตาราง แต่เมื่อแสดงด้วยกราฟแท่งควบคู่กับตารางข้อมูลสถิติยิ่งดี หมายถึงการแปลงข้อมูลให้เป็น graphic information ที่เข้าใจง่ายและจดจำได้ดีกว่า จากรูปภาพนี้ผู้อ่านคงจะตีความหรือจินตนาการได้ว่า โซน 4 โซน 5 ถือเป็นทำเลทองของเมืองกาฬสินธุ์ มีร้านค้าบ้านเรือนอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นพื้นที่ “ทำเงิน” ให้แก่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จากภาษีใหม่ที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สิน

Advertisement

รูปภาพที่ 1 แสดงการกระจายของแปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามโซนและประเภทการใช้ประโยชน์
ดังกล่าวว่า แผนที่ภาษีกำลังอยู่ในขั้นเปลี่ยนผ่าน แต่ทุกวันนี้เชื่อว่ายังไม่สมบูรณ์ 100% อาจจะมีที่ดินตกสำรวจไม่มากก็น้อย หรือยังไม่สำรวจพื้นที่ของส่วนราชการ (ราชการได้รับการยกเว้นแต่พื้นที่บางส่วนที่มีรายได้เชิงพาณิชย์ เช่น ให้ร้านค้าร้านกาแฟเช่า ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน) จะอย่างไรก็ตาม นับว่ามีความก้าวหน้าไปมาก หน่วยงานท้องถิ่นชั้นนำนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการสำรวจ (เท่าที่ทราบคือเทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่) จะยิ่งเป็นการดี-ถ้าหากมีความร่วมมือกันระหว่างเทศบาล อบต.กับสถาบันวิชาการ

รูปภาพที่ 1

ความจริงเป็นโอกาสทองที่นักวิชาการและนักวิจัยจะเรียนรู้เมืองของตนเอง (ถ้าหากได้ทำวิจัยลึก พิจารณาข้อมูลแปลงที่ดินนับหมื่นหน่วยกระจายตามถนน/ซอย) และจะยิ่งดีถ้าระดมนักวิชาหลายศาสตร์มางานร่วมกันเชิงบูรณาการ เช่น สถาปัตย์ นักภูมิศาสตร์ นักรัฐประศาสนศาสตร์ นักการจัดการและนักเศรษฐศาสตร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเมืองในประเทศไทยจะก้าวหน้าอย่างแน่นอน

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

Advertisement

พิชิต รัชตพิบุลภพ

ณัฐพล สร้อยสมุทร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image